เปิดใจ “วีรชัย พลาศรัย” ย้ำ! ไทยยังไม่ประกาศยอมรับคำพิพากษาศาลโลก
หลังการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี พ.ศ.2505 ของศาลโลกผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นำไปสู่ความสนใจของผู้คนในสังคมไทย ว่าเนื้อหาโดยละเอียดในคำพิพากษาคืออะไร แท้จริงแล้วเราเสียเปรียบหรือได้เปรียบ และ“ภูมะเขือ”ที่ศาลไม่ระบุว่าเป็นของใครในคำพิพากษาครั้งนี้จะเป็นปัญหาพื้นที่พิพาทในอนาคตหรือไม่และเราเสียบางส่วนในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กัมพูชาดังที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่นั้น
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ หัวหน้าทีมทนายของไทยในการสู้คดีปราสาทเขาพระวิหาร กล่าวชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวที่ระหว่างงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง "เบื้องหลังคดีตีความปราสาทพระวิหาร ซึ่งจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยยืนยันว่า ไทยไม่เสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรอย่างแน่นอนและย้ำว่าภูมะเขือเป็นของไทย ทั้งยืนยัน ขณะนี้ ไทยยังคงยึดมติ ครม. ในปี 2505 และรัฐบาลไทย ยังไม่ได้ประกาศยอมรับคำพิพากษาของศาลโลก เพราะอยู่ในระหว่างการศึกษาคำพิพากษาและตีความ “Vinicity” ( พื้นที่โดยรอบปราสาท ) และ “Promontory” ( ยอดเขา ) รวมทั้ง ตีความนัยของทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหารอย่างละเอียด ยืนยันไทยไม่เสียเปรียบ ถือเป็นชัยชนะของไทย ศาลไม่ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาอ้างถึงว่าครอบคลุมพื้นที่ 4.6 ตร.กม.
“ประเด็นที่ 1 เรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรตอนนี้ตกไปเลย เราไม่ต้องเจรจากับเขา เรื่องนี้ไม่ต้องพูดกันแล้วเพราะเส้นที่ทำให้เกิด 4.6 ตารางกิโลเมตรขึ้น เนื่องจากกัมพูชาเขากำหนดตามเส้น 1ต่อ 200,000 เองตามอำเภอใจ ประเด็นที่ 2 ภูมะเขือไม่ใช่ของเขาแน่นอน ไม่สามารถมาเถียงได้อีกแล้ว และประเด็นที่ 3 แผนที่ 1 ต่อ 200,000 จะหยิบยกมาอ้างว่าผูกพันไทยนอกเขต “วินิซิตี้” โดยผลของคำพิพากษาไม่ได้อีกแล้ว 3 ประเด็นนี้ จบ แต่ที่ต้องคุยกันคือ เรื่อง วินีซิตี้ และพรอมอนทอรี่ ประเด็นนี้ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจาโดยสุจริต ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการเจรจา” นายวีรชัยกล่าว และอธิบายถึงคดีนี้ วรรค 98 ของคำพิพากษา ปี 2505 ศาลไม่ได้ตีความเรื่องดินแดน เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยศาลไม่ได้พูดว่าเขตแดน ขณะที่กัมพูชาเห็นว่าวรรค 98 ของคำพิพากษาในปี 2505 เป็นเขตแดน แต่นั่นเป็นความเห็นของกัมพูชาฝ่ายเดียว ในทางปฏิบัติ เราไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรจนกว่าจะมีการเจรจาในเบื้องต้น แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการเจรจาใดๆ เกิดขึ้น
