ประเทศไทยอยู่ในยุคที่กำลังเสื่อม และล้าหลัง หรือคุณคิดว่าไม่ใช่ ?
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในภาวะ 'วิกฤติ' ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าอาจเป็น 'โอกาส' ในการหยิบยกเรื่องการ 'ปฏิรูปประเทศ' มาพูดคุยกันอย่างจริงจังอีกครั้ง
หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน ภารวิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : จุดเปลี่ยนเส้นทางสู่อนาคต" ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
โดยมี ดร.สันติ ถิรพัฒน์ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองสู่เส้นทางปฏิรูป จากแง่มุมนักเศรษฐศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ
ประเทศไทยเสี่ยง 'ล้าหลัง' มากกว่า 'ก้าวหน้า'
ดร.สันติ เริ่มปูพื้น ฉายภาพการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในด้านต่างๆ นับตั้งแต่ ค.ศ. 2000 กระทั่งปัจจุบัน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย พบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ในทุกๆ ด้านไม่ได้โตไปกว่าประเทศอื่นๆ
แม้ในช่วงปี 2002-2006 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวกันว่า 'อู้ฟู้' ที่สุด แต่ข้อเท็จจริงแล้วประเทศเวียดนามยังทำได้ดีกว่า
ยิ่งเมื่อมาพิจารณากลยุทธ์การพัฒนาประเทศ รัฐบาลชุดปัจจุบันใช้คำที่สวยหรู ที่ว่า... คนไทยต้องมีความเท่าเทียมกันด้านสภาพเศรษฐกิจนั้น ดร.สันติ ก็พบว่า มูลค่ารวมสินทรัพย์มหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของไทย ในปี 2013 สูงขึ้นจากปี 2012 ถึง 26.63% สวนทางกับจีดีพีของไทยที่เฉลี่ย 4.16% เท่านั้น (ปี 2000-2012)
สอดคล้องกับข้อมูล World Economic Forum ที่ระบุว่า การพัฒนาทางด้านการเงินของไทยไม่ได้ดีขึ้นมากนัก ขณะที่ฮ่องกงมีพัฒนาด้านการเงินดีที่สุดในโลก! ดังนั้น เรื่องความเท่าเทียม (Supporting inclusive growth) ที่รัฐบาลพูดถึง จึงน่าสงสัยว่าใช่หรือไม่
เช่นเดียวกับการกำกับดูแลและธรรมาภิบาล ที่ทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลปัจจุบันถือว่า การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและหลักธรรมาภิบาลเป็นหน้าที่อันสำคัญ แต่จากข้อมูลของธนาคารโลก ชี้ว่า การพัฒนาธรรมาภิบาล เช่น การควบคุมคอร์รัปชั่น การบริหารประเทศ ความมั่นคงทางการเมืองต่างของไทยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่มีกราฟแท่งใดสูงขึ้นเลย โดยเฉพาะ "ความมั่นคงด้านการเมือง"
สำหรับการทุจริตคอร์รัปชั่น ศึกษาข้อมูลจากองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ก็ชี้ว่า แนวโน้มคอร์รัปชั่นไทยค่อยๆ ดิ่งลง จาก 62% กระทั่งมารัฐบาลปัจจุบันลงมาที่ 47% ซึ่งกลุ่มนักการเมือง ตำรวจและข้าราชการ เป็นกลุ่มที่ประชาชนเห็นว่า ทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด
ประเทศไทยจะพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่ง (Pillars of Prosperity) ได้ ดร.สันติ ระบุว่า ต้องมีกลุ่มพลังในการพัฒนา 3 เสาหลัก ได้แก่
1.ความมั่นคงทางด้านการเงิน
2.ความสามารถของรัฐ
3.รายได้ของประเทศ
ซึ่งทั้ง 3 เสานี้มีความสัมพันธ์กัน หากไปด้วยกันได้ดีจะเกิดพลังในการพัฒนา แต่ทว่า ขณะนี้ 'เสาด้านความมั่นคงทางการเมือง' ของไทยกำลังผุกร่อน นั่นหมายถึง เสถียรภาพทางการเมืองจะส่งผลต่อความสามารถด้านการคลัง และส่งผลถึง 'รากหญ้า' ในที่สุด
ที่สำคัญปัจจัยที่นำพาประเทศสู่ความล้มเหลวหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ 'สถาบันการเมือง' ของประเทศเป็นหลักว่า เป็น การเมืองแบบมีส่วนร่วม หรือ การเมืองแบบแสวงหาผลประโยชน์
และเมื่อตอบคำถามด้วย กรณีมาตรา 190 นัิกวิชาการด้านการเงิน เห็นว่า ขัดกับหลักการมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง
ก่อนทิ้งคำถาม ...ประเทศไทยกำลังเดินสู่เส้นทางความล้มเหลวหรือไม่ ?
