‘กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด’ เตรียมยื่นศาลปค.ระงับเหมืองทองคำ จ.เลย 25 พ.ย. 56
‘กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด’ เตรียมยื่นศาลปกครองกลาง สั่ง 4 หน่วยงานรัฐยกเลิกใบประทานบัตร-ใบประกอบโลหกรรม-หนังสือยินยอมใช้ที่ดินสปก. บ.ทุ่งคำ จำกัด 25 พ.ย. 56 หลังพบมลพิษบั่นทอนคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม 6 ชุมชนโดยรอบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ใช้ดุลยพินิจออกใบประทานบัตรอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับสิทธิในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ฉบับเดิม รวมทั้งประทานบัตรฉบับใหม่ และในการออกใบอนุญาตประกอบการโลหกรรม และการต่อใบอนุญาตโลหกรรม ให้แก่บริษัททุ่งคำ รวมถึงการยินยอมให้บริษัททุ่งคำ เข้าใช้ที่ดิน 369 – 3 – 17 ไร่ ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นผลให้บริษัททุ่งคำ ได้รับสิทธิในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ และการประกอบโลหกรรม ตลอดจนใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ตั้งแต่ประมาณปี 2533
ในเวลาต่อมาการประกอบกิจการทั้งหมดของบริษัททุ่งคำก่อให้เกิดปัญหามลพิษ ทำให้ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางน้ำสาธารณะเสื่อมประโยชน์ ทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์อันเป็นสภาพดั้งเดิมของพื้นที่ จนก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านนาหนองบง, บ้านกกสะท้อน, บ้านภูทับฟ้า, บ้านห้วยผุก, บ้านโนนผาพุงพัฒนา และบ้านแก่งหิน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
แต่ผลจากการร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมเป็นระยะเวลากว่า ๖ ปีที่ผ่านมา เพื่อขอให้หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบทำการตรวจสอบ กำกับดูแล และแก้ไขปรับปรุงการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำ ซึ่งมีข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนับสิบครั้งที่พบว่า การประกอบกิจการของบริษัททุ่งคำได้ทำให้สารไซยาไนต์ แคดเมียม สารหนู สารตะกั่ว แมงกานีส ซึ่งเป็นสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
โดยสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ 1. ความเสียหายต่อคุณภาพชีวิต ต่อสุขภาพ ต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียสำหรับน้ำในการอุปโภคและบริโภค 2. ค่าเสียหายต่อพืชผลเกษตรกรรม ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และ 3. ความเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปนเปื้อนสารพิษในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่อาจใช้ประโยชน์ในห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติได้ตามปกติ
แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้ง 4 นอกจากจะเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงเหล่านั้น โดยมิได้ ดูแล กำกับ แก้ไขให้บริษัททุ่งคำปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมถึงไม่เพิกถอนใบประทานบัตร ใบอนุญาตโลหกรรม และยังยินยอมให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งนอกจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังเป็นการละเมิดต่อสิทธิของ ‘ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม’ ในการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของผู้ฟ้องคดีและประชาชนในพื้นที่ อันเป็นสิทธิที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 66 และ 67
ดังนั้น ชาวบ้านจำนวน 322 คน ใน 6 หมู่บ้าน ที่ได้รับความเดือดร้อนจึงรวมตัวในนาม ‘กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด’ เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 9.00 น. โดยขอให้เพิกถอนใบประทานบัตรเลขที่ 26971/15558, 26972/15559, 26968/15574, 26969/15575 และ 26970/15576 ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ที่ 1/2552 และ คำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม คำขอที่ 1/2555 ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รวมทั้งเพิกถอนหนังสือยินยอมให้เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน .