อัครพงษ์ ค่ำคูณ : ปัญหาพระวิหารเกิดจากเราตีความเถรตรงเกินไป
"...ในบริเวณข้อพิพาท ต่อให้ผมตายแล้วเกิดใหม่ ผมว่าก็ยังปักปันกันไม่ได้หรอก แต่การไม่ปักปันก็คือการปักปันอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจะขีดเส้นมันยาก การจะแก้ไขปัญหานี้ คือทำให้พื้นที่เหล่านั้นเป็น “ย่าน” หรือเป็นขอบเขตที่ชัดเจน และรับรู้ได้ด้วยลักษณะทางกายภาพ..."
ยังคงมีข้อสงสัยเรื่องคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ว่าแท้จริงแล้วผลสรุปเป็นอย่างไร
“อัครพงษ์ ค่ำคูณ” อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวอิศรา” www.isranews.org เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในฐานะนักวิชาการที่มีภูมิลำเนาเป็นคน จ.ศรีสะเกษ และติดตามปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ในประเด็นปราสาทพระวิหาร มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
อาจารย์หนุ่มรายนี้ ได้อธิบายให้เห็นภาพและข้อเท็จจริงอันเป็นที่มาของความเข้าใจไม่ตรงกันในแผนที่ที่แต่ละฝ่ายต่างยึดถือ ทั้งแนะสังคมไทยให้มองตามความเป็นจริง ว่าไทยไม่เสียเปรียบ แต่สิ่งที่เราพลาด คือการตีความที่นำมาสู่การเป็นคดีความและต้องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลโลกอีกครั้งในยุคปัจจุบันนี้
-----
ตั้งแต่ปี 2505 เราไม่มีใครพลาดทั้งสิ้น เราเพียง “ตีความ” อย่างเถรตรงเกินไป ไม่ได้ตีความอย่างคลี่คลายปัญหา ปัญหาของเราไม่ใช่อยู่ที่ตัวปัญหา แต่อยู่ที่ “วิธีการ” ที่เราจัดการกับปัญหา อยู่ที่วิธีการที่จัดการกับข้อพิพาท ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เส้นแดงหรือเส้นน้ำเงินในแผนที่ ถ้าเราตีความอย่างเถรตรงเกินไป มันจะรัดคอเราจนขาดอากาศหายใจ แต่ถ้าเราตีความเพื่อนำไปสู่สันติภาพมันจะแก้ปัญหาได้
ถ้าเราบอกว่านี่เป็นระเบิดเวลาของอาณานิคมที่ฝรั่งมากำหนดเขตแดน ทำไมเราต้องไปจุดชนวน เราจะรับปัญหาของยุคอาณานิคมมาเป็นปัญหาของเราทำไม อย่าเอาปัญหาของเจ้าอาณานิคม ให้มาเป็นปัญหาของเรา และที่สำคัญเราต้องรู้จักที่จะถือไพ่เหนือกัมพูชาด้วยการเล่นเกมแบบผู้ใหญ่ ลองให้เขาไปกำหนดมาสิ ให้เขาลองไปทำมา วัดใจกันเลย ถ้าเราเห็นด้วย ก็ “เซย์ เยส” แต่ถ้ามันเกินไป ก็เจรจา เราต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ต้องใช้กุศโลบาย
