ชี้ศาลโลกแค่ตีความคำตัดสินคดีพระวิหาร ปี 2505 ให้ชัดขึ้น
เสวนาผลคดีพระวิหาร อ.นิติ จุฬาฯ ชี้ศาลโลกแค่ตีความพิพากษาปี 2505 ให้ชัดเจนขึ้น ยันไทยเสีย “ปราสาทพระวิหาร-ชะง่อนผา” ให้กัมพูชานานแล้ว
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากกรณีที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ศาลโลก) มีคำตัดสินกรณีที่กัมพูชาขอให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา
ทำให้ นายชุมพร ปัจจุสานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นายไชยวัฒน์ ค้ำชู ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ นายสุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าว ในหัวข้อ “คำตัดสินศาลโลก:คดีตีความปราสาทพระวิหาร” เพื่อชี้แจงให้สังคมเข้าใจประเด็นสำคัญของคำตัดสินของศาลโลกให้มากขึ้น
นายชุมพร กล่าวว่า ศาลโลกไม่ได้ตัดสินอะไรใหม่ เพียงแต่ทำให้คำพิพากษาปี 2505 มีความชัดเจนมากขึ้นเพราะหากยังจำกันได้ คำพิพากษาของศาลโลกในปี 2505 มีใจความสรุป 3 ข้อ คือปราสาทพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ให้ไทยถอนทหาร และให้ไทยส่งคืนวัตถุโบราณ จากนั้นในปีเดียวกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทยก็มีมติลากเส้นรอบล้อมปราสาทพระวิหาร ซึ่งเราคิดว่าเรื่องจบแล้ว เพราะสัมพันธ์ของไทย-กัมพูชาก็ดีกันเรื่อยมา กระทั่งกัมพูชาไปขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จนเกิดข้อขัดแย้ง กระทั่งกัมพูชาไปขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ใหม่
นายชุมพร กล่าวว่า หากใครได้ฟังศาลโลกอ่านคำพิพากษา ประเด็นแรก ศาลโลกพูดเลยว่ารับตีความ เพราะอยู่ในเกณฑ์ตามธรรมนูญศาลโลก ข้อ 60 แต่จะจำกัดกรอบตัวเองให้อยู่ภายใต้คำพิพากษาเมื่อปี 2505 อย่างเคร่งครัด เพราะเป็นเรื่องเก่า ขอให้ตีความใหม่ ไม่ใช่ประเด็นใหม่ และประเด็นที่สอง เรื่องพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งกัมพูชายืนยันว่าใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 หรือแอนเน็กซ์ 1 แต่ไทยใช้สันปันน้ำ ดินแดนของเรายึดตามมติ ครม. ที่ลากเส้นตามชะง่อนผา แต่ศาลโลกพูดชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารอยู่บนชะง่อนผา หรือเป็นไปตามแอนเน็กซ์ 1 แต่ภูมะเขือไม่อยู่ในบริเวณที่เป็นของกัมพูชา
“หากถามว่าเสียดินแดนหรือไม่ ถ้าจะมองว่าเสีย เราก็เสียไปตั้งแต่ปี 2505 ที่ศาลโลกตัดสินให้เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่เนื่องจากที่ผ่านมา 2 ฝ่ายตีความไม่ตรงกัน ศาลโลกจึงมาตีความให้ใหม่” นายชุมพรกล่าว
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ในมุมมองทางรัฐศาสตร์ เมื่อศาลโลกตัดสินแล้ว ก็ควรจะยอมรับ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ เพราะหากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกมองในทางลบ นอกจากนี้ รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศก็ประกาศว่าจะเคารพคำพิพากษาของศาลโลก ส่วนการปฏิบัติตาม ขึ้นอยู่กับเทคนิคการตีความ
ด้านนายสุเนตร กล่าวว่า มีประเด็นที่ศาลโลกฝากไว้ คือประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นสมบัติของมนุษยชาติจึงเป็นพันธกิจของทั้งกัมพูชาและไทย ที่ต้องร่วมกันปฏิสังขรณ์ให้สมบัติของมนุษยชาติอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งตนว่าคงจะขับเคลื่อนไม่ได้ ถ้าภาพความเข้าใจ ยังเริ่มต้นด้วยการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ของปราสาทพระวิหาร ย้อนไปได้ก่อนปี 2505 นับเป็นพันปี
“ที่แห่งนี้มีคุณค่าที่สืบเนื่องจากในอดีตยาวนาน แต่ถูกลืมว่าปราสาทแห่งนี้เคยเป็นแหล่งแสวงบุญสำคัญที่ผู้คนในบริเวณนี้ต่างศรัทธาร่วมกันในศาสนสถานบนเขา คือศรีศิขเรศวร หรือหมายถึงพระอิศวรผู้เป็นใหญ่เหนือเขาไกรลาศ ดังนั้นปราสาทพระวิหารจึงเป็นสมบัติร่วมในทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แสดงถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นของผู้คนด้วยศรัทธาปสาทะที่มีร่วมกัน” นายสุเนตรกล่าว
นายสุเนตร ยังกล่าวว่า แม้คำพิพากษาของศาลโลกจะชัดเจนว่า ปราสารทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่โบราณสถานที่แวดล้อมก็คือสมบัติของมนุษยชาติ ดังนั้นทั้ง 2 ประเทศควรจะร่วมมือกันหาทางว่าจะร่วมจรรโลงสมบัติของมนุษยชาติแห่งนี้อย่างไร
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.politicalbase.in.th