ท่าที“คนเสื้อแดง”บนฐานความแตกแยกหลัง"ยิ่งลักษณ์"สั่งถอยกม.นิรโทษฯ
"..แม้ว่ารัฐบาลจะกลับลำยอมถอย พ.ร.บ.เหมาเข่ง หลังจากโดนแรงกดดันจากหลายฝ่าย ทว่าแรงกดดันดังกล่าวก็มาจากคนภายนอกเสียส่วนใหญ่ โดยที่รัฐบาลไม่เคยฟังคำเตือนของ “มวลชน” เลยแม้แต่น้อย ส่งผลให้เกิดรอยร้าวที่ยากจะประสานขึ้นในใจคนเสื้อแดงบางกลุ่ม ทำให้รู้สึกว่าตนเองกำลังถูก “ทรยศ” และไม่ไว้วางใจพรรคอีกต่อไป.."
หลังจากที่รัฐบาลประกาศจุดยืนยอมถอย “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง” และยอมถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เหลือทั้ง 6 ร่างออกจากวาระการประชุมสภา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา
โดยหวังลดแรงเสียดทานทางการเมืองจากทุกฝ่าย ซึ่งรวมไปถึง “รอยร้าว” ระหว่างกลุ่มเสื้อแดงที่กำลังระอุไม่แพ้กัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รวบรวมการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงหลังรัฐบาลถอยร่าง พ.ร.บ.เหมาเข่ง ดังนี้
สิ่งแรกที่รัฐบาลทำหลังจากถอยคือ การเรียกแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เช่น นายจตุพร พรหมพันธ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) และนางธิดา ถาวรเศรษฐ เข้าพบเพื่อ “เคลียร์ใจ” หลังจากรัฐบาลถูกกล่าวหาว่า “ทรยศ” ต่อมวลชน นอกจากนี้ยังต้องการให้ช่วยกันต่อสู้ร่วมกับ พท. สนับสนุนให้รัฐบาลทำงานต่อเหมือนเดิม
ที่น่าสนใจคือ หลังจาก นปช. ตกลง “จูบปาก” กับรัฐบาลเรียบร้อย ก็เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง โดยในวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีขึ้นที่เมืองทองธานี ชื่องานว่า “นปช. – เพื่อคนไทย ปกป้องประชาธิปไตย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนรัฐบาล และสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ (ฉบับเดิม) เนื่องจากเห็นว่าจะสามารถช่วยประชาชนที่ติดคุกอยู่ได้
และในวันเดียวกับเวที นปช. ที่เมืองทองธานี “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ “บก.ลายจุด” แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ได้จัดกิจกรรม “10,000 UP ขอหนึ่งหมื่นคนเพื่อไม่นิรโทษกรรมคนฆ่าประชาชน” ที่ราชประสงค์ขึ้นเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) นายกรัฐมนตรี ออกมาขอโทษประชาชนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และให้รัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือนักโทษการเมือง
ทั้งนี้ แกนนำ นปช. อย่าง นพ.เหวง โตจิราการ และนายจตุพร พรหมพันธ์ 2 ส.ส. พท. ในฐานะแกนนำ นปช. ได้เข้าร่วม และกล่าวปราศรัยในกิจกรรมดังกล่าว ก่อนจะเดินทางไปขึ้นเวทีที่เมืองทองธานีอีกด้วย
น่าสังเกตว่า คำปราศรัยของ นายจตุพร ไม่มีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกมา “ขอโทษ” แต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากคำปราศรัยของ บก.ลายจุด ที่เรียกร้องให้รัฐบาลออกมา “ขอโทษ” คนเสื้อแดง
จึงน่าสนใจว่า “รอยร้าว” ภายในกลุ่มเสื้อแดงกลับมาประสานกันแล้วหรือไม่ ?
นอกจากนี้ยังน่าสนใจว่า รัฐบาล “เคลียร์” กับ นปช. ด้วยวิธีใด เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 กลุ่ม นปช. ได้ออกโรงเตือนรัฐบาล และแสดงการคัดค้านกรณีออกร่างเหมาเข่งอยู่เลย ดังเช่นความบางตอนของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ที่กล่าวในงานแถลงข่าวประจำสัปดาห์ว่า “หาเรื่องแท้ ๆ เลย อยู่ดีไม่ว่าดีแท้ ๆ เลย และขอบอกว่าคนเสื้อแดงไม่ได้ทอดทิ้งพรรคเพื่อไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้กลัวพรรคเพื่อไทยจะทอดทิ้ง”
อย่างไรก็ตามยังคงไม่มีข่าวคราวการ “เคลียร์” กับกลุ่มแดงอิสระอื่น ๆ เนื่องจากเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมษา – พฤษภา ปี 53 นำโดย “พะเยาว์ อัคฮาด” มารดาของ น.ส.กมนเกด อัดฮาค ได้จัดงานแถลงข่าวแสดงจุดยืนค้านร่างเหมาเข่งเช่นเดียวกัน และกล่าวถึงการที่รัฐบาลพยายามล้างไพ่เหตุการณ์ปี 2553 ว่า “คุณทรยศประชาชนที่เลือกเข้ามา เขาตั้งความหวังเรื่องความยุติธรรม สุดท้ายคุณหักหลังเขา แล้วจะมาบังคับให้ลืม งั้นถ้าเกิดคนที่ตายมีตระกูลชินวัตร จะยอมกลืนเลือดหรือไม่”
ขณะที่ นักวิชาการผู้คว่ำหวอดกับคนเสื้อแดงอย่าง “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงหลังวิกฤติร่างเหมาเข่งดังกล่าวว่า เสื้อแดง กดดันเรียกร้อง นักการเมืองของตัวเองที่อ้างเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ได้ไหม คำตอบคือ ไม่ได้ และส่วนใหญ่ ก็ไม่คิดจะทำด้วยซ้ำ ที่ พ.ร.บ.เหมาเข่ง ล้มไป ไม่ใช่เพราะเสื้อแดงกดดัน แต่เป็นเพราะอีกฝ่ายจัดให้
"ถ้าถามกันจริง ๆ คิดว่าหลังจากนี้จะมีคำขอโทษ คำอธิบาย การแสดงความรับผิดชอบ ในความผิดพลาดมโหฬาร (คนคุกเสียโอกาสไปอีกอย่างน้อย 2 ปี) จากนักการเมือง “ฝ่ายประชาธิปไตย” หรือไม่ ? หรือว่า เรื่องคง “หาย ๆ เงียบไป” และ คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ จะติดใจเรื่องนี้ไหม ? คำตอบผมว่าคง “ไม่”"
แม้ว่ารัฐบาลจะกลับลำยอมถอย พ.ร.บ.เหมาเข่ง หลังจากโดนแรงกดดันจากหลายฝ่าย ทว่าแรงกดดันดังกล่าวก็มาจากคนภายนอกเสียส่วนใหญ่ โดยที่รัฐบาลไม่เคยฟังคำเตือนของ “มวลชน” เลยแม้แต่น้อย ส่งผลให้เกิดรอยร้าวที่ยากจะประสานขึ้นในใจคนเสื้อแดงบางกลุ่ม ทำให้รู้สึกว่าตนเองกำลังถูก “ทรยศ” และไม่ไว้วางใจพรรคอีกต่อไป
คำถามคือในบริบทปัจจุบัน “คนเสื้อแดง” ที่อยู่บนทางแยกของอุดมการณ์ “ประชาธิปไตย” นี้ จะเลือกทางไหน ระหว่าง “หลักการ” หรือ “พรรคการเมือง” ?