เวที ทปอ.ชมเปาะอุดมศึกษาแสดงพลังต้านนิรโทษ ทำสังคมแยกดี-ชั่วได้มากขึ้น
ทปอ.เสวนาอุดมศึกษาไทยกับประชาธิปไตย และการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เห็นตรงกันควรแก้ที่จิตสำนึก เริ่มต้นในรั้วมหาวิทยาลัย เพิ่มในหลักสูตร ชมเปาะการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับเหมาเข่งถือเป็นโอกาสดีที่พลเมืองออกมาแสดงพลัง
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดการประชุมประจำปี 2556 โดยภายในงานมีการเสวนาพิเศษ เรื่อง “อุดมศึกษาไทยกับประชาธิปไตยและการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น” ณ ห้อง Grand Daimond Ballroom อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี โดยมี ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะวานิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมเสวนา
เริ่มต้น ดร.สมคิด กล่าวถึงปรากฎการณ์ที่อธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยออกมารณรงค์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปในทางเดียวกันนั้น เป็นเพราะเราเห็นตรงกันว่า มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น อีกทั้งทาง ทปอ. ก็มีนโยบายส่งเสริมบัณฑิตไทยไม่โกง ให้กับนิสิตนักศึกษาอยู่ ยิ่งเมื่อมีการออกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ขัดแย้งกับสิ่งที่หลายมหาวิทยาลัยสอน จึงเป็นที่มาที่เราจะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้
"การออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งนี้พลังคนบริสุทธิ์ในสังคมที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด กลายเป็นพลังที่สำคัญที่สามารถหยุดการกระทำของรัฐบาลได้ เราไม่ได้ส่งเสริมการทำรัฐประหาร แต่เราพยายามต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งการเคลื่อนไหวก็มองที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมไปถึงการทุจริตในกรณีอื่นๆไม่ว่าจะเป็น โครงการจำนำข้าว พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน โดยจะติดตามและส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาล” อธิการบดี มธ. กล่าว และเชื่อว่า หากประชาชนทุกคนร่วมมือ การต่อต้านคอร์รัปชั่นก็จะประสบความสำเร็จ
ดร.สมคิด กล่าวถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องเริ่มทำความสะอาดตั้งแต่ภายในบ้านในมหาวิทยาลัย ดูว่า มีเจ้าหน้าที่ทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง อาจารย์คัดลอกผลงานวิชาการหรือไม่ นักศึกษาลอกข้อสอบลอกผลงานหรือไม่ รวมถึงไม่ยอมจ่ายคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือไม่ ซึ่งการกวาดล้างในบ้านของตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ
ด้านศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงปัญหาคอร์รัปชั่นเปรียบเสมือน "มะเร็งร้าย" ที่เกาะกินสังคมไทย ที่ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีของประเทศต่ำลง รวมไปถึงความไม่มั่นคงทางการเมือง ขณะที่การแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นต้องดำเนินการปรับแก้ไขโดยเริ่มจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่จะออกไปรับใช้สังคมในอนาคต ให้เป็นคนไม่โกง โดยการปลูกฝังค่านิยมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม รวมไปถึงการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ให้บัณฑิตที่จบไปเป็นทั้งคนเก่งและคนดีของสังคม เพราะเราเชื่อว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่ดีเราต้องแก้ที่จิตสำนึก
ส่วน ดร.กีร์รัตน์ กล่าวว่า สังคมปัจจุบันนี้เป็นโรค “หลักลอย” กล่าวคือการมีความเห็นต่างแง่มุมในเรื่องเดียวกัน ซึ่งโดยส่วนตัวนั้นเห็นว่าหลักที่ออกมาต่างกันนั้นจำเป็นต้องผ่านการคิดพิจารณาอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องเดียวกันบางทีก็รักษาด้วยยาที่ต่างกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เป็นความยากลำบาก จำเป็นที่สถาบันการศึกษาต้องเข้าไปมีส่วนช่วย
อธิการบดีม.วลัยลักษณ์ กล่าวต่อว่า หากมองในภาพรวมของระบบสังคมไทยปัจจุบันนี้มีการชี้นำพฤติกรรมของคนในสังคมให้ขับเคลื่อนไปอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ประชาธิปไตย ระบบทุนนิยมที่เข้ามาพร้อมกับการตลาด และระบบคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นเพราะระบบใหญ่ในสังคมเหล่านี้เกิดอาการรวน และมีข้อบกพร่องจนทำให้พฤติกรรมของสังคมเป็นไปในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะตัวระบบทุนนิยมที่เป็นจุดเริ่มต้นของการคอร์รัปชั่น
“การที่มีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกมาก็ถือได้ว่า เป็นโอกาสที่นักศึกษา บุคลากร ในฐานะพลเมืองได้ออกมาแสดงจุดยืนและทำให้เราสามารถแยกแยะความดีความชั่วได้มากขึ้น เป็นการพลิกวิกฤตประเทศให้เป็นโอกาสในการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับคนในสังคม โดยการป้องกันและสร้างเสริม การเคลื่อนไหวในเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งนี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวครั้งแรกและครั้งสุดท้าย" ดร.กีร์รัตน์ กล่าว และว่า การต่อต้านปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นควรนำเข้าไปอยู่ในบทเรียน อย่างในวิชาพลเมืองที่จัดอยู่ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป รวมถึงการนำไปไว้ในกิจกรรมของมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ การรับน้อง การทำกิจกรรมอาสา เป็นต้น