ลองมาดูเส้นทางสู่ความล้มเหลว 5 ระยะ ได้แก่
1.การหลงระเริงในความสำเร็จ
2.ความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด
3.ไม่ยอมรับสภาพที่แท้จริง ปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับอันตรายที่จะเกิดขึ้น
4.การหาทางออกอย่างเชิงรับแบบขอไปที
และ 5.ยอมจำนนกับความล้มเหลว
เมื่อพิจารณาดูเส้นทางเดินของประเทศไทย จากเดิมเคยเป็น "เสือ" แต่เมื่อประเทศไทยมีความต้องการไม่สิ้นสุด พรรคการเมืองใดขึ้นมาบริหารก็เน้นกระตุ้นประชานิยม ใช้เงินลงทุน จนเริ่มปฏิเสธอันตรายที่จะเกิดขึ้น สะท้อนชัดจากการส่งออกที่มีปัญหา การกู้หนี้ยืมสิน (ที่สามารถทำได้ หากใช้เพื่อโครงการที่ดี)
สำคัญที่สุด... ขณะนี้เรากำลังหาทางออกแบบง่ายๆ แบบขอไปทีอยู่หรือไม่ อย่างเรื่องจำนำข้าว ถามนักเศรษฐศาสตร์ทั้งโลกก็คงไม่มีใครอธิบาย (justify) ตรรกะนี้ได้
ประเทศไทยวันนี้จึงกำลังอยู่ในระยะที่ กำลังจะก้าวไปข้างหน้า หรือล้าหลัง นี่เป็นจุดที่สำคัญมาก
ท้ายที่สุดแล้ว เขาฟันธงว่า... ประเทศไทยมีโอกาสที่จะล้าหลัง มากกว่าที่จะก้าวหน้า หากผู้บริหารและนักการเมืองยังไม่ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบการเมือง ความมีเสถียรภาพทางการเมือง และระบบการกำกับดูแลล้วนมีผลต่อพลังในการพัฒนาประเทศ และจำเป็นต้องปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ใช่แค่...นโยบายสวยหรูที่แถลงต่อประชาชน
พลิก 'วิกฤติปชต.-นิติรัฐ' สู่โอกาสปฏิรูปประเทศ
ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปด้านต่างๆ ในสังคมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเสถียรภาพการเมือง และเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคที่นิ่งพอ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา
แต่เนื่องจากรัฐบาลใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นนโยบายที่เรียกได้ว่า ไม่รับผิดชอบต่อการคลัง จึงไม่แน่ใจนักว่า เศรษฐกิจมหภาคจะอยู่นิ่งได้นานแค่ไหน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ปั่นป่วน ผันผวนมาก อีกทั้งยังประสบภาวะส่งออกลดลง หนี้ครัวเรือน และหนี้ภาครัฐสูงขึ้น
"สถานการณ์ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นปรากฎการณ์ที่ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะ การผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สะท้อน 'วิกฤติฝาแฝด (Twin Crisis)' คือเป็นทั้ง วิกฤติของประชาธิปไตย และวิกฤติของนิติรัฐ"
วิกฤติประชาธิปไตย แง่ที่ใช้เสียงข้างมากในระบบรัฐสภา และถือว่า เสียงข้างมากนั้นเป็นอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ 'เสียงข้างมาก' ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บางวิชาตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้มีวิธีการรวบรวมความเห็นของคนในสังคมออกมาให้ได้ข้อสรุป รวมถึงไม่มีวิธีคุ้มครองเสียงข้างน้อยที่เห็นต่าง ทั้งในปัจจุบันและที่ยังไม่เกิดในสังคมนี้
หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้นโยบายประชานิยม ที่สร้างภาระทางการคลังในอนาคตให้กับลูกหลาน ซึ่งไม่มีโอกาสออกเสียงในวันนี้ ประธานทีดีอาร์ไอ เชื่อว่า ประชาธิปไตย ที่แม้จะเป็นระบบที่เรียกได้ว่า ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คิดได้ ก็จะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ใช้เสียงข้างมากในการผ่านกฎหมายช่วงเวลา ตี 3-4 เป็นการใช้เสียงข้างมากโดยไม่มีขอบเขต นับเป็น วิกฤติประชาธิปไตยเสียงข้างมาก และเป็นปัญหาวิกฤตินิติรัฐ เนื่องจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมมีเนื้อหาที่ถูกมองว่า นิรโทษกรรมให้กับคดีทุกรูปแบบ รวมถึงคดีคอร์รัปชั่นด้วย
