อดีตเลขานุการ คปร. เชื่อยุบสภา ทำบรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น
อดีตเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป เสนอรัฐบาลยุบสภาแสดงความรับผิดชอบ พร้อมสร้าง 5แนวทางแก้ปัญความขัดแย้ง เชื่อ 5 ปีข้างหน้า พรรคการเมืองใดปฏิรูปโครงสร้างพรรคก่อน ได้เปรียบ
จากกรณีเกิดปรากฎการณ์ประชาชนทั่วทุกสารทิศแสดงออกทางการเมืองด้วยการออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งนั้น เมื่อช่วงเย็นวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 มีการจัดเสวนาเล็กๆ ในหัวข้อ “สุดซอย...แล้วไงต่อ” ณ ร้าน Dialogue Coffee and Gallery โดยกลุ่ม Dialogue @Dialogue ราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 1 โดยมี Dialoguer รับเชิญ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อดีตเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และมีกลุ่มนักธุรกิจ วิศวกร นักเคลื่อนไหวทางสังคม ร่วมรับฟัง
ดร.เดชรัต กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลยอมถอยอย่างสุดซอยไปแล้วกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง แต่สิ่งที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางกลุ่มยังคงชุมนุมกันอยู่นั้น เนื่องจากยังไม่ไว้ใจในตัวรัฐบาล เพราะที่ผ่านมารัฐบาลออกมาแถลงหรือชี้แจ้งข้อมูลไม่ครบทั้งหมด ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ประชาชนเริ่มไม่ไว้ใจ และหากรัฐบาลจะยังคงถืออำนาจในการบริหารประเทศต่อไปอย่างอึดอัดคงดูจะลำบากเกินไป
สำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้น อดีตเลขานุการ คปร. กล่าวว่า การยุบสภาน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง ซึ่งในต่างประเทศหากรัฐบาลเสนอกฎหมายจนถูกคว่ำในชั้นวุฒิสภา ถือเป็นการผิดพลาด สิ่งที่เขาแสดงออกอย่างเป็นปกตินั่นคือ การยุบสภาและเป็นการแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่ผิดพลาด
“ความจริงแล้วรัฐบาลเองก็สามารถทำอย่างนั้นได้โดยไม่ต้องมีเสียงเป่านกหวีด ไม่ต้องมีม๊อบ เพราะการที่รัฐบาลยอมถอนก็เป็นการยอมรับว่า ไม่ควรเดินต่อ ซึ่งการยุบสภาถือเป็นการรับผิดชอบระดับหนึ่งและถือเป็นเรื่องปกติสำหรับการเมืองในต่างประเทศในการแสดงความรับผิดชอบ" ดร.เดชรัต กล่าว และว่า แต่ในเมืองไทยการยุบสภาคือการเสียหน้า และเป็นการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ดังนั้นจึงไม่ค่อยอยากยุบสภากัน
อดีตเลขานุการ คปร. กล่าวถึงแนวทางของการคลี่คลายปัญหาในขั้นแรก คือ การยุบสภาอย่างน้อยก็ทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้นเล็กน้อย
เมื่อยุบสภาแล้วจะยังไงต่อ ดร.เดชรัต กล่าวว่า แนวทางที่ 2 อยากให้นักการเมืองบางท่านเว้นวรรคทางการเมือง เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ข้อครหาต่างๆ รวมถึงวาทกรรมเดิมๆ ห่างหายไปสักระยะ พร้อมกับเชื่อว่า ถึงไม่มีบุคคลกลุ่มนี้ประชาธิปไตยก็น่าจะไปต่อได้ "ไม่มีเขาก็ไม่มีปัญหาอะไรและประเทศไทยยังจะเดินไปได้"
