นักปฏิรูปชี้ทางออกประเทศ ‘ลดอำนาจส่วนกลาง-ให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง’
‘นพ.อำพล จินดาวัฒนะ’ รวมพลนักปฏิรูปเสนอทางรอดประเทศ ‘ลดอำนาจส่วนกลาง-เพิ่มอำนาจท้องถิ่น’ เน้นปชต.ไม่ผูดขาดระบบตัวแทน เสนอจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ ให้ปชช.จัดการตนเอง พร้อมแก้กม.ถือครองที่ดิน 4 ฉบับ หวังสร้างความเป็นธรรมคนจนไร้ที่ดินทำกิน ชี้ขับเคลื่อนอนาคตต้องเฝ้าระวัง-ตรวจสอบ-ไม่ไทยเฉย
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป (สปร.), ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการและอดีตเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.), นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท อดีตกรรมการสมัชชาปฏิรูป, ดร.วณี ปิ่นประทีป ผอ.สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) และนายเตชิต ชาวบางพหรม เครือข่ายคนรุ่นใหม่หัวใจพลเมือง แถลงข่าวข้อเสนอ '4 แนวทางปฏิรูป : ก้าวข้ามมิติความขัดแย้ง ร่วมหาทางออกประเทศไทย' นำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศชาติอย่างยั่งยืน
นพ.อำพล กล่าวว่า สช.ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดตั้งสำนักงานปฏิรูป(สปร.) เพื่อเป็นหน่วยเลขานุการให้กับคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ที่มีนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน เห็นควรนำข้อเสนอที่คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ได้จัดทำไว้เป็นอย่างดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2553-2556) เพื่อเป็นทางออกให้กับสังคมในช่วงเวลาที่ประเทศมีความขัดแย้ง และกำลังเกิดกระแสความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนอย่างกว้างขวาง
โดยข้อเสนอเหล่านี้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกวิชาชีพอย่างรอบด้าน แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้รับการตอบสนองจากภาคการเมืองและสังคมเท่าที่ควร แต่ยืนยันว่าทางออกประเทศไทยที่สำคัญ คือ ต้องปฏิรูป 4 เรื่องใหญ่
ประกอบด้วย 1. อำนาจ เป็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการบริหารประเทศ โดยลดอำนาจส่วนกลางลง คืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง 2. ความยากจน ซึ่งต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 3.พลเมือง ต้องส่งเสริมพลังพลเมืองให้ร่วมเป็นธุระกับเรื่องของบ้านเมือง และ 4. ประชาธิปไตย เป็นการปฏิรูปจิตสำนึกและโครงสร้างประชาธิปไตย ไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจความเป็นตัวแทน แต่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบการใช้อำนาจได้ในทุกระดับ
“ต้นตอของปัญหาประเทศ คือ การบริหารที่รวมศูนย์อำนาจ ขณะที่นักการเมืองต่างเข้ามาแย่งอำนาจ เพื่อรวบอำนาจในการบริหารประเทศ และมักมุ่งไปที่การพัฒนาขนาดใหญ่ ทำให้ทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นถูกแย่งไปใช้ประโยชน์ เพื่อคนที่มีโอกาสมากกว่า” เลขาธิการสช. กล่าว และว่าส่วนชุมชนท้องถิ่นไม่มีอำนาจบริหาร ความรวยจึงกระจุกตัวอยู่กับคนส่วนน้อยในเมือง และความจนกลับกระจายไปทั่ว เราเชื่อว่าการปฏิรูปประเทศต้องเกิดจากภาคประชาชน คนเล็ก คนน้อย ทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ควรพึ่งพาฝ่ายบริหารหรือภาคการเมืองในระบบตัวแทนเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา”
ด้านดร.เดชรัต กล่าวว่า แนวคิด 4 ปฏิรูป คือการรื้อถอนและจัดวางโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นภารกิจที่เร่งด่วน และเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจและความสามารถในการจัดการตนเอง แนวทางนี้ยังเอื้อให้ชุมชนรับมือกับความท้าทายที่ต้องเผชิญ อาทิ การเปิดเสรีการค้า ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และสภาพทรัพยากรธรรมชาติและภูมิอากาศโลก
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เสนอแนวทางที่ทำได้ทันที คือ การกระจายงบประมาณแผ่นดินร้อยละ 5 ลงสู่จังหวัดต่าง ๆ ด้วยการปรับระบบการจัดสรรงบประมาณ ให้กระจายไปยังจังหวัดที่พัฒนาน้อยกว่า หรือมีสัดส่วนความยากจน ให้ได้รับงบประมาณส่วนนี้มากกว่าจังหวัดที่มีรายได้หรือการพัฒนาสูงกว่า จะช่วยให้จังหวัดที่ประชาชนยังอยู่ในฐานะยากจนได้รับงบเพิ่มไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี นำไปพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
นางปรีดา กล่าวว่า ปัจจุบันที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิ์แล้วกว่า 70% อยู่ในมือคนกลุ่มหนึ่งไม่ถึง 6 ล้านคน ขณะที่ประชาชนกว่า 50 ล้านคน ครอบครองที่ดินคนละไม่ถึง 1 ไร่เท่านั้น และมีคนจนถูกจับในคดีที่ดินเกือบ 7,000 คดี ขณะที่นายทุนรุกพื้นที่สาธารณะและเอกชนได้สัมปทานพื้นที่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาจึงมีการยกร่างกฎหมาย 4 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง (4 Laws for the Poors) เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นธรรม แต่ยังไม่มีพรรคการเมือง หรือหน่วยงานใดนำไปดำเนินการ ได้แก่ ร่างพ.รบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, ร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และร่างพ.ร.บ.กองทุน
ดร.วณี กล่าวว่า คสป. มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งในบ้านเมือง การปรับดุลยอำนาจรัฐบาลกลางกับชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาความเข้มแข็งของภาคพลเมือง การปฏิรูปการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
ขณะที่ นายเตชิต กล่าวว่า พลังพลเมืองที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ต้องดำเนินการอย่างน้อย 3 ประการ ประกอบด้วย 1. เฝ้าระวัง ตรวจสอบดูแล ไม่ยอมให้คนใดเข้ามาผูกขาดอำนาจการบริหารบ้านเมืองไว้เฉพาะพวกตน แต่ต้องหาทางเข้าไปมีส่วนร่วมทุกเรื่อง ทุกขั้นตอน ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ 2. ตรวจสอบ โดยไม่ยอมทนเห็นความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม การทุจริต หรือลุแก่อำนาจ พร้อมลุกขึ้นมาตรวจสอบและต่อต้านด้วยสันติวิธี และ 3. ชอบเป็นธุระ พร้อมที่จะเสียสละ เอาธุระในกิจการบ้านเมือง โดยทำตัวเป็น ‘คนไทย-ไม่เฉย’ อีกต่อไป .
ฟังการเเถลงข่าวเพิ่มเติมได้ที่ :http://www.healthstation.in.th/action/music/1303/
ภาพประกอบ:Decharut Sukkumnoed