กสม.จี้ "รบ.-สภา-นายกฯ" เป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาร่าง กม.นิรโทษ
กรรมการสิทธิ์ฯ จี้รัฐบาลแสดงเจตจำนงแก้ปัญหาการชุมนุมค้านกม.นิรโทษฯ ให้ชัด ยันไม่ใช่หน้าที่ตำรวจ ชี้ผู้ที่ต้องตอบโจทย์เรื่องนี้คือรัฐบาล สภา และตัวนายกรัฐมนตรี
จากกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับจดหมายร้องเรียนจากเครือข่ายพลเมืองเฝ้าระวังความรุนแรงทางการเมือง และกลุ่มราชตระกูลรวมใจ ต่อสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยต้องการให้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวังการชุมนุมที่เกิดขึ้นและไม่ต้องการให้การชุมนุมอ้างอิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดการประชุมหารือ อ.กสม.พลเมือง ครั้งที่ 36/2556 ขึ้น ณ ห้องประชุม 709 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ มาร่วมชี้แจง อาทิ นายถาวร เสนเนียม ตัวแทนจากเวทีราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ ชุมนุมสะพานผ่านฟ้า, พล.ต.ต.วิชัย รัตนยศ รองผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ (DSI), นายพรชาต บุนนาค รองเลขาฯ สมช., นายสมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และนายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วม
นายพรชาต กล่าวถึงการชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และการที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองนั้น ในส่วนของสมช. มีนโยบายความมั่นคงแห่งชาติและยุทธศาสตร์สันติวิธีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายต้องสมดุลกับการใช้สิทธิของประชาชนชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63
"ที่ผ่านมาทางสมช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานกันตลอดเวลาว่า ในการดำเนินการใดๆ ก็ตามขอให้คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิ ความปลอดภัย ความยุติธรรมแก่ผู้ชุมนุม ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงก็เพื่อใช้ในการป้องกันและคุ้มครองบุคคลผู้เข้าร่วมการชุมนุม รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย"
ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบัน นายพรชาต กล่าวว่า ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงอยู่ ดังนั้นการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงก็เพื่อป้องกันไว้ก่อน และเฝ้าระวังวังการก่อกวนจากบุคคลที่ 3 ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม
ในมุมนักวิชาการ นายพรสันต์ กล่าวถึงจุดบกพร่องของระบบกฎหมายไทย คือ รัฐธรรมนูญไทยที่เขียนว่า ให้มีการชุมนุมได้โดยปราศจากอาวุธ ทำให้มีการตีความกว้างเกินไป ซึ่งควรจะมีการขยายความถึงขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย หรืออาจจะมีการตราตัวบทกฎหมายที่เป็นตัวบทเฉพาะที่ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง โดยเป็นกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่ใช้ได้กับทุกกรณีมิใช่เพียงแค่การเมืองเท่านั้น
"ที่ผ่านมาการใช้กฎหมายความมั่นคงถูกออกแบบขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ กฎหมายในลักษณะแบบนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อบังคับใช้กับเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม อีกทั้งยังมีมาตรการค่อนข้างรุนแรง และเมื่อเรานำมาตรการความรุนแรงนี้ไปใช้กับเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม จึงทำให้เกิดลักษณะที่อาจจะเข้าไปจำกัดสิทธิที่เกินกว่าเหตุได้"
ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมนัดหมายหยุดงานนั้น นายพรสันต์ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญไม่มีการเขียนไว้เฉพาะ แต่มีการเขียนผ่านมาตรา 64 วรรค 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ เขียนไว้ว่า "ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ เมื่อมีการชักชวนให้เจ้าหน้าที่ของรับหยุดงานแล้วมีผลกระทบต่อการบริการสาธารณะ ถือว่าเข้าข่ายขัดต่อมาตรา 64 วรรค 2"
“ผมเป็นกังวลในเรื่องของการใช้ความรุนแรง โดยการใช้ถ้อยคำที่นำไปสู่ความเกลียดชัง ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้คุ้มครองไว้ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมควรใช้เสรีภาพในขอบเขตที่พอเหมาะ”นายพรสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมหารือ เสียงสะท้อนจากตัวแทนผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ถูกละเมิดสิทธิในการชุมนุม เช่นการถูกปิดกั้นเส้นทางและไม่อนุญาตให้รถสุขาเข้าไปในเขตพื้นที่การชุมนุม ไม่ให้นำอาหารเข้าไป ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมชุมนุมกันอย่างสันติและปราศจากอาวุธ
