แก้มลิงหนองเลิงเปือย จ.กาฬสินธุ์ ‘ม.ร.ว.ดิศนัดดา’ เผยงบ 500 ล. แก้ปัญหาน้ำ 100 ปี
จับมือ 8 หน่วยงาน พัฒนา ‘แก้มลิงหนองเลิงเปือย’ จ.กาฬสินธุ์ สนองพระราชดำริฯ ‘ม.ร.ว.ดิศนัดดา’ ชี้แก้น้ำแล้งยาวนาน 100 ปี โดยมีชุมชนเป็นตัวตั้ง-รัฐเป็นตัวเสริม ระบุไทยจัดการน้ำเหลว เหตุ ‘เกาไม่ถูกที่คัน’
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์, กองทัพบก, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ แถลงข่าวดำเนินโครงการ ‘พัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ’ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์
จากปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่อ.ร่องคำ และอ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ประสบปัญหาน้ำแล้ง เนื่องจาก ‘หนองเลิงเปือย’ ซึ่งจัดเป็นแหล่งน้ำสาธารณะมีสภาพตื้นเขินจากตะกอนดินทับถม ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคได้เพียงพอในฤดูแล้ง แต่ในฤดูฝนมีปริมาณน้ำท่าไหลลงหนองตั้งแต่ 8-14 ล้านลบ.ม. เกินความจุหนองน้ำ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปี ดังนั้นราษฎรได้ถวายฎีกาขอพระราชทานโครงการขุดลอกหนองเลิงเปือยและซ่อมแซมฝาย บริเวณต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อหวังแก้ไขปัญหา กระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการดังกล่าวไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในฐานะผู้ประสานความร่วมมือโครงการฯ กล่าวว่า โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยดำเนินตามหลักบูรณาการอย่างแท้จริงของ 7 หน่วยงาน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งรัฐบาล โดยมีภาครัฐเป็นเพียงผู้ส่งเสริมองค์ความรู้ และให้ชุมชนร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่วันแรกของโครงการ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างแท้จริง ที่สำคัญ มองว่าถึงเวลาแล้วจะต้องช่วยกันแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระเจ้าอยู่หัว
“แต่ละปีจะมีตะกอนไหลทับถมในหนองเลิงเปือยปีละ 4 หมื่นลบ.ม. ดังนั้นหากเราขุดตะกอนออก 4 ล้านลบ.ม. จะสามารถแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำได้อีก 100 ปี” ประธานกรรมการฯ ปิดทองหลังพระ กล่าว และว่า “ผมเสียใจมากที่ไทยมีการบริหารจัดการน้ำที่เหลวไหลมากที่สุด ปัญญามีกันทั่วฟ้า แต่ไม่คิดกันอย่างจริงจัง โดยมีชุมชนเป็นตัวตั้ง แต่หากให้คนที่นั่งห้องแอร์ในกรุงเทพฯ สั่งลงไปอย่างเดียว ‘จะเกาถูกที่คันได้อย่างไร’ ”
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวต่อว่า ชุมชนต้องรู้ปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ดีที่สุด ดังนั้นต้องเริ่มจากการมีส่วนร่วมของเจ้าของพื้นที่หรือเจ้าของปัญหา นั่นคือ ‘ชุมชน’ ไม่ใช่ ‘ข้าราชการ’ โดยข้าราชการจะเป็นเพียงผู้ส่งเสริมองค์ความรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น
“โครงการฯ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 500 ล้านบาท โดยคาดว่าชาวบ้านจะได้รับประโยชน์กลับมาภายใน 7 ปี พร้อมมั่นใจว่าจะเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นในประเทศได้ แต่จะต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน เพราะหากชาวบ้านยังแบมือขออยู่ นั่นหมายถึงไม่มีความพร้อมที่จะลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของ” ประธานกรรมการฯ ปิดทองหลังพระ กล่าว และว่า ชนชั้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 (รัฐบาล อธิบดี) ระดับ 2 (ผู้ว่าฯ) ระดับ 3 (ชุมชน) จะต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน โครงการจึงจะขยายไปยังพื้นที่อื่น แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีคนอยากทำ เพราะโครงการเหล่านี้ไม่มีเงินทอน
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯ จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ณ แก้มลิงหนองเลิงเปือย อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ .
ภาพประกอบ:www.manager.co.th