'หม่อมอุ๋ย' ชี้เงินกู้ 2 ล้านล้าน มีแค่ 1.5 แสนล้านเป็นบวกต่อศก.
หม่อมอุ๋ย วิพากษ์ 2 ล้านล้าน แจงมีโครงการในงบ 1.5 แสนล้านที่ดี เป็นบวกต่อศก. ติงส่วนที่เหลือ 5 แสนล้าน รวมรถไฟด่วนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไม่คุ้มค่าพอ ด้านกูรูเศรษฐกิจ รุมฉะนโยบายประชานิยมฉุดไทยไม่พ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2556 "โมเดลใหม่ในการพัฒนา สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลผลิต" ที่จัดโดยทีดีอาร์ไอ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่วุฒิสภากำลังประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระ 3 อยู่ขณะนี้ว่า หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในปีหน้าด้วย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงโครงการ 2 ล้านล้านต่อว่า มีโครงการในงบ 1.5 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่ดี มีผลบวกต่อเศรษฐกิจ เช่น รถไฟรางคู่ ท่าเรือน้ำลึก รถไฟด่วนกรุงเทพฯ-ระยอง แต่โครงการในส่วนที่เหลืออีก 5 แสนล้านบาท ได้แก่ รถไฟด่วนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หัวหิน ตนไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าพอหรือไม่ เพราะทั้ง 2 เส้นทางไม่ได้มีความต้องการมากพอขนาดนั้น
"ในส่วนของโครงการในงบ 5 แสนล้านบาท ควรศึกษาเพิ่มเติม และหากคัดให้เหลือแต่นโยบายที่เป็นบวกพร้อมๆ กับการเลิกนโยบายประชานิยม เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว และว่า การดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเป็นนโยบายที่ไม่คิดถึงความคุ้มค่า และจะทำให้ฐานะทางการคลังเสื่อมลง
"เห็นได้ชัดว่า รายจ่ายบางอย่างกลับทำให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง เช่น นโยบายรถคันแรก ปีที่แล้วเจริญเติบโตขึ้น แต่ปีนี้ลดลงมาก และลามไปถึงนโยบายอื่นๆ ที่ขาดทุน เช่น นโยบายจำนำข้าว ซึ่งคนที่เป็นรัฐมนตรีคลัง จะต้องเริ่มเข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่แค่สร้างงบประมาณรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรายจ่ายบางอย่างทำให้เศรษฐกิจถดถอยในปีถัดไป และถัดไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าช่วงหลังขาดดุลมาตลอด เพราะขาดดุลด้วยการกระตุ้นรายจ่ายที่มีผลให้เศรษฐกิจไม่โต หากขาดดุลจากการลงทุนด้วยรถไฟรางคู่คงไม่เป็นไร เพราะระยะยาวเป็นบวก จากนี้ขึ้นอยู่อยู่ที่จริยธรรมผู้บริหาร โดยเฉพาะผู้บริหารการคลัง ที่ควรบริหารเพื่อประโยชน์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ"
ประชานิยมฉุดไทยไม่พ้นกับดับประเทศรายได้ปานกลาง
ในเวทีเดียวกัน นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในช่วงการอภิปรายตอนหนึ่งถึงโครงการประชานิยมของรัฐบาลว่า จะทำให้ประเทศติดกับดับของประเทศรายได้ปานกลาง เพราะทำให้ประชาชนไม่สามารถเพิ่มรายได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้ประเทศไม่มีการพัฒนา ซึ่งเห็นได้จากอัตราการว่างงานที่มีเพียงร้อยละ 1 แต่ผลผลิตเติบโตได้เพียง 3-4% ต่อเดือนเท่านั้น
"นโยบายประชานิยมเป็นการเพิ่มการบริโภคของประเทศเพียงระยะสั้น และไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่ใช่คนจนทั้งหมด รัฐบาลควรทบทวนแนวทางการใช้นโยบายประชานิยมใหม่ เพราะปัจจุบันการลงทุนจากต่างชาติลดลง อีกทั้งเคลื่อนย้ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผลจากการปรับค่าจ้างแบบฉับพลัน ทำให้ต้นทุนการผลิต ค่าแรงงานสูงขึ้น ดังนั้น หากไทยยังไม่พัฒนาแรงงาน เชื่อว่าในปีหน้าการส่งออกของไทยจะเติบโตได้ไม่มากนัก"
นโยบายศก.ไทย ต้องเน้นเพิ่มประสิทธิภาพ 3 ด้าน
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และคณะกรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงนโยบายประชานิยมของรัฐบาลว่า เป็นการบิดเบือนกลไกราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น การรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากไทยเคยมีชื่อเสียงเรื่องข้าวคุณภาพดี แต่ระยะหลังคุณภาพข้าวไทยลดลงมาต่อเนื่อง
"เศรษฐกิจไทยควรเป็นนโยบายที่เพิ่มประสิทธิภาพใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น และแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่เข้าไปแทรกแซง หรือควบคุมกลไกราคา ที่จะทำให้คุณภาพสินค้าลดลง 2.สนับสนุนการลงทุน เพื่อให้สังคมเก่งขึ้น มีการพัฒนาความรู้ในการค้าขาย แม้ที่ผ่านมามีการลงทุนไปบ้างแล้ว แต่คุณภาพการผลิตขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เรียกได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ และ 3.เรื่องนวัตกรรม ที่เน้นการออกแบบ และการตลาดที่เป็นหน้าที่ของภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐอาจสนับสนุนให้ทำได้โดยง่าย เช่น การจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา"
ขณะที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอ โมเดลใหม่ในการพัฒนา สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลผลิต โดยชี้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยใช้โมเดลการสร้าวความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงมาหลายทศวรรษ แต่ปัจจุบันการเติบโตด้วยโมเดลเช่นนี้ กำลังเผชิญกับข้อจำกัดชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีแรงงานราคาถูก มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และไม่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีปัญหาความยั่งยืนภายในประเทศ เช่น การกระจายรายได้ และคุณภาพการศึกษา
"ประสบการณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า วิธีเร่งความเจริญทางเศรษฐกิจโดยอาศัยแนวทาง "ประชานิยม" หรือแนวทางการใช้ "สินเชื่อ" นั้นใช้ได้ผลเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ผลจากการใช้วิธีดังกล่าวจะกลายเป็นแรงต้านไม่ให้ประเทศขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ตามศักยภาพ ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีที่เศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลงในปี 2556 นี้"
นายโฆษิต กล่าวต่อว่า นอกจากไทยจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เร่งความเจริญทางเศรษฐกิจผ่านแนวทางประชานิยม และการขยายสินเชื่อเป็นหลักแล้ว ยังจำเป็นต้องมีโมเดลในการพัฒนาทิศทางเช่นที่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรืออิสราเอล ใช้สำเร็จมาแล้วอย่างยั่งยืน ได้แก่ โมเดลที่อาศัยฐาน "ความสามารถในการแข่งขัน" ของประเทศเป็นหลัก
"ประเทศไทยต้องปรับตัวเข้าหาโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ให้การเติบโตแบบมีพลวัตร เป็นธรรมทางสังคม และยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้พ้นจาก "กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง" โดยต้องดำเนินการใน 3 ด้าน คือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทย การสร้างสมดุลตลาดส่งออก การลงทุนในระดับภูมิภาคและการสร้างกำลังซื้อภายในประเทศ รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและกระบวนการปรับค่าตอบแทน ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม"