ชูชาติ ศรีแสง:ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดี ตามความต้องการทุกคนไม่ได้
“ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษ ผู้กระทำความผิดในทางอาญา ซึ่ง ส.ว.กลุ่มหนึ่งได้ยื่นกล่าวโทษต่อ ป.ป.ช. ให้ทำการไต่สวนแล้ว”
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นส่วนตัวกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า Chuchart Srisaeng
โดยนาย ชูชาติ ระบุว่า ขอสรุปผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและผลตามคำวินิจฉัย สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเพิ่มเติม ดังนี้
1. ร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.เป็นอันตกไป เพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้ายังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อลงพระปรมาภิไธยก็จะนำขึ้นทูลเกล้าไม่ได้ ถ้าทูลเกล้าแล้วก็ต้องขอถอนคืน
2. เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข บทบัญญัติในส่วนนี้ยังเหมือนเดิมคือ ส.ว.มีสองประเภท ทั้งจากการเลือกตั้งและการสรรหา
3. ที่ไม่มีการยุบพรรคเพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา คือ มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นการกระทำของแต่ละบุคคลไม่ใช่ทำของพรรคการเมือง ส.ว.ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วน ส.ส. ก็สังกัดมีหลายพรรค ไม่ใช่พรรคเพื่ิอไทยพรรคเดียว
4. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษ ผู้กระทำความผิดในทางอาญา ซึ่ง ส.ว.กลุ่มหนึ่งได้ยื่นกล่าวโทษต่อ ป.ป.ช. ให้ทำการไต่สวนแล้ว
5. เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงชื่อยื่นถอดถอน ส.ส. 310 คน เพราะกรณีที่ยื่นถอดถอนนั้นเป็นเรื่องของขอถอดถอน ส.ส. ที่ลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
“ขอยืนยันว่า ศาลต้องพิพากษาหรือวินิจคดีตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น จะให้เป็นที่พอใจหรือตามความต้องการของทุกคนไม่ได้ ครับ”