คำพิพากษาของศาลโลกปี 2556 ถามว่าเราเสียเปรียบไหม ผมขอเปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า คำพิพากษาปี 2505 คำพิพากษาของศาลโลกเหมือนคำสั่งคุณแม่ แม่บอก “ลูก… แม่หิวน้ำจัง” ลูกคนหนึ่งวิ่งไปเอาน้ำส้ม อีกคนไปเอาน้ำแดง ระหว่างทางเอาน้ำมาให้แม่ ลูกก็เถียงกันว่าแม่จะเอาน้ำของใครแน่น้ำส้มหรือน้ำแดง พอต่างฝ่ายถือน้ำมา แม่บอกว่า “ไม่ใช่ แม่จะกินน้ำเปล่า” หมายความว่า สิ่งที่แม่สั่งมีความชัดเจนบางอย่างอยู่ว่า “แม่หิวน้ำ” แต่ไม่มีรายละเอียดว่าน้ำอะไร ฝ่ายไทยก็บอกว่า น้ำส้มสิ คือชะง่อนผา เรายังบอกอีกด้วยว่านะแก้วเล็กหรือแก้วใหญ่ คือตามที่มีมติ ครม.เมื่อปี 2505 เราอยากได้น้ำส้มแก้วใหญ่ แล้วแบ่งให้น้ำส้มให้แม่แก้วเล็ก ดังนั้น แผนที่ของเรา หรือสิ่งที่ไทยถือไปให้แม่คือน้ำส้มแก้วเล็ก
แต่ในความเป็นจริง ไทยกับกัมพูชายอมรับโดยพฤตินัยและนิตินัยอยู่แล้ว ทหารไทยยอมรับอยู่แล้ว ในบริเวณพิพาทตอนนั้น เมื่อศาลโลกตัดสินก็ไม่มีทหารไทยอยู่แล้ว และนอกจากนี้ไทยก็มีการเขียนแผนที่ของเราเองคือแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร L7017 ที่เราขีดขึ้นมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งกัมพูชาก็รู้มาตลอดว่าเราขีดเส้นแผนที่ตามนี้ และเราใช้แผนที่นี้มานาน ก่อนที่ทุกวันนี้จะใช้แผนที่ L7018 ซึ่งมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น มีการเพิ่มร่องน้ำ มีรายละเอียดของถนนหนทาง เส้นรุ้งเส้นแวง ปัจจุบันเราใช้ L7018 เขตแดน ก็เหลื่อมกันนิดหน่อย แต่แม้ในแผนที่นี้เราก็ขีดเขาพระวิหารให้กัมพูชาไป
กรมแผนที่ทหารเคยจ้างสหรัฐอเมริกามาทำแผนที่ ปี 2505 กว่าจะเสร็จก็ปี 2508 คือแผนที่ L708 ซึ่งถ้าอ้างตามแผนที่นี้ ก็ตรงกับสิ่งที่ศาลโลกพูด คือเราทำแผนที่ออกมาอย่างนี้ ขีดเขาพระวิหารให้กัมพูชาไปอย่างนี้ตั้งแต่ปี 2505 แล้ว แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่มีใครพูด พูดก็หาว่าขายชาติ แต่ผมพูดได้เพราะผมเป็นนักวิชาการ นักวิชาเกินอะไรก็ว่าไป
ซึ่งแผนที่ L708 อันนี้ ใช้เวลาทำระหว่างปี 2505-2507 พิมพ์ใช้งานในปี 2508 แต่เมื่อใช้ไปถึงปี 2515 ก็พัฒนามาเป็น L7017 และระหว่างปี 2520-2530 ก็พัฒนามาเป็น L7018 ซึ่งจากแผนที่อันเดิมไม่ระบุวัดแก้ว ไม่มีสถานที่ละเอียด แต่L7018 จะมีรายละเอียดทุกอย่างชัด
ที่ต้องมีแผนที่นี้ เพราะการทำแผนที่ต้องอัพเดททุกปี โดยกรมแผนที่ทหาร จากเดิมที่เมื่อก่อนเราไม่มีเครื่องมือ ก็ไปจ้างสหรัฐฯ แต่ตอนนี้เราก็ใช้แผนที่นี้ ใช้ในการพัฒนา ทำฝาย ทำถนนเท่านั้น ไม่ใช่แผนที่ระดับประเทศ ซึ่งแผนที่ที่ผมเอ่ยถึงทุกระดับนี้ จะมีระบุไว้ชัดเจนว่า “เส้นที่ปรากฏบนแผนที่นี้ ไม่ใช่เส้นที่ปรากฏอย่างเป็นทางการ” ไม่สามารถใช้ยึดเป็นทางการได้ แม้แต่ L708 หรือ L7017 ก็ยึดไม่ได้ ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
ส่วนกัมพูชา ตีความคำพิพากษาว่าต้องใช้แผนที่ ANNEX 1 (แผนที่มาตราส่วน 1:200,000)ซึ่งศาลโลกให้น้ำหนักกับ ANNEX 1 เพราะอยู่ในสนธิสัญญา ดังนั้น หากถามว่าเราเสียดินแดนไหม ผมขอตอบว่าเราไม่เคยไปยุ่งอะไรตรงนั้นนานมากแล้ว