แนวทางที่ 3 หลังยุบสภาอาจจะต้องมีการตั้งโจทย์ โดยการเชิญใครสักคนที่ได้รับการยอมรับ หรือเชิญคณะกรรมการปฏิรูปที่ถูกตั้งโดยรัฐบาลทั้ง 2 ชุด มานั่งคุยร่วมกัน ด้วยการตั้งโจทย์สำคัญๆ ให้พรรคการเมืองตอบเพื่อบอกพี่น้องประชาชนแล้วให้เขาตัดสินใจก่อนเลือกตั้ง
"ให้ประชาชนรู้ว่า มีคนตั้งโจทย์ทั้งสองฝ่าย นักการเมืองจะอยากตอบหรือไม่อยากตอบหรือจะเลือกตอบก็ได้เป็นสิทธิของพรรคการเมือง แล้วให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่า การตอบโจทย์แบบไหนที่จะได้รับการยอมรับ" ดร.เดชรัต กล่าว และว่า สุดท้ายแล้วประชาชนจะเลือกแบบไหนจะเป็นสิ่งที่เราทุกคนยอมรับได้
ทั้งนี้ ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า การปฏิรูปการเมืองการตั้งโจทย์เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสุดท้ายยุบสภาไป แต่ไม่มีการตั้งโจทย์ก็อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจะทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ไปไกลกว่าเดิม
แนวทางที่ 4 คือควรมีพรรคการเมืองแบบใหม่ หรืออาจจะเป็นพรรคการเมืองเดิ มแต่โครงสร้างแบบใหม่ คือสมาชิกพรรคมีสิทธิ์โหวตได้ว่าอยากจะให้ใครเป็นหัวหน้า โหวตนโยบายว่า อยากให้พรรคมีนโยบายแบบไหนซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้เลย แทนที่เราจะคอยเชียร์อย่างเดียว แล้วให้คนในพรรคแค่ไม่กี่คนไปนั่งออกนโยบายอะไรมาก็ไม่รู้ และสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคที่ตนเองชอบ
และแนวทางสุดท้ายที่อยากให้เกิดขึ้นหลังยุบสภา คือ การมีพรรคใหม่ๆ โดยการตั้งโจทย์พรรคการเมืองอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องได้มาซึ่งอำนาจรัฐบาล แต่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ โดยพรรคแบบนี้จะมีคนที่มีศักยภาพอยู่ในพรรค มีบทบาทในทางสภา การออกกฎหมาย มีความคิดในการพัฒนาของตนเองโดยที่ไม่ต้องผูกกับพรรค พรรคมีหน้าที่แค่สนับสนุนให้ทำนโยบาย แต่พรรคไม่ต้องไปมีมติว่า คนในพรรคจะต้องทำอะไร เช่น พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน "ต้องคว่ำ" หรือโครงการ3.5แสนล้าน "ต้องผ่าน" ให้ส.ส.ได้ใช้วิจารณาณของเขาเองในการตัดสินใจ
"ถ้ามีส.ส.แบบนี้สัก10คนหรือ20คน น่าจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง" ดร.เดชรัต กล่าว
สำหรับแนวทางทั้ง 5แนวทางนั้น ดร.เดชรัต กล่าวว่า หากสามารถทำควบคู่กันไปได้จะทำให้สังคมมีสติเพิ่มขึ้นมาได้ และอีก 5 ปีข้างหน้าเชื่อว่าถ้าพรรคไหนสามารถจะปฏิรูปโครงสร้างพรรคได้ก่อนพรรคนั้นจะมีความได้เปรียบอย่างแน่นอนเพราะจะทำให้ประชาชนมีสิทธิในโครงสร้างพรรคได้จริง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในวงเสวนามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเป็นกันเอง พร้อมคำถามที่หลายคนสงสัย ไม่เข้าใจกับปัญหาและทางออกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหลังจากนี้ กลุ่มDialogue@ Dialogue จะมีการจัดเสวนาขึ้นในโอกาสต่อไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนที่สนใจเรื่องการเมืองได้มีกลุ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสนอทางออก