ทปอ.ตั้งคณะทำงานศึกษาเงินกู้ 2 ล้านล้าน เล็งยื่น 7 ข้อเสนอ ส่งถึงรัฐบาล
ทปอ.ตั้งคณะทำงานศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบจากพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ล่าสุดคลอดผลสรุปเบื้องต้นออกมาแล้ว เล็งยื่น 7 ข้อเสนอแนะด้านนักวิชาการ หวั่นสะดุดแม้ผ่านวาระ 3 วุฒิสภา หากมีการยื่นให้ศาลรธน.ตีความทำผิดม. 169 เชื่อต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3- 6 เดือน
ในการประชุมวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2556 เรื่องบัณฑิตไทย คนรุ่นใหม่หัวใจคุณธรรม ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2556
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันแรกมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกเป็น 4 กลุ่ม ที่น่าสนใจหนึ่งในนั้นมีการนำเสนอผลการศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบจากการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติเงินกู้เพื่อการลงทุน (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน) เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับโครงการบัณฑิตไทยไม่โกง โดยมีศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานคณะทำงาน และมีอาจารย์และนักวิชาการจากสถาบันศึกษาต่างๆ ร่วมเป็นคณะทำงานรวมจำนวน 25 คน
ผลการศึกษาเบื้องต้น ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลได้เสนอร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วน ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินภายในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท และให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังบริหารโครงการตามยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ด่านศุลกากร
ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว ก็มีข้อถกเถียงและท้วงติงจากฝ่ายค้าน นักวิชาการในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโครงการที่จำเป็นภายใต้งบประมาณปกติ การกู้เงินส่งผลต่อการชำระหนี้ถึง 50 ปี ความพร้อมของโครงการที่เอกสารแนบท้ายร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว การศึกษาผลกระทบที่เกี่ยวข้อตามกรอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ตามกรอบการลงทุน 4 ปี ซึ่งมากกว่าระยะเวลาการบริหารงานของรัฐบาล
คณะทำงานพบว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศจำเป็นระดับหนึ่ง และควรดำเนินการภายใต้กรอบการศึกษาที่ชัดเจน เชื่อถือได้ และสอดคล้องกับเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามหลายโครงการอยู่ระหว่าง/ยังไม่ได้ศึกษา ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ อีกทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้า ก็ไม่ได้มีบทบาทในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของสินค้า และไม่ควรเป็นบริการสาธารณะที่รัฐต้องอุดหนุนด้านราคาค่าโดยสาร
“ในปี 2556 แม้ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ยังไม่ผ่าน ก็มีการใช้เงินไปบ้างแล้วประมาณ 203 ล้านบาท และนำงบประมาณประจำไปจ้างที่ปรึกษา และดำเนินการบางอย่าง”
ส่วนกรณีที่ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทดังกล่าว ผ่านวุฒิสภาไปแล้วนั้น ผศ.ดร.ประชา กล่าวว่า ข้อท้าทายของรัฐหากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า กระทำผิดมาตรา 169 ว่า เป็นพ.ร.บ.การเงิน ก็จะเป็นปัญหา และอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3- 6 เดือน
ขณะที่ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงเงินลงทุนบัญชีแนบท้ายร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท พบว่า มากกว่าร้อยละ 80 หรือประมาณ 1.659 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนในระบบราง ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)สูงถึง 1.273 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 63.65
และเมื่อพิจารณาสถานภาพทางการเงินของ รฟท.แล้ว ผศ.ดร.ณดา กล่าวว่า รฟท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีสถานการณ์ดำเนินงานในระดับ “วิกฤติ” ตามคำจำกัดความของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดังนั้น ศักยภาพการบริหารและทางการเงินขององค์กรที่รับผิดชอบโครงการนี้ควรได้รับการดูแลก่อนที่จะต้องรับผิดชอบโครงการขนาดใหญ่ ที่มีขนาดการลงทุนสูงเช่นนี้
ทั้งนี้ โดยสรุปจากผลการศึกษาเบื้องต้น คณะทำงานฯ มีข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการโครงการตามแผนลงทุน 7 ประการดังนี้
1.ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นของแต่ละแผนงาน/โครงการสู่สาธารณะ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจ
2.ให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศมากขึ้น (Local Content) รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการลงทุน (Technology Transfer)
3.เปิดโอกาสให้มีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ต้องเชื่อมโยงกับการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจของภาคเอกชน
4.กำหนดรูปแบบการบริหารจัดการขององค์การที่จะมาดำเนินการต่อ เมื่อโครงการแล้วเสร็จอย่างชัดเจน
5.การเตรียมพร้อมบุคลากรด้านเทคนิคและวิศวกรรมเพื่อรองรับการขนส่งระบบรางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
6.เปิดเผยข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีของแต่ละโครงการที่มีความละเอียดและครอบคลุมเพียงพอ สำหรับประเมินในเชิงความปลอดภัยของโครงการ
7.รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในการกำหนดบริการสาธารณะเพื่อให้การอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐมุ่งไปสู่ผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ด้อยโอกาสโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายผู้เข้าร่วมประชุม มีข้อเสนอให้คณะทำงานฯ นำผลการศึกษาดังกล่าวเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อให้มีการยับยั้งช่างใจ โดยเป็นการนำเสนอผ่าน ทปอ.
มาตรา 169 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนเงินงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ความฝันกับความจริง (1) เปิดงานวิจัย กู้ 2 ล้านล้าน โอกาสสำเร็จ หรือต้องถมเงินใส่ทุกปี