คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม: ตามกระแสหรือปกป้องความถูกต้อง?
“อย่าไปทำตามกระแส” “คงอยากเด่นอยากดังมั้ง” “เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ต้องปล่อยให้ระบบรัฐสภาแก้ปัญหาเอง ไม่ควรไปชุมนุม” “ไม่ควรแสดงออกมากขนาดนี้ เดี๋ยวจะมีปัญหากับตัวเองนะ” “ทำไมเปิดตัวเลือกข้างชัดเจน ไม่กลัวหรอ” “เลือกข้างหรอคะ”
ประโยคเหล่านี้ได้มีการกล่าวถึงและพูดคุยกันบ่อยขึ้นในสังคมไทยวันนี้ โดยสังเกตได้จากคนสนิทใกล้ตัวในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ในพื้นที่สาธารณะที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็มีการกล่าวขานกันอย่างกว้างขวาง คำถามที่ต้องขบคิดกันคือ ทำไมสังคมจึงมีการพูดคุยหรือถกเถียงกันมากถึงการแสดงออกต่อการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ว่าเป็นการทำตามกระแสสังคมหรือทำเพื่อปกป้องความถูกต้อง?
หลักใหญ่ใจความ
ย้อนกลับไปทบทวนถึงที่มาที่ไปก่อนคือ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีมติเสียงส่วนใหญ่ 310 เสียง เห็นด้วยในวาระที่ 2 และ 3 ของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแบบสุดซอยหรือเหมาเข่งเมื่อกลางดึกวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ต่อเนื่องจนถึงเวลาตี 4 ของวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 สังคมไทยตื่นขึ้นมาพร้อมกับความงงงวย อารมณ์และความรู้สึกต่างๆ เช่น ตกใจ แปลกใจ ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่บางคนกลับไม่รู้สึกแปลกใจหรือกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อยเพราะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวและไม่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องใดๆ
ผลผลิตชิ้นงานเอกของ 310 เสียง
สิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงส่วนใหญ่จำนวน 310 เสียง ผลิตเป็นผลงานหรือชิ้นงาน (output) ออกมาคือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก สส.เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้าคือ ต้องพิจารณาลงมติเห็นชอบกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างรวดเร็วและผลักดันเป็นกฎหมายทันทีเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ ณ วันนี้ ความพยายามนั้นก็เป็นจริงตามที่มุ่งหวัง พร้อมกับได้ส่งผลผลิต (output) หรือ ชิ้นงานสำคัญนี้ให้แก่วุฒิสภาเพื่อพิจารณาและหากได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาก็สามารถออกเป็นกฎหมายบังคับใช้กับสังคมต่อไป
แต่ด้วยกระแสการคัดค้านอย่างกว้างขวางของสังคมต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติไม่รับหลักการในวาระที่ 1 ของการประชุมวุฒิสภาด้วยเสียง 141 เสียง ทำให้ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฯ ต้องส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดว่าถ้าวุฒิสภามีมติไม่รับหลักการ ผลที่เกิดขึ้นคือ ร่างกฎหมายนั้นจะค้างอยู่ในรัฐสภาโดยไม่อนุญาตให้ดำเนินการใดๆ เป็นเวลา 180 วัน แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญจะให้สิทธิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งที่จะเสนอร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในรัฐสภากลับมาพิจารณาใหม่เพื่อลงมติเห็นชอบและบังคับเป็นกฎหมายได้อีกครั้ง
และนี่คือความห่วงกังวลใจของผู้คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ว่าหลังจาก 180 วันผ่านไป สส. เสียงใหญ่จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้กลับมาพิจารณาลงมติผ่านเป็นกฎหมายอีกครั้งหรือไม่ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านหรือผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวได้มีโอกาสตั้งตัวดังเช่นทุกวันนี้
ปฏิกิริยาของสังคมต่อผลผลิตชิ้นงานเอก: บวกและลบ?