เราถอยออกมาอยู่ที่ภูมะเขือ ที่ผามออีแดงตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว คือในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ มันมีอยู่สามภู คือผามออีแดง ภูมะเขือ ภูพระวิหาร ท่านเซอร์อักเคอร์มันท์ ที่ศาลโลกพูดถึงเขาก็บอกว่าเขาเห็นบริเวณที่เป็นโตรกเขา เป็นผาชันลงมาชัดเจน ชันแล้วค่อยลาดขึ้นไป ดังนั้น มันจึงแบ่งกันเห็นชัดเจน
สำหรับเส้นเขตแดนตามแนวสันปันน้ำที่ไทยอ้างถึง เมื่ออ้างถึงสันปันน้ำ ต้องระวังด้วย เพราะสันปันน้ำตามธรรมชาติ คือ ส่วนที่เมื่อน้ำตกลงมา ถูกสันเขาแบ่งน้ำเป็นสองฝ่าย แต่อีกนัยหนึ่ง สันปันน้ำระหว่างประเทศคือ สันเขาที่ต่อเนื่องกันไปจากจุดแรกถึงจุดสุดท้าย
สันปันน้ำต้องขีดต่อเนื่องกันไปไม่สิ้นสุด สันปันน้ำไม่ใช่ขอบหน้าผาเสมอไป แต่อาจเป็นสิ่งที่ลากตามลำน้ำจากจุดแรกไปถึงจุดสุดท้าย แล้วในแผนที่ ANNEX 1 ก็ไปเจอลำน้ำชื่อโอตาเซ็ม ดูในแผนที่จะเห็นบริเวณพนมทรัพย์ เขาพระวิหาร ซึ่ง ANNEX 1 ขีดแทรกตัดข้ามมาไม่ได้ เพราะเจอลำน้ำโอตาเซ็ม จึงต้องวกอ้อมไป ซึ่งตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าโอตาเซ็มไม่มี แต่ในแผนที่นี้มี เขาก็ยึดตามแผนที่นี้ ส่วนแผนที่ L7017 ไม่มีแม่น้ำไหลลงมาตรงนี้เลย เพราะฉะนั้น ของเราก็เลยขีดขึ้นมาเลยไม่ได้วกข้ามลำน้ำโอตาเซ็ม
ข้อแตกต่างคือ ANNEX 1 ขีดอ้อม เพราะตัดแม่น้ำไม่ได้ นั่นเขายึดตามสันปันน้ำเหมือนกันนะ ดังนั้น เมื่อศาลโลกในตอนนั้นเห็นแม่น้ำ เห็นว่าสองฝ่ายทำร่วมกัน ทำตั้งกรรมการร่วมกัน และฝ่ายไทยขอแผนที่เพิ่มอีก 15 ชุดแล้ว กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น ท่านก็ยอมรับ ศาลก็จึงเห็นว่าเรายอมรับแล้ว ซึ่งในตอนนี้ ภูมะเขือเราก็ได้มาแล้วนะ
แต่ในบริเวณข้อพิพาท ต่อให้ผมตายแล้วเกิดใหม่ ผมว่าก็ยังปักปันกันไม่ได้หรอก แต่การไม่ปักปันก็คือการปักปันอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจะขีดเส้นมันยาก การจะแก้ไขปัญหานี้ คือทำให้พื้นที่เหล่านั้นเป็น “ย่าน” หรือเป็นขอบเขตที่ชัดเจน และรับรู้ได้ด้วยลักษณะทางกายภาพ
เช่น คุณนั่งรถจากดุสิตมาบางลำพู คุณรู้แล้วว่าคุณมาถึงย่านบางลำพู แม้คุณไม่เห็นเส้นขอบเขตที่หน่วยงานของหลวงเขากำหนดไว้ คุณไม่เห็นเส้นนั้นหรอก แต่คุณรู้ หรือจากศรีนครินทร์มาพัฒนาการ คุณรู้ว่านี่คือย่านพัฒนาการ เหมือนชาวบ้านแถบนั้น เขารู้นะ ว่านี่เขาลงมาจากผามออีแดงแล้วนะ นี่มาภูมะเขือแล้วนะ ดังนั้น ทำให้มันเป็นย่าน ทำให้กลายเป็นโซน ประกาศให้เป็นพีซโซนไปเลย ก็ศาลก็ตัดสินแล้ว เราจะปักก็ปักไว้พอให้รู้ว่าเป็นโซน ปักล้อมไว้เหมือนคอกวัวก็ได้ หรือจะพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ระดับประเทศ มองให้เป็นบวกไปเลย อย่าไปมองว่าเสีย สร้างโรงเรียนระดับชาติ สร้างโรงพยาบาลระดับชาติบริเวณนั้นไปเลย
สำหรับคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา เหตุที่ศาลไม่เจาะจงพื้นที่แน่ชัด เพราะศาลโลกต้องการให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน ไม่ใช่ศัตรู
ศาลพูดเรื่องนี้ไว้ครบหมดเลย ในปี 2505 ปรากฏในหน้า 15 ของคำพิพากษา ส่วนที่เป็นขั้นพิจารณาเนื้อหา ส่วนภาษาไทย อยู่หน้า 17-18 ศาลพูดคล้ายกันกับครั้งนี้เลย แต่ตอนนั้นไม่มีเอ่ยถึงภูมะเขือ ครั้งนี้มีเอ่ยถึงภูมะเขือ ส่วนในบริเวณพิพาทตอนนี้ไทยก็ไม่ได้ไปยุ่งแล้ว ประเด็นของผมคือ หากเรามองว่าจะแก้ปัญหายังไง มันต้องแก้ที่กรุงเทพกับพนมเปญ แต่ถ้าถามว่าเราเสียอะไรไหม ผมขอตอบว่าเราไม่เคยเสียอะไรเลย ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
แผนที่มันไม่ใช่สิ่งตัดสินชีวิตมนุษย์ ทำไมต้องเอาเส้นที่ขีดมานี้มาตัดสินชีวิตเรา เราไม่พลาดหรอก เราเคยคิดจะขีดให้เขานะ เราทำฝ่ายเดียวด้วย แต่เราขีดให้เขาอันเล็กไปหน่อย ปัญหาของชนชั้นนำไทยคือไม่ยอมรับว่าตัวเองเสียหน้า พอแพ้คดีในปี 2505 คุณก็ควรต้องพูดความจริงไปเลยว่าตอนนั้น เราตีความไว้ 2 อย่างแต่ศาลก็มองว่าไม่ใช่ แต่เมื่อเรายอมไปขึ้นศาล ก็หมายความว่าเราก็ยอมรับคำตัดสินของศาล ส่วนที่ศาลยึดคือ ANNEX 1 ศาลใช้คำว่า “the limits of the promontory of Preah Vihear”คือขอบเขตเกินนี่ไม่ได้ ไกลสุดได้แค่นี้ แต่ลิมิตของเส้น ANNEX 1 ต้องไปตามหน้าผานะ ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างไปจากคำพิพากษาปี2505 ไปดูได้เลย ภาษาอังกฤษ หน้า 15 ภาษาไทย หน้า 17-18
ส่วนแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ตารางกิโลเมตร ที่ฝ่ายไทยอ้างถึง มีบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ไทยไม่ทะเลาะกับฝรั่งเศส ท่านชื่อหม่อมชาติเดชอุดม ท่านเก่งมาก และรอบรู้ทุกอย่าง ท่านดูแลปัญหาอินโดจีน ฝรั่งเศสเป็นมือซ้าย มือขวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เราจะไปบอกว่าท่านพลาดไม่ได้ เพราะเมื่อก่อน ไม่ว่าจะอย่างไร ฝรั่งเศสก็จะเอาให้ได้ เราสนใจ เรารู้ แต่ในตอนนั้น เรารู้ว่าเรามีอย่างอื่นที่ดีกว่า
เพราะฉะนั้น เหตุการณ์นี้ไม่มีใครพลาด อย่าโยนความผิดให้ใครทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นบทเรียนคือ เราจะเห็นว่าถ้าเราตีความทุกอย่างเถรตรงเกินไป เราจะมีปัญหา ดังนั้น ในตอนนี้ เราต้องเปลี่ยนสถานการณ์ที่เสียเปรียบให้ได้เปรียบให้เห็นว่าเป็นความฉลาดของมนุษย์ เหมือนผู้คนในยุคโบราณที่แม้จะไม่มีเส้นเขตแดน แต่รู้ว่าพรมแดนอยู่ตรงไหน เหมือนสมัยโบราณ เมื่อเข้าเขตวัด แม้ไม่มีเสมาปักไว้ให้เห็น แต่ผู้คนเขาก็รู้ว่าเข้าสู่เขตศักดิ์สิทธิ์แล้ว
-----
ภาพประกอบ - อัครพงษ์ ค่ำคูณ จากเว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com