'กล้านรงค์' ชี้พวกมากลากไป กลายเป็นจุดสะดุดประชาธิปไตย
กล้านรงค์ จันทิก ยันนักการเมืองทุจริตโดยปราศจากการช่วยเหลือจากราชการเป็นไปไม่ได้ ย้ำสื่อต้องให้ข้อมูลประชาชนอย่างถูกต้อง หวั่นเสียงข้างมากตัดสินใจบนพื้นฐานของความไม่รู้ เชื่อพลังนิสิตนักศึกษาไม่หลงระเริงกับการคอรัปชั่น
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดประชุมวิชาการประจำปี 2556 เรื่อง “บัณฑิตไทย คนรุ่นใหม่หัวใจคุณธรรม” ณ ห้อง Grand Daimond Ballroom อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี โดยมี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธาน ทปอ.กล่าวเปิดการประชุม
ทั้งนี้ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “คนรุ่นใหม่หัวใจคุณธรรม” โดย นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ในอดีตบทบาทของนิสิตมีความเข้มแข็งและในยุคต่อๆ มาก็ได้จางลงไปไป จนกระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ การแสดงออกของกลุ่มนิสิต นักศึกษา สถาบันต่างๆ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มเหล่านี้ยังไม่ทอดทิ้งประเทศ ยังยึดมั่นในคุณธรรม และยังเป็นการแสดงถึงความตื่นตัวว่า นักเรียน นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ ประชาชน และข้าราชการยอมรับไม่ได้ต่อการกระทำความผิด จนกระทั่งทำให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมถูก "ดอง" เอาไว้
นายกล้านรงค์ กล่าวถึงผลการจัดอันดับดัชนีความโปร่งใส หรือ CPI (Corruption Perecption Index) ในระดับโลกปี 2555 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้คะแนน 37 จาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 88 จาก 178 ประเทศทั่วโลก ภาพลักษณ์ของการคอรัปชั่นของประเทศไทยหลังปี 2548 เป็นต้นมา คะแนนเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นแนวความคิดของ ทปอ. มองในการแข่งขับระดับภูมิภาคและระดับโลกและต้องการที่จะปลูกจิตสำนึกของบัณฑิตไทยให้มีการปฏิเสธการคอรัปชั่นทุกรูปแบบ
"การที่เรามององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ กับคะแนนการจัดภาพลักษณ์ที่เราได้คะแนน 37 จาก 100 แย่ลงไปจริงหรือไม่" อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว และว่า ยังมีองค์การที่ให้ประเทศไทยคะแนนต่ำสุดเพียง 31 คะแนน นั่นคือ ICRG (Politcal Risk Services International Country Risk) ที่มุ่งเน้นไปที่การคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในระบบการเมือง การเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงในบ้านเมืองเรา เช่น การแต่งตั้งผู้บริหาร นักการเมือง ข้าราชการ อย่างไม่มีความเหมาะสม หรือแม้กระทั่งการเลือกที่รักมักที่ชัง นับเป็นการคอรัปชั่นด้วยเช่นเดียวกัน
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า หากประเทศไทยไม่สามารถที่จะสกัดระบบนี้ให้ออกไปจากผู้บริหารประเทศลงได้ ความโปร่งใสก็จะถูกจำกัดลง พร้อมยกตัวอย่างประเทศที่มีคะแนนดีที่สุดของภาพลักษณ์คอรัปชั่น ได้แก่ นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก และฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมีการให้เสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
นายกล้านรงค์ กล่าวอีกว่า หากมองย้อนมาที่ประชาธิปไตยของประเทศไทย ว่าที่มาของส.ส. หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเหมือนกับคนที่ได้รับการเลือกตั้งในยุโรปหรือไม่ หรือเป็นแบบพวกมากลากไป ซึ่งหากเป็นการกระทำเช่นนั้น ถือเป็นจุดสะดุดของประชาธิปไตย
"จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้เห็นแล้วว่า คำว่า พวกมากลากไปกับเสียงข้างมากนั้นมีความแตกต่างกัน เสียงข้างมากจะต้องคำนึงถึงเสียงข้างน้อย และคำนึงถึงหลักนิติธรรมด้วย"
สำหรับเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น นายกล้านรงค์ กล่าว่า สื่อมีเสรีภาพโดยทางนิตินัย ตามม.45 ม.47 ซึ่งนักการเมืองระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ หรือถือหุ้นได้เลย หากมีการถือหุ้นก็จะถูกตัดสิทธิอย่างเด็ดขาด จึงค่อนข้างทำให้สื่อเสรีภาพเป็นอย่ามาก ซึ่งการจำกัดเสรีภาพของสื่อจะมีเฉพาะช่วงปฏิวัติเท่านั้น
"ในทางพฤตินัย สื่อจำเป็นต้องให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจกับประชาคม ทั้ง ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ สิ่งสำคัญที่สุดหน้าที่ของสื่อคือการทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลอย่างแท้จริง หากประชาชนตัดสินด้วยพื้นฐานจากการรับรู้ข้อมูลอย่างแท้จริงนั่นคือสิ่งที่เรายอมรับได้ แต่การตัดสินด้วยเสียงข้างมากโดยประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลนี่คืออันตรายของระบอบประชาธิปไตย"
อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงสาเหตุของการคอรัปชั่นอีกว่า คือกระแสบริโภคนิยิม และวัตถุนิยม โครงสร้างระบบอุปถัมภ์ โดยประเทศไทยมีสภาพในการแบ่งชนชั้นออกเป็น2กลุ่มคือผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ เป็นสังคมทางดิ่ง นักการเมืองทุจริตโดยให้ข้าราชการช่วยเหลือ ข้าราชการวิ่งไปหานักการเมืองเพราะอยากเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งนักการเมืองจะทุจริตโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากราชการนั้นเป็นไปไม่ได้ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็งเนื่องจากกระบวนการถูกแทรกแซง
"เวลาศาลตัดสินทุกครั้ง องค์กรกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ศาลรัฐธรรมนูญ ตำรวจจะถูกแทรกแซงกดดันจากสังคม โดยไม่มีอะไรปกป้องบุคคลเหล่านี้แล้วจะให้กระบวนการยุติธรรมเข้มแข็งคงจะเป็นเรื่องยากยาก หรือกแม้กระทั่งการแทรกแซงอิทธิพลนักการเมืองถือเป็นสาเหตุหนึ่งของการทุจริต รวมถึงการเบื่อหน่ายและเพิกเฉยของประชาชน"
ช่วงท้ายนายกล้านรงค์ กล่าวถึงผลการสำรวจที่ใช้คำถามที่ชี้นำสังคม ถือเป็นโพลที่อันตรายในการใช้คำถามสมมติโดยใช้คำถามว่า คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ซึ่งนักศึกษาเห็นด้วยถึง 73% จากข้อมูลมิถุนายน 2556
"ผมยังเชื่อมั่นว่าเยาวชนไทยไม่ได้หลงระเริงกับการคอรัปชั่น และไม่เชื่อว่าเยาวชนจะยอมรับการทุจริต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรจะปลูกจิตสำนึกเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ เราไม่เคยหวังพลังจากอะไรทั้งสิ้น พลังที่จะสร้างความถูกต้องคือพลังนิสิตนักศึกษา"
โปสเตอร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับรางวัลชนะเลิศ
โครงการประดวกผลิตและแพร่สื่อประชาสัมพันธ์การณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธณรม
และธรรมาภิบาล บัณฑิตไทยไม่โกง ของสกอ.