เช็คอุณภูมิข้าวและทางรอดข้าวไทย..ไปต่อทางไหนดี?
แม้ปัจจุบันไทยยังครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามก็กำลังไล่ตามและแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญคือ การวางยุทธศาสตร์ข้าวไทยที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องมุ่งเจาะตลาดข้าวพรีเมียม ชูแบรนด์ข้าวไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิต เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอื่นๆ และครองความเป็นหนึ่งของผู้ส่งออกข้าวในตลาดโลกเอาไว้
ในปี 2010 ไทยยังคงรักษาแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกไว้ได้ โดยเป็นการส่งออกข้าวคุณภาพสูงมากขึ้น ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวไปยังตลาดโลกรวมกว่า 9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6% (YOY) หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมดในตลาดโลก ขณะที่เวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20% ทั้งนี้ กว่า 60% ของยอดส่งออกข้าวทั้งหมดของไทยเป็นการส่งออกข้าวคุณภาพสูง ซึ่งได้แก่ ข้าวนึ่ง (parboiled rice) และข้าวหอมมะลิ ในสัดส่วน 35% และ 26% ตามลำดับ เนื่องจากปัจจุบันตลาดโลกมีความต้องการข้าวประเภทนี้มากขึ้นเพราะมีคุณค่า ทางอาหารสูงกว่าข้าวขาว เมล็ดข้าวสวยและหักน้อย กอปรกับการที่อินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งหลักในการส่งออกข้าวนึ่งประสบปัญหาภัย แล้งรุนแรงทำให้ต้องงดส่งออกชั่วคราว ซึ่งถือเป็นผลดีต่อไทยเพราะหลายประเทศหันมานำเข้าข้าวจากไทยแทน รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มสัดส่วนการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
คาดว่าการส่งออกข้าวในปี 2011 มีแนวโน้มดีต่อเนื่องและอาจสูงสุดในรอบ 10 ปี สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าการส่งออกข้าวในปี 2011 จะอยู่ที่ 10 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 9.0-9.5 ล้านตัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกข้าวรวมแล้วกว่า 5.1 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 50% จากปกติที่เคยส่งออกเฉลี่ยเพียงเดือนละ 7.5 แสนตัน เป็นผลจากความต้องการข้าวทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และฟิลิปปินส์
เนื่องจากหลายประเทศซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของโลกประสบปัญหาภัย ธรรมชาติอย่างต่อเนื่องทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อย ลง กอปรกับการที่หลายประเทศมีนโยบายงดส่งออกข้าวและมีการเร่งนำเข้าข้าวเพิ่ม ขึ้นเพื่อเพิ่มสต็อกข้าวในประเทศและสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศทำ ให้มีคำสั่งซื้อข้าวไทยเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ดีและช่วย ผลักดันให้ทิศทางราคาข้าวขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน
แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังคือ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทและนโยบายส่งออกข้าวของประเทศคู่แข่งอย่าง เวียดนาม อินเดีย พม่า หากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบันจะทำให้ราคาส่งออกข้าวไทย แพงขึ้นและเสียเปรียบเวียดนามซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าโดยเฉพาะในตลาด ส่งออกข้าวระดับล่างอย่างแอฟริกา ขณะเดียวกันการประกาศลดค่าเงินดองของเวียดนามและลดราคาข้าวเพื่อระบาย สต็อกในประเทศยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ตลาดข้าวไทยมากขึ้น และทำให้ส่วนต่างราคาระหว่างข้าวไทยและเวียดนามเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ หากอินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดข้าวนึ่งกลับมาส่งออกแข่งกับไทยอีก ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังก็จะกระทบทั้งตลาดข้าวและทำให้ราคาผันผวนมากขึ้น เพราะอินเดียมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย หรือแม้แต่พม่าซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก (ปี 1934) เนื่องจากพม่ามีระบบชลประทานธรรมชาติที่ดีทำให้มีผลผลิตต่อไร่ใกล้เคียงกับ ไทย และในปัจจุบันรัฐบาลพม่ายังให้การสนับสนุนและมีนโยบายฟื้นฟูอุตสาหกรรม ข้าวอย่างจริงจังเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ส่งออกข้าวชั้นนำของโลกอีกครั้ง
