นพ.นิรันดร์ ชี้สังคมไม่เชื่อรัฐพูดจะล้มร่างกม.นิรโทษ เสนอถกร่วมกลุ่มคิดต่างให้ชัด
นพ.นิรันดร์ แนะ รบ.แสดงเจตจำนงหยุด พ.ร.บ.นิรโทษให้ชัด ถกร่วมผู้ชุมนุม-ปชป.-กลุ่มคิดต่าง ชี้การค้นหาความจริงไม่สิ้นสุดเท่ากับนิรโทษบนฐานความจริงคนละชุด ด้านโคทม เสนอทางออก 3 ระยะ ขอให้ถอยจากการเป็นเจ้าภาพการปฏิรูปการเมือง
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 เครือข่ายสันติวิธีได้เชิญอาสาสมัครเครือข่ายต่างๆ นักวิชาการ นักปฏิบัติการสันติวิธี นักกิจกรรมที่แตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์ โดยมี รศ.ดร.โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เข้าร่วมปรึกษาหาทางออกหรือลดอุณหภูมิสถานการณ์การเมือง ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงความขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ภาคประชาชนมีส่วนสำคัญมาก ความขัดแย้งที่จับต้องได้ของคนในสังคมขณะนี้คือเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้รัฐบาลพยายามแสดงความจริงใจด้วยการให้สภายับยั้ง หรือการให้พรรคร่วมสร้างพันธะกรณีในการลงสัตยาบัน แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่สังคมพอใจ เนื่องจากสังคมในขณะนี้เกิดความไม่มั่นใจในตัวรัฐบาล ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำจึงยังไม่เพียงพอเพราะร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ล้มหายตายจากไป
"ครั้งแรกการนิรโทษเจาะจงไปที่ประชาชน แต่มี "ใบสั่ง" มานี่ คือ สิ่งที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงในครั้งแรก สิ่งที่พยายามทำให้เป็นเหมือนทางออกก็ยังคงมีความขัดแย้งหลงเหลืออยู่"
นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงทางออกของรัฐบาลด้วยว่า จะต้องมีการคิดให้มากขึ้นว่า ต้องยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยวิธีการอย่างไร หากจะนิรโทษต้องทำตามหลักสากล เนื่องจากขณะนี้กระบวนการค้นหาความจริงยังไม่สิ้นสุด ทุกคนยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่แตกต่างกัน หากเป็นเช่นนี้จะทำให้การนิรโทษเข้าใจในแนวทางเดียวกันได้อย่างไร เมื่อขบวนการของรัฐสภาไม่มีความชัดเจน รัฐบาลจะต้องนำ กสม. ดีเอสไอ มานั่งคุยกันเผื่อตกผลึกการนิรโทษกรรมที่เป็นธรรม นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ
"วันนี้รัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงในการแสดงวิธีการในขบวนการให้ชัดเจน เอาผู้ชุมนุม พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มคนที่คิดต่างมาพูดคุย หากแนวทางการปฏิบัติชัดเจนเชื่อว่า สังคมจะยอมรับได้ หากเรื่องนี้รัฐบาลไม่สนใจในวิธีการ ต่อให้รัฐบาลพูดว่าจะล้ม พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะสังคมเขาไม่เชื่อรัฐบาลอยู่แล้ว พูดจนเสียงแตกก็ไม่มีใครเชื่อ และถ้ารัฐบาลไม่ทำขบวนการต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนแสดงว่า ไม่มีความจริงใจในขบวนการนิรโทษ"
ด้านรศ.ดร.โคทม กล่าวในที่ประชุมถึงสิ่งกรอบแนวคิดเบื้องต้น ที่เตรียมจะร่างเป็นจดหมายเปิดผนึกเสนอต่อรัฐบาล โดยเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะสั้น ขอให้รัฐบาลระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการพกพา และใช้อาวุธ
ระยะกลาง รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการอิสระในการค้นหาความจริงต่อไป และดำเนินการให้ประกันตัวแก่ผู้ที่ต้องคดีการชุมนุม หรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม
ระยะยาว ที่ผ่านมารัฐบาลวางท่าที่เดินหน้าปฏิรูปการเมือง แต่ไม่ได้รับความไว้วางใจเพียงพอ ขณะที่ฝ่ายต่อต้านก็มีเวทีปฏิรูปการเมืองเช่นกัน ที่สุดแล้วจะไม่นำไปสู่การปฏิรูป ดังนั้น เสนอให้รัฐบาลพิจารณาถอยจากการเป็นเจ้าภาพการปฏิรูปการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการมาร่วมกันปฏิรูปการเมืองจากหลายฝ่ายได้จริงจัง เช่น ใช้วิธีการได้มาซึ่งบุคคลตั้งต้น ตามลักษณะของอนุญาโตตุลาการ ให้ไปศึกษา เสนอความเห็น เพื่อเป็นทางออกในระยะยาว
โดยแนวคิดอาจนำการศึกษาเบื้องต้นของคณะ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสมาใช้ ก่อนที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงใดๆ และเน้นย้ำว่า การตัดสินใจทางการเมืองต่อจากนี้ ขอให้มาจากปัญญาและจากความเห็นพ้อง ยอมรับจากประชาชน จึงจะพอมีทางเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับข้อเสนอต่อฝ่ายค้านและผู้ชุมนุม รศ.ดร.โคทม กล่าวแสดงความห่วงใย และความวิตกว่า แม้จะตั้งอยู่ในการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดเหตุที่ไม่ตั้งใจให้เกิดอุบัติขึ้น อันเป็นชนวนของความรุนแรง จึงขอให้ดูแลซึ่งกันและกันให้ดี และดูแลภาวะแวดล้อมด้วย อย่าให้มีตัวป่วนเข้ามาแทรก และหากว่าเป็นกลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกัน ขอให้จัดสถานที่ชุมนุมให้ห่างกันไว้ รวมถึงเป็นห่วงเรื่องการได้ยินของคน
ขอบคุณภาพประกอบจาก
www.naewna.com
www.mcot.net