“ทูตวีรชัย” แจงสภา ปมคดีพระวิหาร ยันศาลโลกไม่ชี้เขตแดน
“ทูตวีรชัย” หน.ทีมสู้คดีพระวิหาร แจงที่ประชุมรัฐสภา ยันศาลโลกวินิจฉัยในกรอบคำพิพากษาเดิม ปี 2505 ชี้ยอดเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ไม่รับตีความเรื่องเส้นเขตแดน
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ถึงผลการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้มานำเสนอคำพิพากษาของศาลโลก ต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยศาลโลกชี้ว่ามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 ในการรับคำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ส่วนรายละเอียดการพิจารณาของศาลโลก ตนจะให้นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารและคณะมาชี้แจง
“ในวันนี้ จะมาขอคำแนะนำจาก ส.ส.และ ส.ว.เบื้องต้น เพื่อจะได้นำไปเจรจากับกัมพูชา จากนั้นค่อยนำเรื่องกลับมาเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190” นายสุรพงษ์กล่าว
เวลา 14.15 น. นายวีรชัย กล่าวสรุปคำพิพากษาของศาลโลกว่า จะขอรายงาน 2 ส่วน ส่วนแรกจะสั้น คือข้อบทปฏิบัติการ มี 2 ข้อ 1.ศาลชี้ขาดว่ามีอำนาจพิจารณาคำขอตีความของกัมพูชา 2.ศาลชี้ขาดเป็นเอกฉันท์ว่าคำตัดสินปี 2505 ระบุว่ากัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือ "ยอดเขาพระวิหาร" โดยไทยมีพันธกรณีต้องถอนกำลังออกจากยอดเขาพระวิหาร ซึ่งยังเป็นคำชั่วคราวภาษาฝรั่งเศสที่ยังหาคำแปลภาษาไทยไม่ได้ สื่อและผู้เชี่ยวชาญบางท่านใช้คำว่าชะง่อนผา แต่เวลานี้ยังหาคำแปลไม่ได้ จึงขอใช้คำว่ายอดเขาพระวิหารไปก่อน
นายวีรชัย กล่าวว่า ส่วนที่สอง เป็นเรื่องของเหตุผล มี 8 ข้อ 1.วันที่ข้อพิพาทปรากฏชัด ศาลฟังคำต่อสู้ของเรา 2.อำนาจศาล ศาลเห็นว่ามีข้อพิพาท โดยเห็นว่ามีข้อพิพาท 3 ประเด็น หนึ่ง คำพิพากษาปี 2505 ศาลได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนหรือไม่ สอง ความหมายและขอบเขตของคำว่าบริเวณใกล้เคียง และสาม ลักษณะของพันธกรณีของไทยที่จะต้องถอนกำลัง 3.คำขอของกัมพูชารับฟังได้หรือไม่ ศาลเห็นว่ารับฟังได้เพราะคู่กรณีมีความเห็นต่างเรื่องคำพิพากษาปี 2505 4.ความสัมพันธ์ของคำพิพากษาปี 2505 ระหว่างเหตุผลกับข้อบทปฏิบัติการ ซึ่งศาลพิจารณาเท่าที่ให้ความกระจ่างเท่านั้น 5.วิธีการทั่วไปของการตีความ หนึ่ง ศาลจะเคารพและอยู่ในขอบเขตคำพิพากษาปี 2505 สอง ศาลไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองอยู่ในข้อต่อสู้ของคู่กรณี สาม คำให้การของคู่กรณีในคดีเดิมจำต้องนำมาตีความด้วย สี่ ในการตีความศาลมีดุลยพินิจจำกัดอยู่ในขอบเขตของคำขอข้องคู่กรณีเดิมตามที่ศาลเข้าใจ โดยไม่อาจวินิจฉัยขอบเขตใหม่ได้ ห้า คำสรุปย่อต้นคำพิพากษา ไม่อาจเอามาร่วมตีความได้ และ หก ข้อเท็จจริงหลังปี 2505 ไม่อาจนำมาร่วมตีความได้
นายวีรชัย กล่าวว่า 6.ประเด็นที่ศาลตีความ สำคัญที่สุด หนึ่ง ศาลตีความว่าคำพิพากษา ปี 2505 มีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ หนึ่ง ศาลไม่ได้ชี้เขตแดน สอง แผนที่ 1:200,000 มีบทบาทหลัก แต่จำกัดเฉพาะในพื้นที่พิพาทเท่านั้น ถือว่าศาลรับฟังข้อต่อสู้ของเรา สาม อาณาบริเวณปราสาท มีพื้นที่จำกัดมากและศาลโลก ปี 2505 ได้วินิจฉัยชี้ขาดเฉพาะบริเวณพิพาทในคดีเดิมเท่านั้น แม้ว่าเส้นเขตแดนจะยาวกว่า 100 กิโลเมตรก็ตาม สี่ ศาลตีความข้อบทปฏิบัติการปี 2505 ซึ่งศาลเริ่มต้นด้วยว่าทั้ง 3 วรรคต้องตีความรวมกันทั้งหมด ซึ่งศาลเห็นว่าต้องรวมที่ตั้ง ตชด.ของไทย เมื่อปี 2505 ด้วย นั่นคืออยู่ทางทิศเหนือของปราสาทแต่อยู่ใต้เส้นของแผนที่ 1:200,000 ดังนั้นเส้น มติ ครม.ของไทยจึงไม่อาจเป็นขอบเขตได้ เพราะมติ ครม.ของไทยเกิดหลังคำพิพากษาปี 2505
“ศาลยังตีความด้วยว่า ศาลโลกปี 2505 อธิบายพื้นที่รอบปราสาทโดยยึดลักษณะภูมิศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะแคบอย่างชัดเจน โดยยึดสัณฐานทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาท จำกัดอยู่เฉพาะยอดเขาพระวิหาร ไม่รวมภูมะเขือ เพราะมีพื้นที่ภูมิศาสตร์แยกจากกัน ในปี 2505 ผู้ว่าราชการ จ.เขาพระวิหารก็ยอมรับว่าอยู่คนละจังหวัด ทนายความกัมพูชาครั้งนั้นก็ยอมรับว่าภูมะเขือไม่ใช่พื้นที่สำคัญ และเวลานั้นก็ไม่มีทหารไทยอยู่ที่ภูมะเขือ ดังนั้นบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทจึงไม่รวมภูมะเขือ ศาลโลกในปีนี้ จึงจำกัดบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทว่า จะต้องเล็ก แคบ และจำกัด โดยย้ำถึง 3 ครั้ง และสั่งให้ไทยถอนบุคลากรทั้งหมดออกจากบริเวณยอดเขาพระวิหาร แต่ศาลไม่ได้แนบแผนที่ประกอบ จึงไม่มีเส้นให้เราเห็น” นายวีรชัยกล่าว
นายวีรชัย กล่าวว่า 7.เป็นประเด็นที่ศาลโลกเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัย นั่นคือ หนึ่ง ศาลโลกปี 2505 กำหนดเส้นเขตแดนหรือไม่ สอง พันธกรณีถอนทหารของไทยต่อเนื่องจากคำขอของกัมพูชาหรือไม่ และ 8.ศาลระบุเพิ่มเติมว่าไทยและกัมพูชาต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องปราสาทพระวิหารที่เป็นมรดกโลกและจำเป็นต้องมีทางเข้าในที่ราบเข้าถึงตัวปราสาทจากฝั่งกัมพูชา