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าตำรวจ ซึ่งเป็นตัวแทนจากสน.นางเลิ้ง ได้ขอความเห็นใจจากผู้ชุมนุมอย่าด่าทอตำรวจด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย เพราะทุกคนเพียงมาปฏิบัติตามหน้าที่เท่านั้น
ขอความชัดเจนหลังสังคมหวั่นวิตกชายชุดดำ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน กล่าวถึงข้อสรุปจากการหารือร่วมกันกับทุกฝ่ายจะถูกส่งต่อไปยังรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยว เพื่อขอให้คุ้มครองสิทธิประชาชน พร้อมกับให้ภาครัฐมีกระบวนการในการทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพในการเห็นต่างทางการเมืองด้วย เพื่อไม่ให้สถานการณ์รุนแรง และเสียเลือดเนื้อดังที่ผ่านมา
นพ.นิรันดร์ กล่าวเรียกร้องไปยังรัฐบาล เรื่องแรกต้องมีเจตจำนงอย่างชัดเจนในการจัดการการชุมนุม ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุม และการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
"เราต้องการเหตุผลที่ปรากฏในการยื่นต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยผ่านหน่วยงานที่บังคับใช้ การควบคุมมาตรการความรุนแรงใหญ่ๆ เช่น กรณีมีชายชุดดำสะพายเป้เข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาล สำนักข่าวกรองแห่งชาติ จะต้องหากระบวนการในการตรวจสอบ และทำให้เกิดความชัดเจน"
กรณีข่าวที่ออกมาระบุถึงที่ตั้งของชายชุดดำจนทำให้สังคมเกิดความหวั่นวิตกนั้น กรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า อาจทำให้สังคมมองว่า รัฐบาลเองอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังนี้หรือไม่ "นี่ไม่ใช่การกล่าวหา แต่หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้เรื่องนี้ชัดเจนได้ รัฐบาลก็อาจจะถูกกล่าวหาได้ เช่นเดียวกับสิ่งที่รัฐบาลกล่าวหาผู้ชุมนุมนี้ว่า จะมาล้มรัฐบาล และหากใช้ทัศนะเดียวกันกับกรณีม๊อบยางพารา จะเห็นได้ว่า นี่คือความผิดพลาดของการจัดการ เป็นการผิดพลาดเรื่องนโยบายในการจัดการของรัฐ"
หวั่นการชุมนุมมีคำพูดสร้างความเกลียดชัง-ยั่วยุ
นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่สอง คือเรื่องตำรวจผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย สิ่งที่เป็นปัญหาคือ มาตรา 25 การใช้กฎหมายต้องไม่เกินขอบเขตและละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่จากการที่ได้ฟังทั้งหมดพบว่า มีการปิดกั้นเส้นทาง ปิดกั้นการนำอาหาร หรือรถสุขาเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม การตั้งด่านแทนที่จะเป็นการตรวจอาวุธร้ายแรงกลับเป็นการสกัดกั้น มีการดักฟังโทรศัพท์ ดังนั้น ตำรวจจำเป็นต้องให้ความชัดเจน ชี้แจงเรื่องนี้ด้วย เพราะหากไม่ชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่อาจจะนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงได้
สุดท้ายแม้ในภาคสังคมจะก็มีทัศนะถึงท่าทีของผู้ชุมนุมว่า เป็นไปอย่างสงบ และสันติ นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า การแสดงออกบางอย่าง เช่น คำพูดที่จะสร้างให้เกิดความเกลียดชัง หรือการยั่วยุ ก็เป็นความรุนที่ต้องระมัดระวัง ในส่วนของรัฐบาล ก็ต้องชี้แจงกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นำมาดูแลการชุมนุมนั้น นำมาจากไหน ผ่านกระบวนที่ทำให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้ชุมนุมต้องมีความรู้ความเข้าใจด้วยว่า การใช้อำนาจมีขอบเขตเพียงใด หากเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมต้องดำเนินการด้วยท่าทีอย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องแยกให้ออกมาเพื่อปราบปราม หรือมาเพื่อดูแลไม่ให้เหตุการณ์นั้นนำไปสู่ความรุนแรง
“การแก้ไขปัญหาการชุมนุมอยู่ที่รัฐบาลและรัฐสภา ทุกฝ่ายรวมถึงตำรวจเป็นเพียงคนกลางที่ถูกใช้ให้มาดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น ดังนั้นผู้ที่ต้องตอบโจทย์เรื่องนี้จึงไม่ใช่ตำรวจ เพราะตำรวจคงต้องคำถามเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ ไม่ได้ จึงต้องเป็นเรื่องของรัฐบาล สภาฯ และนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้ ตำรวจเป็นแค่คนกลางที่จะทำให้ประชาชนส่งเสียงถึงรัฐบาล และให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเท่านั้น”