'เอกนัฏ' แจง 'อดีต ส.ส.ปชป.' มีสิทธิเป่านกหวีดไล่รัฐมนตรี
“...เมื่อลาออกจาก ส.ส.แล้วก็ถือเป็นประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ก็มีสิทธิที่จะกระทำด้วยการแสดงออกต่างๆ ได้ มีสิทธิไปเป่านกหวีดไล่รัฐมนตรี เพราะเขาใช้สิทธิเหมือนประชาชน...”
ค่ำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เวทีราชดำเนิน ประกาศลาออกจาก “ส.ส.” พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนำพรรคพวกออกตามมาด้วย 9 คน
และ “สุเทพ” ประกาศมาตรการ “อารยะขัดขืน” 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.หยุดงานระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2.ชะลอจ่ายภาษี 3.ชักธงขึ้นทุกบ้าน 4.เป่านกหวีดใส่บุคคุลในรัฐบาล เมื่อพบเห็น
กระทั่งในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ปรากฎภาพเคลื่อนไหว อดีต ส.ส.ปชป. อาทิ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” “ชุมพล จุลใส” “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ไล่เป่านกหวีดใส่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ผนวกกับ “รัฐบาล” ออกมาคัดค้านการหยุดงาน-ชะลอจ่ายภาษี ว่าจะส่งผลเสียต่อ “ประเทศไทย”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงต่อสายตรงไปยัง “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” หนึ่งใน ส.ส.ปชป.”ที่ลาออก เพื่อร่วมขบวนต่อสู้บนถนน ในฐานะโฆษกกลุ่มต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อประเมินกระแสตอบรับทั้งทางบวกและทางลบ และตอบข้อสงสัยเรื่องอดีต ส.ส.เป่านกหวีดไล่รัฐมนตรี...
-----
@ กระแสอารยะขัดขืนได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน
ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในบางส่วน เพราะอย่างน้อยก็มีคนให้ความร่วมมือ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน บริษัทห้างร้าน เป็นต้น ในส่วนที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ เราก็เขาใจว่าบริษัทเอกชนอาจจะมีความจำเป็นของเขาอยู่ อันนี้เราก็ไม่ว่ากัน
@ พอประเมินเป็นตัวเลขได้หรือไม่ว่าประสบความสำเร็จแค่ไหน
ประเมินเป็นตัวเลขว่าหยุดงานกี่บริษัท ชะลอจ่ายภาษีกี่บริษัท คงจะเป็นเรื่องยาก แต่หากประเมินจากคนที่มาเข้าร่วมการชุมนุม ก็ยังถือว่าเราประสบความสำเร็จ เพราะในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ช่วงเย็น ก็ยังมีคนออกมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก และเราคงยึดคนที่มาเข้าร่วมการชุมนุมเป็นสำคัญ
@ แต่การที่แกนนำผู้ชุมนุมไปเป่านกหวีดไล่นายจาตุรนต์ ก็ถูกกระแสสังคมตีกลับว่าไม่ควรทำ
ผมคิดว่าการเป่านกหวีดไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราเป่าเป็นสัญลักษณ์ เพื่อให้คนเห็นว่าเราคัดค้านการกระทำของรัฐบาล เราจึงไม่มองเป็นเรื่องผิดอะไร ผมขอถามว่าการเป่านกหวีดกับการบอกให้ฆ่าคน บอกให้เผาบ้านเผาเมือง สิ่งไหนมันดีกว่ากันล่ะ อะไรที่มันเป็นความรุนแรงมากกว่ากัน
@ ถ้าประชาชนไปเป่าขับไล่รัฐมนตรีเอง โดยไม่ใช่แกนนำผู้ชุมนุมอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยกว่า
ก็นี่ไง... แกนนำผู้ชุมนุมถึงลาออกจาก ส.ส. เมื่อลาออกจาก ส.ส.แล้วก็ถือเป็นประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ก็มีสิทธิที่จะกระทำด้วยการแสดงออกต่างๆ ได้ มีสิทธิไปเป่านกหวีดไล่รัฐมนตรี เพราะเขาใช้สิทธิเหมือนประชาชน
@ แต่ก็ถูกมองว่าแกนนำไปเป่าเรียกแขกไว้ก่อน เพื่อให้ประชาชนกล้าทำตาม
ไม่ใช่ แกนนำไม่ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง แกนนำก็อยากแสดงออก ส่วนประชาชนคนไหนอย่างแสดงออกก็แล้วแต่ว่าจะทำอย่างไร
@ คุณสุเทพประกาศยกระดับการชุมนุมในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 จะมีมาตรการอารยะขัดขืนเพิ่มเติมหรือไม่
ผมไม่รู้ ขอปิดไว้ก่อน
-----
ภาพประกอบ - เอกนัฐ พร้อมพันธุ์ จากเว็บไซต์ www.oknation.net