ฉะนั้นการที่ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านครั้งใหญ่ จึงสะท้อนว่า ประชาชนต้องการนิติรัฐมาก
ดร.สมเกียรติ มองว่า ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ คงต้องเลือกแก้ทั้ง 2 แนวทาง กล่าวคือ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาการเปลี่ยนแปลงนอกระบบที่เกิดขึ้น และไม่เอาการล้างผิด การใช้อำนาจทางการเมืองไปลบล้างผลทางกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ดี วิกฤติประชาธิปไตยและวิกฤตินิติรัฐที่เกิดขึ้นนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะนำมาสู่โอกาสในการ 'ปฏิรูป' การแก้วิกฤติครั้งนี้ นักวิชาการต้องพยายามวิเคราะห์ปัญหาแบบที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง คิดถึงความเป็นไปได้ทางการเมืองมากพอสมควร
ฝ่ายที่เรียกร้องชุมนุม กับฝ่ายรัฐบาลควรต้องเจรจากัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การใช้เสียงข้างมากจะมีขอบเขตจำกัดที่ยอมรับกันได้ เช่น จะไม่ใช้เสียงข้างมากไปแทรกแซงองค์กรอิสระ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายศาล หากจะมีความผิดพลาด ก็ให้เสียงประชาชน เสียงนักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซง
พรรคการเมืองใหญ่ๆ ก็ต้องตกลงกันว่า จะหาเสียงโดยใช้นโยบายใดก็ได้ แต่ต้องมีขอบเขตที่จำกัด เช่น ไม่สร้างภาระหนี้สินเกินขอบเขตเท่าใด หรือไม่ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณเกินเท่าใด นี่คือหัวใจของสิ่งที่เรียกว่า 'ธรรมนูญการคลัง'
รวมถึงการต่อต้านคอร์รัปชั่น อยากเห็นรัฐบาล ซึ่งเสียแต้มมากในเวลานี้ 'กู้ศรัทธา' กลับคืนมา โดยการให้คำมั่นว่าจะต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีรูปธรรม 4 ประการ ได้แก่
1.ยอมรับข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pack) ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) โดยเฉพาะในโครงการจัดซื้อจัดจ้างใหญ่ของประเทศไทย เช่น โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ให้ตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วมเข้าไปสังเกตการณ์ ให้ข้อคิดเห็น
2.แก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการให้ใช้ได้โดยง่าย เพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นรูปธรรม
3.แก้ไขกฎหมายให้การกระทำที่เกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการกระทำความผิดที่ไม่มีอายุความ
4.เข้าเป็นภาคีสมาชิกของ Anti-Bribery Convention ของ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) การให้องค์กรภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบ จะสร้างความน่าเชื่อถือ และความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่ใช่แค่พูด อย่างที่ทุกรัฐบาลทำ แต่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
หากฝ่ายที่ขัดแย้งสามารถพูดคุย ตกลงกันได้ว่าจะฟื้นฟูทั้งเรื่องประชาธิปไตยและนิติรัฐกันอย่างไร ก็จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงเรื่องการเมือง เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ไม่มีการใช้จ่ายภาครัฐที่เกินตัว และทำให้การปฏิรูปประเทศในระยะยาวเกิดขึ้นได้
แต่หากเจรจากันไมได้ ทางเลือกที่ควรเลือก คือการ 'ยุบสภา' ที่แม้ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการ reset ระบบใหม่ ปรับอารมณ์ของคนในสังคม ไม่ให้เอาแพ้ เอาชนะกันอย่างเอาเป็นเอาตาย จนหาทางออกไม่ได้
แนะลดบทบาทภาครัฐ เน้นลงทุนเฉพาะที่จำเป็น
ด้าน ดร.เศรษฐพุฒิ เห็นว่า ประเทศไทยก้าวหน้า หรือล้าหลัง ขึ้นอยู่กับเราว่า "เราจะทำอะไร" เพราะขณะนี้มีสัญญาณที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคที่กำลังเสื่อม และล้าหลัง...