ควรจับตามองคู่แข่งตลอดกาลอย่างเวียดนาม ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดข้าวระหว่างไทยกับเวียดนามมีความรุนแรงมากขึ้นโดย เฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอาเซียน โดยไทยเริ่มสูญเสียตลาดข้าวให้เวียดนามอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา เนื่องจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มหันมาบริโภคข้าวที่มีราคาถูกกันมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันเวียดนามสามารถครองตลาดข้าวในตลาดอาเซียนได้สำเร็จ โดยกว่าครึ่งเป็นการส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของ โลกและในอดีตเคยนำเข้าข้าวจากไทยทั้ง 100% ขณะที่ในตลาดข้าวคุณภาพสูงนอกกลุ่มอาเซียน เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย และไต้หวัน เวียดนามก็มีการส่งออกข้าวคุณภาพดีได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันและอาจ จะตีตลาดข้าวหอมมะลิจากไทยได้ในอนาคต เหตุผลสำคัญคือ ข้าวเวียดนามมีราคาถูกกว่าไทยแต่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งยังมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงที่สุดในกลุ่มอาเซียนและสูงกว่าไทยถึงเกือบ 2 เท่า ทำให้เวียดนามสามารถผลิตข้าวป้อนตลาดโลกได้ในปริมาณมาก นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีการทำการตลาดเชิงรุก รวมทั้งมีการจัดตั้งตลาดค้าข้าวและคลังสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งช่วยให้การส่งออกข้าวของเวียดนามเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา
ไทยควรปรับยุทธศาสตร์ในการแข่งขันใหม่ด้วยการชูแบรนด์ข้าวไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว โดยมุ่งเน้นเจาะตลาดข้าวระดับบนมากขึ้น การที่ไทยจะตีตลาดข้าวระดับล่างในอาเซียนโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาแข่งกับ เวียดนามคงจะทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากต้นทุนส่งออกข้าวของเวียดนามถูกกว่าไทย ขณะที่ชาวนาไทยก็มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกปี ดังนั้น ภาคเอกชนไทยต้องปรับกลยุทธ์การส่งออกใหม่โดยมุ่งเจาะตลาดข้าวระดับบนมากขึ้น เช่น ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและใช้ชื่อเสียงของความเป็น "ข้าวไทย" เป็นจุดขาย เพื่อคงความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอื่นๆ รวมทั้งต้องผลักดันการส่งออกข้าวเกรดพรีเมียมซึ่งคู่แข่งอื่นๆ ผลิตไม่ได้ เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หรือข้าวที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รวมไปถึงเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มใน ห่วงโซ่การผลิต เช่น ข้าวสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง ข้าวปรุงรสแช่แข็ง น้ำมันรำข้าว เป็นต้น และหาลู่ทางในตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีแนวโน้มที่ซื้อข้าวนึ่งจากไทยมากขึ้น
โครงการประกันรายได้เกษตรกรและโครงการรับจำนำข้าวเปลือก อาจทำให้ข้าวไทยสูญเสียศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก แม้ว่าการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆด้วยการชูนโยบายในเรื่องการรับประกัน ราคาข้าวหรือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้เกษตรกร จะเป็นมาตรการระยะสั้นที่เห็นผลรวดเร็วและส่งผลดีโดยตรงต่อชาวนาซึ่งเป็นคน กลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่ในทางปฏิบัติ มาตรการดังกล่าวถือเป็นการแทรกแซงราคาและส่งผลกระทบต่อกลไกราคาในตลาดค้า ข้าวเนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก รวมทั้งมีผลให้ต้นทุนของผู้ส่งออกข้าวเพิ่มสูงขึ้นเพราะต้องรับซื้อข้าว เปลือกในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ราคาข้าวส่งออกของไทยแพงขึ้นและแข่งขันในตลาดโลก ยากขึ้น รวมทั้งอาจกระทบต่อศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านการส่งออกข้าวของไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจทำให้เงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวขึ้นและก่อภาระการคลังให้ กับทั้งรัฐบาลและสถาบันการเงินของรัฐฯ เนื่องจากต้องรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดที่แท้จริงมาก .