‘วรากรณ์ สามโกเศศ’ จี้ศธ.รับมืออีก 10 ปี ครูเกษียณ 40% เสี่ยงขาดแคลนบุคลากร
‘ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ’ ชี้โครงสร้างการศึกษาไทยล้มเหลว เหตุ 3 ปัจจัย บริหาร-รับผิดชอบ-โทษร.ร. จี้ศธ.เร่งรับมืออีก 10 ปี อัตราครูเกษียณสูงร้อยละ 40 เสี่ยงขาดแคลน ตำหนิมัวเน้นปฏิรูปตำแหน่ง-เงินเดือนเฟ้อ โดยไม่ดูผลงาน
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 โครงการจิตวิญญาณใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด จัดเสวนา ‘กล้าที่จะสอน:จิตวิญญาณใหม่ในครูคนเดิม’ ณ อาคารนวัตกรรม ศ.ดร.สาโรช บัวศรี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
โดยรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาโครงสร้างระบบการศึกษาไทยว่า เกิดจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดราว 3 แสนล้านบาท/ปี จึงถือเป็นประเทศที่มีการจัดสรรงบประมาณให้กับระบบการศึกษามากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แต่เมื่อการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์
ยกตัวอย่าง ไทยมีจำนวนบุคลากรครูประมาณ 4 แสนคน ครูผู้ช่วย 5 แสนคน แต่กลับพบโครงสร้างอายุราชการครูอยู่ในช่วง 50-60 ปี สูงถึงร้อยละ 40 นั่นหมายถึง อีก 10 ปีข้างหน้า ครูจำนวนเกือบครึ่งจะต้องเกษียณอายุราชการ ดังนั้นเมื่อโครงสร้างประสบปัญหาเช่นนี้ จึงกลายเป็นเสียงสะท้อนกลับไปถึงการบริหารจัดการที่ไม่ดีแน่นอน ซึ่งการบรรจุครูประจำการใหม่ก็ต้องใช้ระยะเวลานานมาก เพราะกระทรวงฯ มุ่งเน้นปฏิรูปเฉพาะด้านตำแหน่งและเงินเดือน
2.ความรับผิดรับชอบ โดยปกติหากครูทำงานแล้วไม่เป็นผลดีกับนักเรียน จะต้องไม่ได้ปรับเงินเดือนหรือถูกลงโทษ เมื่อผู้บริหารในโรงเรียนปกครองครูไม่ดีก็ต้องถูกลงโทษ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อนักเรียนมีผลการเรียนอ่อน ครู ผู้บริหาร ตลอดจนผู้บริหารระดับเขตและในกระทรวงฯ ต่างได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน โดยไม่กลับมาดูผลงานของตนเอง จึงถือว่ายังไม่มีความรับผิดรับชอบ
3.ต้องโทษสังคม นักเรียนคนหนึ่งจะมีชีวิตอย่างไรไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงเรียน แต่ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ครู ตลอดจนถึงสังคมด้วย เพราะเมื่อคำนวณระยะเวลาแล้ว พบว่า นักเรียนใช้ช่วงเวลาในโรงเรียนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ขณะที่อีกร้อยละ 85 กลับใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคม ฉะนั้นหากสังคมไทยเข้มแข็งนักเรียนก็จะได้ดี จึงทิ้งไว้เป็นหน้าที่ของครูไม่ได้
“การศึกษาไทยทุกวันนี้เปรียบได้กับประเทศที่พัฒนาและไม่พัฒนา โดยในเมืองใหญ่จะเห็นคุณภาพการศึกษาดี แต่ที่แย่ คือ ได้ละเลยนักเรียนในต่างจังหวัด จึงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไทยอยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้นต้องแก้ไขที่การบริหารจัดการ มิเช่นนั้นจะเป็นปัญหาต่อไปมาก” อธิการบดี มธบ. กล่าว .
ภาพประกอบ:www.manager.co.th