เทียบเคียงเหมือนคนที่สุขภาพไม่ค่อยดี อาจไม่ทราบว่า โรคร้ายแรงแค่ไหน แต่เริ่มออกอาการแล้วว่า ป่วยแน่ๆ
การส่งออกที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดเมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 15 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 22 ของโลก และความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เดิมมี 1.3 % ปัจจุบันลดลงเหลือ 0.6%
ตัวที่สะท้อนมากกว่านั้น คือ ขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ไทยโดนเวียดนามไล่มา ทั้งที่มีจีดีพีน้อยกว่าไทย "ของที่เคยเป็นเสน่ห์ จุดแข็งก็หายไป"
ขณะที่ยังพัฒนาเพิ่มขึ้นไม่ได้ !!
- ทักษะด้านภาษา อันดับที่ 53 จาก 54 ประเทศ
- วิจัยพัฒนาอยู่อันดับกลางๆ
- การคอร์รัปชั่นอยู่อันดับ 80 กว่าของโลก
- โดยเฉพาะประสิทธิภาพการใช้พลังงานอยู่อันดับ 160 กว่าจาก 180 ประเทศ ใช้พลังงานเยอะมากเพื่อผลิตจีดีพี 1 หน่วย ใกล้เคียงกับประเทศ เช่น รัสเซีย อิหร่าน บาห์เรน ซึ่งมีน้ำมัน แต่ไทยไม่มีน้ำมัน
ดร.เศรษฐพุฒิ เห็นว่า การจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ต้องลงทุน ลงแรงเรื่องวิจัยพัฒนา ส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ และปฏิรูปการศึกษา พร้อมกับเชื่อว่า เราต่างรู้ดีว่าควรทำสิ่งเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมาทำทุกอย่างกลับด้านไปหมด
"สัดส่วนวิจัยพัฒนาไม่โตขึ้น ข้อนี้ไม่ใช่เพราะไม่มีงบประมาณ จะเห็นว่างบประมาณลงไปกับการศึกษา ค่อนข้างสูง กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้งบประมาณมากที่สุด ไม่ได้ขาดทรัพยากร แต่เลือกทำนโยบาย อย่าง 'จำนำข้าว' ที่นักวิชาการนักวิชาการมองว่า เสียหายกว่า 2 แสนล้านบาท เทียบได้ 80 เท่าของงบสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเป็น 20 กว่าเท่าของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"
เมื่อรัฐบาลไม่ทำ และมีปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่น ธรรมาภิบาล การจัดการ ก็ควร ลดบทบาทภาครัฐ ให้มุ่งเน้นสิ่งที่ควรเน้น เพราะตอนนี้บทบาทภาครัฐไทยใหญ่มาก ซึ่งมี 2 เรื่องที่ทำได้ คือ
1.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีเหตุผลใดที่ไทยต้องมีรัฐบาลที่มีสายการบินใหญ่ที่สุด มีพลังงานใหญ่ที่สุด เพราะการที่รัฐบาลมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ประสิทธิภาพการให้บริการไม่ดี
2.ปรับทัศนคติว่า ทุกอยางที่รัฐทำมีต้นทุนสูง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เข้าใจว่าทุกอย่างที่ได้มาไม่มีต้นทุน เช่น ขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว 2 แสนล้านบาท คนที่ได้ประโยชน์ก็รู้สึกว่าสิ่งที่รัฐทำเหมือนไม่มีต้นทุน ทั้งที่ทำให้เกิดสารพัดปัญหา
ก่อนจะยืนยันได้ท้ายที่สุดคนที่จะเสียหายมากที่สุด คือ ประชาชนรากหญ้า!! การที่รัฐนำทรัพยากรไปใช้เรื่องพวกนี้ ทำให้ทรัพยากรที่ควรนำไปพัฒนาส่วนที่จำเป็นหายไปหมด
ไม่ต่างกับกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ผิดหลักการ ทั้งๆ ที่มีเรื่องที่ควรทำ กลับไม่ทำ เช่น เรื่องการศึกษา ธรรมาภิบาล หรือเรื่องระยะยาวของประเทศ...