นักสวล.ชี้สร้างยอมรับ ‘อีไอเอ’ ต้องจัดงบกองทุนฯ หนุนชุมชน-นักวิชาการพื้นที่ลงมือเอง
นักวิชาการสวล.ชงตั้งสำนักงานอีไอเอเทียบเท่าสผ. หวังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล-ทุ่มงบหนุนคชก.ทำงานอิสระ ‘นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล’ เปรียบเครื่องมืออีไอเอเป็นอริยสัจ 4 เเนะแก้ปัญหาปชช.ไม่เชื่อถือรายงานฯ ต้องประมูลองค์กรทำรายงานฯ-เพิ่มการมีส่วนร่วมผู้มีส่วนได้เสีย
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ‘เอชไอเอ:ทางออก/ตอบโจทย์ความขัดแย้งสิ่งแวดล้อม?’ ณ อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศ. กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด (Environmental Impact Assessment:EIA) คือการที่ฝ่ายประชาชนและฝ่ายนักวิชาการต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน จึงทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการพัฒนาประเทศนั้นจะต้องพัฒนาทั้ง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมไปพร้อม ๆ กัน หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปประเทศก็พัฒนาไม่ได้ เพราะบุคคลใน 3 ด้านที่กล่าวมานี้มีความเห็นไม่ตรงกัน ต่างคนต่างก็มีมุมมองในด้านของตนเอง จึงทำให้การทำงานไม่สมดุลกัน เราต้องร่วมมือกันแก้ไขเพื่อให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้
ศ. กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเห็นตรงกันว่า อีไอเอ และ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ” (Health Impact Assessment – HIA) ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเสียที ตนขอเสนอว่า ให้มีการแก้ที่ตัวพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิ่งแวดล้อมที่กำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ในขณะนี้ให้มีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าการดำเนินการแก้ไขนั้นจะทันการหรือไม่
“เจตจำนงของ เอชไอเอ คือการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ศึกษาผลกระทบและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและร่วมพัฒนาไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีปัญหาที่ข่าวสารส่งไปไม่ถึงชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ”
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า คนคาดหวังกับ เอชไอเอ คือการประเมินวัดผลทางด้านสุขภาพ เมื่อมีโครงการมาก็ต้องบอกว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่แย่ลงอย่างไร แต่ความคาดหวังที่ว่านี้ เอชไอเอ ยังมีไม่พอ ซึ่งมีปัญหาตรงขั้นตอน
“ในมุมมองผมจึงมองว่าส่วนใหญ่จะระบุเพียงขั้นตอนในการทำ ซึ่งไม่มีเนื้อหาอะไรเลย ทั้งที่จริง ๆ แล้วควรจะระบุด้วยว่าจะดำเนินการวิเคราะห์ เอชไอเอ อย่างไร”
ศ. กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าวว่า สิ่งที่เราเห็นพ้องต้องกันว่า มี อีไอเอ แล้วยังไม่พอ ต้องมี เอชไอเอ เข้ามาเสริมเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมี เอชไอเอ เลยก็ได้ หาก อีไอเอ ติดตามตรวจสอบเป็นอย่างดีเเล้ว เเต่ปัญหาคือเห็นตำตาว่า โครงการผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร ทางแก้จึงต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัด
"การติดตามตรวจสอบที่ดีที่สุดคือการลงมือทำโดยคนในชุมชน หรือนักวิชาการในพื้นที่ โดยอาศัยงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาสนับสนุนนับว่าเป็นอีกทางออกที่ดี"
กรณีการมีบุคคลากรไม่เพียงพอและไม่มีความชำนาญอย่างแท้จริง ศ. กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าวว่า ก็เป็นปัญหาหนึ่ง จึงเสนอให้ตั้งสำนักงานอีไอเอ ขึ้นมาเป็นสำนักงานใหญ่เช่นเดียวกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พร้อมเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะได้เก็บข้อมูลไว้เองทั้งหมด
"คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) บางคนไม่ชำนาญการจริง ซึ่งตอนนี้หา คชก. ยากมาก ไม่มีใครอยากเป็น เพราะกลัวการถูกด่า ถูกฟ้อง ประกอบกับมีเงื่อนไขเยอะ ดังนั้นจึงควรเพิ่มความอิสระให้ คชก. และควรนำงบประมาณมาสนับสนุนตรงนี้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้มีแรงใจที่จะทำ" ดร.ธงชัย กล่าว