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดสถานการณ์การคัดค้านหรือแม้แต่การสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้อย่างรวดเร็วในสังคมไทยและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดไปที่ผลผลิตชิ้นงานเอกหรือการเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แบบสุดซอย ของ สส.เสียงส่วนใหญ่ 310 เสียงแล้ว จะพบว่าเกิดผลลัพธ์หรือที่เรียกว่า outcome ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบทันที ซึ่งในทางวิชาการนั้นไม่แปลกใจเพราะเมื่อมี output มักจะมี outcome ตามมาเพราะทั้งสองคำนี้มีความสัมพันธ์กัน หรือพูดง่ายๆ คือเมื่อมีเหตุจะต้องมีผลตามมา ซึ่งผลที่ต้องการให้เกิดขึ้น ควรเป็นผลดีไม่ใช่ผลร้าย แต่แน่นอนยากที่จะปฏิเสธผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผลลัพธ์ด้านลบนี้ได้สร้างผลผลิตใหม่ที่เรียกตัว “ปัญหาใหม่ในประเด็นเดิม” ซึ่งมักจะก่อตัวและพัฒนาเป็นอุปสรรคใหญ่ขึ้นๆ ส่งผลให้ปัญหาเดิมมีความซับซ้อนทวีคูณจนทำให้เป้าหมายที่วางไว้ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าหรือไม่คาดคิดมาก่อน
คำถามคือ ทำไมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก 310 เสียง ต้องการให้ออกเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งจากคำชี้แจงหลักการเหตุผลและความเชื่อของ สส. เสียงข้างมาก ต่อสาธารณะ ทำให้เข้าใจได้ว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนี้เป็นวิธีที่จะช่วยให้เกิดความยุติธรรม นำมาสู่ความปรองดองและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสังคมไทยได้ และในฐานะสมาชิกรัฐสภาที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงควรใช้ระบบรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมบังคับใช้กับสังคมโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาตอบสนองของสังคมไทยวันนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง มีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง คำถามคือ “ทำไมจึงมีทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง” “ผลประโยชน์” อาจเป็นคำตอบหนึ่ง ดังปรากฏชัดเจนว่ามีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกฎหมายนิรโทษกรรมฯฉบับนี้ นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ผลประโยชน์เท่านั้นที่ทำให้ผู้คนเห็นต่าง แต่ยังรวมถึงความเชื่อ ความชอบส่วนตัว และนำประเด็นเรื่องความยุติธรรม ความถูกต้อง ความชอบธรรม มาเป็นเหตุผลสนับสนุนว่า “ฉันเห็นด้วย” หรือ “ฉันไม่เห็นด้วย” ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่าอุณหภูมิการเมืองไทยวันนี้กำลังร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลกระทบ (outcome) บวก-ลบ ต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ปฏิกิริยาตอบสนองของสังคมที่มีต่อผลผลิตหรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีหลากหลายรูปแบบ เริ่มจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในรัฐสภาในส่วนของกรรมาธิการฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยต่อกฎหมายนี้ หนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในรัฐสภาที่พยายามแปรญัตติมาโดยตลอด ในเวลาเดียวกันได้มีการนำเสนอสถานการณ์การคัดค้านเพิ่มขึ้นผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ รวมถึง Social media ทำให้สังคมเกิดการตื่นตัว มีการพูดคุยถึงที่มาที่ไป และกังวลถึงผลกระทบที่ตามมาหรืออาจจะตามมาหากรัฐสภาออกกฎหมายนี้สำเร็จ
การตื่นตัวต่อการคัดค้านหรือสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ขยายวงกว้างออกไป ไม่ใช่เพียงการพูดคุยอยู่ในวงเล็กๆ เท่านั้น แต่ยังได้มีการเชิญชวนให้พี่น้องคนไทยทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยไปรวมตัวกันตามสถานที่ต่างๆ เช่น สีลม อโศก รัชดาฯ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเรียกร้องคัดค้านกฎหมายฉบับนี้โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ในภูมิภาค สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกได้อีกครั้งว่าเป็น “ผลลัพธ์หรือผลที่ตามมา (outcome) หรือ“ปัญหาใหม่ในประเด็นเดิม” ภายหลังจาก สส. เสียงข้างมากมีมติเห็นด้วยต่อกฎหมายนิรโทษกรรม
ตัวอย่างรูปแบบการแสดงออกหลักๆ ในเวลานี้คือการคัดค้านจากหลายกลุ่ม อาทิ การชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมี สส. พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ณ สถานีรถไฟสามเสน และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การคัดค้านของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ร่วมกับกองทัพธรรม และภาคีเครือข่ายประชาชน 77 จังหวัด รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านอื่นๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่ในบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในเวลาเดียวกันก็มีการจัดชุมนุมเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของฝ่ายที่เห็นด้วยเช่นกันโดยมี สส. พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ร่วมกับแกนนำของกลุ่ม นปช. ซึ่งได้จัดให้มีการชุมนุมร่วมกับคนเสื้อแดง ณ พื้นที่เมืองทองธานี และถนนราชประสงค์ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2556 และในวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้น
เอาละ...มาถึงตรงนี้ เราได้เห็นสถานการณ์บ้านเมืองแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล กลุ่มคน หรือองค์กรว่าจะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดตามตรรกะ เหตุผล ข้อมูล ประสบการณ์ หรือแม้แต่จะใช้ความรู้สึก ความเชื่อ และความชอบส่วนตัวในการเลือกที่จะคัดค้านหรือสนับสนุนหรือมีทางออกอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม โปรดอย่าได้โกรธหรือไม่พอใจคนที่เห็นต่างกับเรา เพราะโดยพื้นฐานของมนุษย์แล้ว คนมีความแตกต่างกัน ยากที่จะให้ทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกัน และปฏิเสธไม่ได้ว่าอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งอยู่ภายในตัวบุคคลนั้น เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งต่อระบบคิดและการแสดงออกโดยพฤติกรรมของบุคคลหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะชี้ชัดว่าความเชื่อของคนๆ หนึ่งถูกต้องทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ หรือผิดทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ หรือจะตัดสินใจทำอะไรหรือไม่ทำอะไร
ทำตามกระแสหรือทำเพื่อปกป้องความถูกต้อง?
เมื่อถามว่าปรากฏการณ์คัดค้านต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นการทำตามกระแสหรือไม่ เพราะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็น โดยถ่ายทอดความเห็นของตนต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ว่า “อย่าไปตามกระแส” “คงอยากเด่นอยากดังมั๊ง” “เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ต้องปล่อยให้ระบบรัฐสภาแก้ปัญหาเอง ไม่ควรไปชุมนุม” “ไม่ควรแสดงออกมากขนาดนี้ เดี๋ยวจะมีปัญหากับตัวเองนะ” “ทำไมเปิดตัว เลือกข้างชัดเจน ไม่กลัวหรอ” “เมื่อรัฐบาลถอนแล้ว ก็ควรหยุดการชุมนุม เพราะทำให้เกิดความเดือนร้อนกับคนอื่น”
ก่อนที่จะตอบว่าตัวเราหรือใครทำตามกระแสหรือไม่ คำถามคือ กระแสคืออะไร หรือ กระแสสังคมคืออะไร ซึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า “น. น้ำหรือลมเป็นต้น ที่ไหลหรือพัดเรื่อยเป็นแนวเป็นทางไปไม่ขาดสาย เช่น กระแสน้ำ กระแสลม, โดยปริยายหมายถึงอาการเช่นนั้น; เส้น, สาย, แนว, ทาง, เช่น กระแสความ กระแสความคิด” และจากความหมายข้างต้นจะเห็นคำว่า “น้ำหรือลมพัดเรื่อยเป็นแนวทางไปไม่ขาดสาย” ซึ่งตีความได้ว่าเป็นลักษณะของการกระทำใดกระทำหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อนำมาเปรียบกับคำว่า “กระแสความคิด” อาจหมายถึงความคิดเห็นของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ไปในทางเดียวกันอย่างต่อเนื่องในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และกลายเป็นกระแสสังคมต่อมา ซึ่ง ศ. ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ให้ความหมายของคำว่ากระแสสังคมไว้ว่า “ความนิยมที่กำลังรุนแรงของสังคม สิ่งซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของสังคมมากที่สุด” และเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงขอยกตัวอย่างคำพูดที่ได้ยินคนพูดบ่อยๆ เช่น “ตอนนี้กระแสของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมาแรงมาก” และให้ตรงกับประเด็นที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่ตอนนี้จึงอาจพูดได้ว่า “กระแสการคัดค้านและสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้มข้นมาก” โดยสรุป เมื่อนำความหมายของคำว่ากระแสและกระแสสังคมมารวมกันจึงอาจหมายถึง ความเห็น ความนิยมที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากบุคคล กลุ่มคน และสังคม ซึ่งมีทิศทางไปในทางเดียวกัน
ดังนั้น เมื่อมีใครถามหรือพูดว่า “ทำตามกระแสหรือเปล่า อย่าไปทำตามกระแสเลย” ซึ่งเป็นคำถามที่อาจใช้ได้ทั้งกับผู้เห็นด้วยและคัดค้านกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ซึ่งคำตอบที่ได้รับอาจแตกต่างกันไป แต่หนึ่งในท่าที่ส่วนใหญ่อาจเป็น “แล้วไง! ทำตามกระแสสังคม แล้วไง!” ซึ่งผู้ตอบพยายามยืนยันจุดยืนของตัวเองโดยการถามกลับแบบกวนๆ ด้วยท่าทีนักเลง ซึ่งกรณีนี้อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งได้อีกเช่นกัน ดังนั้น ลองมาช่วยกันหาคำตอบ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่ว่าทำตามกระแสหรือไม่ อาจทำได้โดยการวิเคราะห์ผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้
1.กลุ่มไม่สนใจว่าทำตามกระแสหรือไม่ทำกระแส แต่มีอารมณ์ มีความเชื่อ และความชอบส่วนบุคคลจึงเลือกข้างทันที ดังนั้นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ต่อมาคืออะไรทำให้บุคคลนั้นเชื่อและชอบอย่างนั้น
2.กลุ่มไม่สนใจว่าทำกระแสหรือไม่ทำกระแส แต่ใช้และมีข้อมูล ข้อเท็จจริง และความรู้ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อและความชอบว่าจะคัดค้านหรือสนับสนุน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพิสูจน์ต่อไปคือ ข้อมูล ข้อเท็จจริงนั้นเป็นความจริงหรือไม่ จะตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างไร
3.กลุ่มที่ยอมรับว่าทำตามกระแสสังคม และยอมรับว่าไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ถึงเวลาต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง “การคัดค้านและสนับสนุน” โดยอาจใช้หลักธรรมชาติหรือสัญชาตญาณในการตัดสินใจ เปรียบดังเช่น คนเดินเข้าไปในป่า และมีแม่น้ำ 2 สาย ขวางหน้าอยู่ สายที่ 1 พบว่ามีน้ำใส ไหลสะอาด เต็มเปี่ยมไปด้วยต้นไม้น้ำ อาหาร และปลาชนิดต่างๆ ทั้งตัวเล็กและใหญ่จำนวนมาก แต่อีกสายหนึ่งไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้เลยเพราะน้ำน้อยและขุ่น มีคราบสิ่งสกปรกปนกับปฏิกูลและมูลสัตว์ ไหลจากต้นน้ำตอนบนผ่านมายังพื้นที่ปศุสัตว์บริเวณกลางน้ำ คำถามคือ ถ้าเป็นตัวเรา เราจะเลือกไปแม่น้ำสายไหนเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไป เฉพาะฉะนั้นกลุ่มนี้จึงบอกว่า “กระแสก็กระแส เพราะกระแสนี้มันดี” จึงตัดสินใจทำตามกระแส
4.กลุ่มยอมรับว่าทำตามกระแสคัดค้าน ทั้งๆ ที่ไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าใจอะไรเลย แต่มูลเหตุให้ทำตามกระแสเพราะทำตามบุคคล องค์กร หน่วยงานต่างๆที่ออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ โดยพบว่าผู้ที่ออกมาคัดค้านประกอบไปด้วยทุกภาคส่วน มีความหลากหลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มสตรี แม่บ้าน คนพิการ นักวิชาการ ครู อาจารย์จากสถาบันการศึกษา แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครต่างๆ นักการเมือง รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่สังคมให้ความเชื่อถือและไม่คิดว่าจะออกมาคัดค้าน ก็ได้ออกมาแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านคัดค้านอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และทำคุณประโยชน์เป็นที่ประจักรต่อประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงกระโดดเข้าสู่กระแสการคัดค้าน บนฐานความคิดความเชื่อที่ปัญญาชนได้แสดงออก เพราะคิดว่าทำถูกต้องและจะไม่หลงทาง
5.กลุ่มปฏิเสธว่าทำตามกระแส แต่ทำเพื่อปกป้องความถูกต้องและผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก โดยอ้างว่ากฎหมายนิรโทษกรรมฯ ขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญสำนึกความรับผิดชอบ คุณธรรม ศีลธรรมที่จะเกิดขึ้นในทางลบต่อสังคมไทย กล่าวคือ มองผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวหรือของคนใดคนหนึ่ง เหตุผลนี้สามารถตอบคำถามการออกมารวมตัวของคนจำนวนมากโดยทราบว่าอาจมีใครได้ผลประโยชน์จากการรวมตัวก็ตาม อาทิ พรรคการเมืองใดอาจได้ผลประโยชน์ทางอ้อมจากการเป็นแกนนำการชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมรู้และเข้าใจ แต่ยังออกมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก นั่นก็คือประชาชนไทยหรือพลเมืองไทยมองข้ามผลประโยชน์ที่อาจเกิดกับพรรคการเมืองนั้นไปแล้ว แต่มองถึงประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก โดยคนกลุ่มนี้ได้เริ่มลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ไม่ว่าจะเป็นการเสียสละหรือแสดงออกใดๆ เพื่อเรียกร้องความถูกต้อง เนื่องจากระบบรัฐสภาไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว จึงตัดสินใจเข้าร่วม และแม้จะเหนื่อย ร้อน ฝน หนาว ไม่สะดวกสบาย หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัว อันเพียงมาจากการออกมาคัดค้าน รวมถึงหน้าที่การงาน หรือผลประโยชน์อื่น ก็ยินดีเสียสละสิ่งเหล่านั้น เพื่อรักษาและปกป้องประโยชน์ส่วนใหญ่ไว้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เบื้องต้นเป็นเพียงการวิเคราะห์ในภาพรวม การวิเคราะห์เพิ่มเติมเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในอนาคต
การมองข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว
สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ดูเหมือนจะเลวร้ายและไม่มีทางออก แต่ในเวลาเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็ได้ทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และอาจนำไปสู่การปฏิรูปความคิดและประเทศต่อไปก็เป็นได้
ดังนั้น สาระสำคัญจึงไม่ใช่การถกเถียงกันว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นเป็นการทำตามกระแสหรือไม่ แต่สังคมควรจะนำปรากฏการณ์การตื่นตัวของสังคมวันนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากภายใน ไม่มีใครบังคับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญคือควรช่วยกันสร้าง “ค่านิยมร่วม” โดยเปลี่ยนจากการมองผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง มาเป็นการมองผลประโยชน์ของ “ประเทศชาติ” เป็นหลักโดยช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ “ไทยวันนี้เดินไปข้างหน้าโดยเน้นประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นสำคัญ”
สังคมไทยมีคำพูดคำสอนต่างๆ ที่ใช้ในการอบรมสั่งสอนกันมาตั้งแต่ในอดีต แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างจริงจัง อาทิ เสียสละส่วนตัวและนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมทำอย่างไร เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสทำอย่างไร หรือการใช้สันติวิธีทำอย่างไร ในสถานการณ์เช่นนี้ หลายคนคงมีคำตอบของตนเองในใจ บทวิเคราะห์ข้างต้นเป็นเพียงความพยายามวิเคราะห์และทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ในสังคมไทย เพื่อตอบคำถามที่ว่า “ทำตามกระแสหรือไม่” ไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สังคมไทยควรมองร่วมกันคือ “มองไปข้างหน้าโดยใช้อดีตเป็นบทเรียน” มองข้ามผลประโยชน์ส่วนตัวและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และร่วมกันหาทางออกว่า “ตกลงเราจะทำอะไรเพื่อส่วนร่วมหรือเพื่อชาติ” ต่อไป ซึ่งเป็นคำถามที่ก้าวไปไกลไปกว่าคำว่า “ทำตามกระแสหรือไม่”
ภาพประกอบจากdaily.bangkokbiznews.com