“หากถามว่าผมตีความพรอมอนทอรี่และวินิซิตี้อย่างไร ในความเห็นของผม ต้องกลับไปดูที่หน้า 15 ของคำพิพากษาเดิม ถ้ามองตามนี้ผมถือว่าไทยชนะ เพราะศาลใช้หน้า 15 มานิยามในพื้นที่ใหม่ แม้ครั้งนี้ศาลจะพูดว่า “เป็นพื้นที่เล็ก” แต่ขอย้ำว่าผมไม่เคยพูดนะว่าอะไรที่เราต้องเสียนั้นเล็ก เพราะอะไรที่เราต้องเสียนั้นไม่เคยเล็ก แต่ศาลพูดนะครับ และมันเล็กกว่าที่กัมพูชาอ้าง นี่ยึดตามคำพิพากษาหน้า 15 นั่นแหละ ศาลก็ดูที่หน้า 15 นี้ แต่ศาลใช้คนละส่วนกับที่ผมมอง”
“ศาลพยายามอธิบายบริเวณวินิซิตี้ แต่ผมเห็นว่าวรรคที่2 ของหน้า 15 บริเวณรอบๆ ว่าต้องดูที่สันปันน้ำที่แต่ละฝ่ายอ้างแล้วเอามาทาบกัน ส่วนที่เกินออกมาก็นั่นแหละคือพื้นที่รอบๆ หรือวิซินิตี้ซึ่งมติ ครม. ของเรา ในปี 2505 ก็มีที่ตั้งมาจากบริเวณนี้ แล้วศาลก็ใช้หน้า 15 นี้ แต่ศาลใช้คำว่า พรอมอนทอรี่ นี่แหละคือที่มาของพรอมอนทอรี่ที่ศาลมองที่คำพิพากษาหน้า 15 ในย่อหน้าแรก แต่ผมเห็นย่อหน้าที่สอง คงเพราะท่านเป็นศาล ผมเป็นทนาย แต่ประเด็นนี้ เราชนะเพราะไม่เกินเข้าไปใน 4.6 ตร.กม ดังนั้น พื้นที่ 4.6 ผมยืนยันไม่กลับมาอีก เป็นผีฝังลงหลุม ใครสงสัยว่า หลุมนั้นอยู่ที่ไหน อยู่ที่ หน้า 92-96 ของคำพิพากษา ประโยคสุดท้าย อยู่ที่หน้า 99 คือแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตารางกิโลเมตรที่กัมพูชายึดแต่ฝ่ายเดียว ต้องตกไป เพราะฉนั้น เรื่อง 4.6 ตารางกิโลเมตร ใครมาอ้างว่าเราเสียให้ไปอ่านคำพิพากษาหน้านี้”
แล้ววินิซิตี้หรือพื้นที่รอบๆ ปราสาทนั้น ตีความอย่างไรแน่ นายวีรชัยกล่าวว่านี่นับเป็นประเด็นทางหลักกฎหมายที่น่าสนใจมาก คือการตีความว่าขอบเขตควรจะเป็นแค่ไหน ซึ่งศาลชี้ชัดแล้วว่านี่คือการปลดพื้นที่ในแผนที่ 1 : 200,000 ตร.กม ออกไป ผลอันกว้างก็คือยืนยันว่าคำพิพากษาของศาลยึดตามสิ่งที่มีมาตั้งแต่กฎหมายโรมันโบราณว่าคำพิพากษาจะถูกกำหนดด้วยคำฟ้อง ซึ่งกรณีนี้ กัมพูชาไม่ได้ฟ้องด้วยเขตแดนตั้งแต่แรกแล้ว
“เขาฟ้องเรื่องอธิปไตยเหนือปราสาท และให้เราถอนกำลัง ศาลจะให้เกินที่ขอไม่ได้ ดังนั้น มันก็น่าสงสัยอยู่ว่า ศาลตัดสินเกินไม่ได้ แต่ตอนตีความจะตีความอย่างไร คดีนี้ ก็ชัดว่าศาลตีความเกินคำฟ้องไม่ได้ และหลักการสำคัญก็คือ เรื่องพันธกรณีที่จะต้องถอนทหาร ไทยเราทำแล้วจบไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 นอกจากนี้ในคำพิพากษาของศาลไม่ได้กำหนดเขตแดน ศาลจะตีความเกินที่ขอไม่ได้”
