นิรโทษกรรมและการขออภัยโทษสำหรับมุสลิม
ตลอดครึ่งเดือนที่ผ่านมา กระแสต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับ "สุดซอย-เหมาเข่ง" แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
สาระของการต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกจากการพยายามล้างผิดคดีทุจริต และเหมารวมความผิดไม่แยกประเภทย้อนหลังไปยาวนานถึงปี 2547 แล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ "ความหมาย" ที่แท้จริงของการนิรโทษกรรมซึ่งถูกบิดเบือนไปด้วย
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา นักคิดสายอิสลามคนสำคัญคนหนึ่งในดินแดนปลายด้ามขวาน เขียนบทความเรื่อง "นิรโทษกรรมและการขออภัยโทษสำหรับมุสลิม" เพื่ออธิบายความหมายที่แท้จริงของการ "นิรโทษ" โดยอ้างอิงหลักการทางศาสนาเอาไว้อย่างน่าสนใจ...
"ช่วงนี้มีการพูดถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับสุดซอยกันมาก จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศถอยอย่างไม่เป็นท่า เพราะส่วนใหญ่คนเป็นกลางทั่วทุกสารทิศไม่เห็นด้วย โดยคำว่า 'นิรโทษกรรม' มีความหมายโดยทั่วๆ ไปว่า การทำให้ไม่มีโทษ หรือการอันไม่มีโทษ อาจหมายถึง
- นิรโทษกรรม ในแง่ของ justifable act คือ การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่กฎหมายบัญญัติว่าไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
- นิรโทษกรรม ในแง่ของ amnesty คือ การลบล้างการกระทำความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทำมาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด
อย่างไรก็ดี ตามหลักนิติศาสตร์อิสลามแล้วไม่สามารถอภัยให้กับผู้กระทำความผิดได้ นอกจากบุคคลที่โดนกระทำจะอภัยให้ แต่บางเรื่องก็ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน เช่น ฆ่าบุคคลอื่นโดยเจตนา
หากจะกล่าวถึงการนิรโทษกรรมตามหลักอิสลามแล้ว มีประเด็นที่อยากหยิบยกขึ้นมาพูด คือ สำหรับเดือนนี้ตามปฏิทินอิสลามเรียกว่า 'เดือนมุฮัรรอม' จึงมีข้อเรียกร้องเชิญชวนพี่น้องมุสลิมโดยเฉพาะตามเฟซบุ๊ค (สื่อสังคมออนไลน์ประเภทหนึ่ง) ให้พี่น้องร่วมถือศีลอดในวันที่ 9-10 เดือนมุฮัรรอม หรือตรงกับวันที่ 13-14 หรือ14-15 พ.ย. เพื่อนิรโทษกรรมตัวเองใน 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความเป็นจริงไม่ควรใช้คำนี้ แต่ควรใช้คำว่าพระเจ้าจะอภัยโทษในเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ที่ไม่เกี่ยวกับการไปละเมิดสิทธิผู้อื่นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เพราะท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ความว่า 'การถือศีลอดที่ประเสริฐยิ่งหลังจากเดือนรอมฎอน คือการถือศีลอดเดือนของอัลลอฮ์ที่ต้องห้าม (เดือนมุฮัรรอม)' (บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม อบู-ดาวู้ด และติรมิซีย์)
ท่านถูกถามถึงการถือศีลอดในวันอาชูรออฺ (หมายถึงวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม) ท่านตอบว่า 'ลบล้างความผิดตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา' (บันทึกโดยมุสลิม)
แต่บรรดานักปราชญ์อิสลามศึกษามีทัศนะที่ดีกว่านั้น มุสลิมควรถือศีลอดวันที่ 9-10 เพราะศาสนทูตได้เคยกล่าวไว้ความว่า 'หากฉันมีชีวิตถึงปีหน้า แน่นอนฉันจะถือศีลอดวันที่เก้าและวันที่สิบ' (บันทึกโดยอิหม่ามอะหมัด)
และนักปราชญ์อิสลามศึกษาบางท่านมีความเห็นชอบให้ถือศีลอดวันที่ 10-11 ก็ได้ เพราะมีวัจนศาสดาบทหนึ่งบ่งชี้ถึงการถือศีลอดวันก่อนอาชูรออฺ และวันหลังอาชูรออฺ
หากไม่ใช่วันพิเศษหรือกรณีพิเศษ มีอีกวิธีที่จะให้พระเจ้าอภัยโทษ ซึ่งตามหลักนิติศาสตร์อิสลามเรียกว่าการ 'เตาบัต' หมายถึง 'การที่ผู้กระทำผิดสำนึกตน สารภาพผิด กลับเนื้อกลับตัว และหันเข้าสู่พระเจ้า ด้วยการขออภัยโทษ'
พระเจ้าได้โองการในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า 'และพวกเจ้าทั้งหลาย จงขอภัยโทษต่ออัลลอฮ์เถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เพื่อพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ' (อันนูร 31)
ท่านศาสนทูตมูฮัมหมัด กล่าวไว้ความว่า 'ทั้งหมดของลูกหลานนบีอาดัมนั้นทำผิด แต่ผู้ที่ดีที่สุดในบรรดาผู้ที่ทำความผิดคือผู้กลับเนื้อกลับตัวอย่างต่อเนื่อง' (บันทึกโดย ติรมีซีย์)
แต่การ 'เตาบัต' นั้นก็มีเงื่อนไข สำหรับไขเงื่อนไขของการ 'เตาบัต' มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเสียใจต่อสิ่งที่ทำลงไป การตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่หวนกลับไปทำอีก และจะต้องคืนสิทธิ์ของบุคคลอื่นแก่เจ้าของที่แท้จริงหรือทำให้เจ้าของอภัยให้ ซึ่งถ้าเป็นของส่วนรวมก็ต้องคืนสิทธิ์แก่ทุกคนหรือทุกคนอภัย และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอาจจะทำให้การเตาบัตของเรานั้นสมบูรณ์และเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจ ก็คือ 'น้ำตา' โดยใช้น้ำตาแสดงความเสียใจ ระบายความรู้สึกในหลายๆ โอกาสในการกลับตัวต่อพระเจ้า
จากทั้งหมดที่กล่าวมา การออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่นทั้งส่วนตัวและส่วนรวมจนมีคนจำนวนมากต่อต้าน ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายอิสลามอย่างแน่นอน!"
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สัญลักษณ์ที่ใช้ต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับสุดซอย