‘เดือนเด่น’ เสนอตั้งองค์กรเฝ้าระวังการคลัง คุมรบ.มือเติบ หนี้สาธารณะพุ่ง
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้นโยบายคลังของรบ.มองประโยชน์ระยะสั้น ไม่เอื้อให้เติบโตทางศก.ในอนาคต ชงตั้ง "องค์กรเฝ้าระวังทางการคลังอิสระ" สร้างกฎการคลัง ตรวจสอบการใช้งบของรัฐ วางนโยบายในอนาคต แก้ปัญหาขาดดุลต่อเนื่อง
ในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2556 "โมเดลใหม่ในการพัฒนา สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลผลิต" ที่จัดโดยทีดีอาร์ไอ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอบทความเรื่อง "บทบาทของภาครัฐ ในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินกาคลัง" โดยกล่าวถึงการใช้จ่ายของรัฐ ทั้งในการอุดหนุนการบริโภค อย่างการแจกเช็คช่วยชาติ การแทรกแซงราคาสินค้า อย่างการจำนำข้าว และธงฟ้า และนโยบายประชานิยม อย่างรถคันแรก เป็นการบิดเบือนพฤติกรรม รวมถึงเป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากการลงทุนของเอกชน แต่กลับสร้างการเติบโตน้อยกว่าการลงทุนของเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
"กว่า 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายของรัฐกลับส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น ขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อรายจ่ายประจำของรัฐบาลลดลง ทั้งที่มีเกณฑ์วินัยทางการคลังกำหนดไว้ แต่ก็เป็นเพียงเกณฑ์หลวมๆ ที่รัฐบาลอาจทำตามหรือไม่ก็ได้ จะเห็นว่าที่ผ่านมาเกณฑ์ดังกล่าวมีไว้เพื่อให้เลี่ยง ดังเช่นช่วงนี้รัฐบาลมีการกู้เงินนอกงบประมาณมาใช้จ่ายเพื่อทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง โครงการวางระบบบริหารจัดการน้ำ ที่ออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ และการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้ออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งล้วนมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ"
การที่งบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ดร.เดือนเด่น บอกว่า เรื่องจากนโยบายรัฐบาลมักมองแต่ประโยชน์ในระยะสั้น (Short sightedness) มีปัญหาการแย่งใช้งบประมาณกองกลาง (Common-pool problem) และมักใช้นโยบายการคลังตามดุลยพินิจ มากกว่านโยบายที่ปรับเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตโนมัติ
"การแก้ปัญหาการใช้งบประมาณของภาครัฐ จะต้องสร้างกติกาที่ทำให้เกิดฐานะการคลังที่ดี ได้แก่ มีแผนงบประมาณระยะปานกลาง ออกกฎหมายความรับผิดชอบทางการคลัง เช่นที่ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ทำ สร้างกฎการคลัง (Fiscal Rules) และองค์กรเฝ้าระวังทางการคลังอิสระ (PBO) ซึ่งจะช่วยให้งบประมาณเกินดุลมากขึ้น หนี้สาธารณะลดลง ช่วยคาดการณ์เศรษฐกิจและงบประมาณผิดพลาดจะลงลง แต่ต้องทำงานแบบอิสระจากฝ่ายบริหาร เป็นกลางทางการเมือง ตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐและวางนโยบายทางการคลังในอนาคต เพื่อให้รัฐสภาและประชาชนตรวจสอบการใช้เงินของรัฐบาลได้ และสามารถสร้างฐานะทางการคลังของประเทศให้ดีขึ้น ดังเช่นตัวอย่างในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และออสเตรเลีย"
ดร.เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า การคลังไทยปัจจุบันอาจไม่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต เพราะมีแรงจูงใจให้ขาดดุล ต้องสร้างกติกาที่ทำให้เกิดฐานะการคลังที่ดีเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งองค์กรเฝ้าระวังทางการคลังอิสระ (PBO) ช่วยให้เกิดนโยบายการคลังที่รับผิดชอบได้ โดยรัฐบาลต้องมีความจริงใจและมีความรับผิดชอบ ไม่อย่างนั้นต่อให้มีกฎก็ไม่อาจใช้ได้จริง
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก mthai.com