“ส่วนคำว่าพรอมอนทอรี่ บรรพบุรุษเราใช้คำว่า 'ยอดเขา' และผมก็มีแนวโน้มว่าบรรพบุรุษทำอะไรไว้ ผมจะยึดไว้ก่อน แล้วมาพิจารณารายละเอียด ไม่ใช่ว่าคนรุ่นก่อนโง่หรือผิดไปเสียหมด สำหรับพรอมอนทอรี่บรรพบุรุษใช้คำว่ายอดเขา แม้ขอบเขตโดยรอบทั้งหมดนั้น การจะโดนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันต้องใช้ขอบเขตจากทั้ง 3 ทิศ และแผนที่ 1ต่อ 2แสน ของกัมพูชา แต่ไม่มีวันโดน 4.6 นี้แน่นอน คำพรอมอนทอรี่นี้ ผมขอเรียนตรงๆ ว่าผมอ่านได้ 2 แบบ ประการแรก คือ พรอมอนทอรี่ซึ่งตีความได้ว่าพื้นที่นี้ต้องมีทางขึ้นให้กัมพูชา แต่อีกมุมหนึ่งคือไม่มีก็ได้ ประเด็นนี้ต้องเจรจา"
นายวีรชัย อธิบายว่าคำที่ศาลใช้มีความหมายสองอย่างไม่ใช่โรดหรือถนนเท่านั้น แต่มันมีความหมายเป็นรูปธรรมกับนามธรรม
"เป็นทางเข้าก็ได้ นี่คือความหมายแบบรูปธรรม เป็นนามธรรมคือข้อมูลก็ได้ ซึ่งต้องอธิบายว่าไม่ใช่ว่าเราจะให้เขา นะครับ ประเด็นนี้ต้องเจรจา ตอนนี้ ยังไม่ต้องทำอะไรจนกว่าเราจะคุยกัน”
ส่วนพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหาร นายวีรชัยกล่าวว่าสิ่งที่ไทยทำคือการสงวนสิทธิ์ทั้งหมดไว้ โดยทำเป็นพื้นที่ผ่อนปรนมานานแล้ว เพื่อบอกให้กัมพูชารู้ว่าไม่ใช่ที่ของคุณ
“แม้จะมีการเจรจาต่อไปในอนาคต ผมว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ครบถ้วน ไม่ต้องกังวล ตามคำพิพากษานี้ บริเวณรอบๆ อย่างพรอมอนทอรี่ ที่แม้ศาลจะพูดถึงขอบเขตของพรอมอนทอรี่ก็ตาม แต่นี่ไม่ใช่การเจรจาเขตแดน ผมไม่ได้เล่นลิ้น แต่ถ้าบอกตอนนี้อาจทำให้การเจรจาในวันข้างหน้ามันก็ลำบาก ดังนั้น ใครจะคาดเดาก็สามารถคาดเดาได้ แต่ที่ผมบอกได้แน่ๆ ตอนนี้คือไทยเรายังมองเห็นไปที่เส้น มติ ครม.2505 อยู่ แต่เนื่องเราอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ กรณีนี้ ก็ต้องมีการเจรจา เพราะเมื่อเราเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อมีข้อพิพาทด้านเขตแดน ก็ต้องไปเจรจาและหาทางออกร่วมกัน”
สำหรับการตีความคำพิพากษาครั้งนี้ นายวีรชัยกล่าวว่าศาลได้สำแดงการตีความเรื่องบริเวณรอบๆ เขาพระวิหาร ศาลไม่ได้ตีความเรื่องเส้นเขตแดน เมื่อคำพิพากษาไม่ตีความเส้นเขตแดน ทั้งสองฝ่ายจึงต้องไปเจรจากัน ส่วนกรณีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วกัมพูชาจะไปพัฒนาพื้นที่รอบๆ ได้หรือไม่นั้น นายวีรชัยกล่าวว่า