ดร.ธงชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า หลักอีกประการที่เป็นอุปสรรค คือ ข้อมูลในการทำ เอชไอเอ สำนักงาน อีไอเอ ต้องทำการเก็บข้อมูลก่อน อีกทั้งโครงการประเภทที่ต้องทำ อีไอเอ มีแต่จะเพิ่มขึ้น เห็นว่าควรตัดประเภทที่ไม่จำเป็นออก เพราะเป็นการเพิ่มภาระงาน คนก็ทำงานไม่ทัน การกระจายอำนาจนั้นต้องนำหน้าที่และความรับผิดชอบติดไปกับอำนาจด้วย แต่เรากลับผลักหน้าที่ความรับผิดชอบไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งไม่ได้มีความพร้อม เพราะเรื่องเดิมที่ทำอยู่ก็มีมากพอยู่แล้ว
ดังนั้นต้องดำเนินการสร้างความพร้อมโดยการนำนักวิชาการไปช่วยและออกมาตรการภาษีให้ท้องถิ่นได้นำเงินไปใช้ในการติดตามเรื่องนี้ มิใช่การนำเงินไปทำถนน อีกทั้งการทำเวทีแสดงความคิดเห็นที่ชาวบ้านไม่เข้าใจข้อมูลทางเทคนิคที่ยุ่งยาก ต้องกระทำการพูดคุยกันก่อน โดยการนำเรื่องสุขภาพเข้าไปคุยในขั้นเทคนิคด้วย
เปรียบระบบ/เครื่องมืออีไอเอเป็น‘อริยสัจ 4’
ด้านศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปรียบสถานการณ์ระบบและเครื่องมืออีไอเอเป็น ‘อริยสัจ 4’ แบ่งเป็น
1.ทุกข์ (การมีอยู่ของทุกข์) โดยระบุความขัดแย้งในสังคมเกิดจากประชาชนไม่เชื่อสถานประกอบการ โรงงาน หรือรัฐวิสาหกิจว่าอีไอเอดีจริง นำมาซึ่งการไม่เชื่อสผ.และคชก. รวมไปถึงบริษัทที่ปรึกษาฯ และนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ทำให้อีไอเออาจไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน และส่งผลให้อุตสาหกรรมหรือโครงการใหม่ ๆ ในประเทศเกิดขึ้นยาก และหันไปลงทุนในประเทศใกล้เคียงแทน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า ที่สำคัญ ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมก็มิได้ลดน้อยลงเลย
2.สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) ในการพัฒนาทั้งหลายมีคนได้และเสีย ส่วนใหญ่ปัญหาคือ “คนที่ได้มักได้บนความเสียหายของคนอีกกลุ่มหนึ่ง” นั่นหมายถึง ‘เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ’ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของไทยตอนนี้ อีกทั้ง รายงานอีไอเอทำโดยบริษัทที่ปรึกษาฯ (consultant) ซึ่งได้รับค่าตอบแทนจากโครงการหรือสถานประกอบการ มักสนับสนุนโครงการ ประกอบกับบริษัทที่ปรึกษาฯ เหล่านี้มีบุคลากรเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีด้านสาธารณสุข จึงต้องไปพึ่งพานักวิชาการในมหาวิทยาลัยด้านสาธารณสุขแทน
“รายงานอีเอชไอเอมักพิจารณารายโครงการ ไม่ได้พิจารณาภาพรวมของพื้นที่ ขาดการบังคับใช้ผังเมืองอย่างจริงจังจนนำไปสู่การใช้พื้นที่อยู่อาศัยไปทำโรงงาน” ศ.ดร.นพ.พรชัย กล่าว และว่าโครงการหรือสถานประกอบการ และบริษัทที่ปรึกษาฯ บอกข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยมักบอกแต่ด้านที่ดี เพื่อต้องการให้โครงการผ่าน ประกอบกับมีเวลาในการนำเสนอข้อมูลที่จำกัดด้วย
3 นิโรธ (ความดับทุกข์) และ 4.มรรค (หนทางนำไปสู่การดับทุกข์) โดยเสนอให้ทุกครั้งที่สถานประกอบการต้องทำรายงานอีเอชไอเอจะต้องจ่ายค่าทำรายงานเข้ากองทุนฯ เพื่อเปิดประมูลหาองค์กรมาดำเนินงาน ป้องกันการสนับสนุนโครงการ แทนการจ่ายตรงไปยังบริษัทที่ปรึกษาฯ นอกจากนี้เห็นควรให้เร่งจัดทำผังเมืองให้ทันสมัย โดยคำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้นด้วยการให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นประกอบการทำรายงานอีเอชไอเอ พร้อมสนับสนุนให้นำภาษีจากโรงงานกลับมาพัฒนาพื้นที่ด้วย
ชี้ปชช.ไม่มีสิทธิพิจารณาอนุมัติโครงการอีเอชไอเอ
ขณะที่นายดำรง เครือไพบูลย์กุล ผอ.กลุ่มพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 วรรค 2 เกี่ยวกับสิทธิชุมชน จึงต้องมีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการลักษณะต่าง ๆ 11 ประเภท โดยที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชนและองค์กรอิสระเสนอความเห็นประกอบอีเอชไอเอเพิ่มเติมได้ ซึ่งในกรณีสิ่งแวดล้อมนั้นมีการศึกษาและเสนอความเห็นข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ระดับของผลกระทบที่ยอมรับได้ แต่กระบวนการดังกล่าวเป็นเพียงการให้ความเห็นประกอบเท่านั้น ส่วนอำนาจในการตัดสินใจอนุญาตโครงการกลับตกอยู่กับหน่วยงานภาครัฐเช่นเดิม
“ประชาชนไม่มีสิทธิเข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุญาตโครงการอีเอชไอเอ แต่มีสิทธิในการรับรู้ข่าวสารและให้ความเห็นประกอบข้อมูลต่อการพิจารณาอนุญาตเท่านั้น” นายดำรง กล่าว และว่า ปัจจุบันมีโครงการอีเอชไอเอเสนอมาที่สผ.ทั้งหมด 24 โครงการ และขณะนี้มีเพียง 5 โครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคชก. พร้อมที่จะส่งความเห็นไปยังองค์กรอิสระ ส่วนโครงการที่เหลือกำลังเร่งดำเนินงานอยู่
ภาพประกอบ: http://www.krumontree.com