“กรณียึดแนวสันปันน้ำจะอย่างไรก็คือสันปันน้ำ มันมีการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์อยู่ ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงนั้น เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาท คือหากดูจากประเด็นแห่งคดีเดิมที่กำหนดโดยคำฟ้องที่กัมพูชาขอให้ไทยถอนกำลังออกจากปราสาทและสิ่งปรักหักพัง เนื่องจากครั้งนั้น มีการฟ้องให้ไทยถอนกำลังและขอให้ศาลตีความเรื่องอธิปไตย ซึ่งคำพิพากษาปี 2505 บริเวณใกล้เคียงปราสาทเป็นอธิปไตยของกัมพูชาตามคำตัดสิน แต่ไม่ใช่เรื่องเขตแดน ดังนั้น ถ้าทางเข้าอยู่บนดินแดนไทย คราวนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจา เราจะคิดค่าทางผ่าน คิดค่าบำรุงรักษาหรือไม่ ถ้ากรณีที่ทางเข้านั้นอยู่บนดินแดนไทย ก็อยู่ที่การเจรจาของทั้งสองฝ่าย โดยไม่ขัดกับหลักกฎหมาย”
ส่วนประเด็นว่าเราแพ้หรือเสียเปรียบกัมพูชาหรือไม่ นายวีรชัยตอบว่าประชาชนตัดสินได้เอง
“ผมก็ตอบไปแล้ว ว่าประเด็นหลักๆ ที่เราได้คืออะไร ดังนั้น ท่านทำใจได้ มันยังไม่มีอะไรตกเป็นของกัมพูชา ผลของคำพิพากษาคือเจรจาโดยสุจริต ไม่ให้กำหนดเส้นฝ่ายเดียว รอดูหลังเจรจาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้น ตอนนี้ท่านใช้ชีวิตให้สบาย ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
ส่วนคำถามที่ว่าภูมะเขือ ทำไมศาลไม่ระบุไปเลยว่าเป็นของใคร นายวีรชัยตอบว่า ประด็นแห่งคดีนี้ไม่ใช่ว่า ภูมะเขือเป็นของไทยหรือไม่ ประเด็นคือกัมพูชาเขาขอให้ตีความว่าส่วนใดเป็น “บริเวณใกล้เคียงปราสาท” แต่ศาลไม่ตีความว่าบริเวณภูมะเขือนั้นเป็นพื้นที่ใกล้เคียงปราสาท
“แล้วมันจะเป็นของใคร? กลไกของกฎหมาย ทำให้ศาลไม่สามารถชี้ได้ ศาลไม่ได้กั๊ก แต่ศาลไม่มีอำนาจจะชี้ได้ ในวงสังคมสหประชาชาติ ศาลไม่มีอำนาจชี้ประเด็นนี้ ส่วนกัมพูชา เขาไม่มีอะไรจะมาอ้างกับเราได้เลยว่าภูมะเขือเป็นของเขา ถ้าเจรจาแล้วเขาไม่รับว่าภูมะเขือเป็นของเขา ก็หมายความว่าเขาไม่มีเหตุผล แต่ผมยืนยันว่ากลไกนี้ สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ารู้จักใช้”
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถามว่าแผนที่ L7018 ของกรมแผนที่ทหารที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบุว่าภูมะเขือเป็นของไทย แต่แผนที่ก็ระบุว่าไม่สามารถใช้อ้างเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ อีกทั้งศาลโลกไม่ระบุชัดว่าภูมะเขือเป็นของใคร ประเด็นนี้จะนำไปสู่การเป็นพื้นที่พิพาทในอนาคตหรือไม่ นายวีรชัยตอบว่า
“ถ้าจะมีปัญหาอะไรก็ไม่ได้เกิดจากแผนที่นี้แน่นอนครับ ยืนยันว่าไม่กระทบแน่นอน เพราะแผนที่ทุกระวางเราเขียนแบบนี้อยู่แล้ว เรื่องเขตแดนเรามีหลักฐาน” นายวีรชัยระบุ ก่อนย้ำว่าข้อเท็จจริงตอนนี้คือรัฐบาลยังไม่ได้บอกว่ารับหรือไม่รับคำตัดสินของศาลโลก
“ผมเองก็ไม่เคยบอกว่าผมรับหรือไม่รับคำตัดสินของศาลโลก คำว่ารับแปลว่าอะไรผมก็ไม่ทราบ แต่ตอนนี้เรายังไม่พูดอะไร เราบอกว่าเรากำลังศึกษาคำพิพากษา” นายวีรชัย ระบุ…