อธิการบดีมธ.แนะรัฐปรามคนของตัวเอง หยุดไล่ล่าความเห็นต่าง
อธิการบดีมธ. ชี้ออกมาเช็คบิลคนคัดค้านยิ่งทำ คนยิ่งเกลียด ยันนักวิชาการมีเสรีภาพ เคลื่อนไหวไร้คนบงการ ด้านอธิการบดีมศว ปัดตอบโต้ เหตุต้องการสร้างมาตรฐานที่ดีใน สถานการณ์ที่ล่อแหลม
ภายหลังจากกลุ่มมหาวิทยาลัยหลายสถาบันออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ พร้อมๆ กับการออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้ถูกมองว่า การออกมาคัดค้านในครั้งนี้มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง
รศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า การออกมาโต้ตอบในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ดี หน้าที่ของรัฐบาล คือ การส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ตลอดระยะเวลาการบริหารของรัฐบาลในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เคยมีอธิการบดี สภากรรมการมหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัยท่านใดออกมาคัดค้านรัฐบาลเลย เราตามรัฐบาลมาโดยตลอด
อธิการบดีมธ. กล่าวถึงการที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า การที่หลายมหาวิทยาลัย ออกมาชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น เป็นการเข้าข้างฝ่ายเผด็จการ ขอชี้แจงว่า เราไม่มีการบังคับให้บุคลากรนิสิตนักศึกษามาเข้าร่วม หรือการลงชื่อคัดค้านแต่อย่างใด และการกล่าวเช่นนั้นจะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เชื่อว่าคนพูดไม่เข้าใจว่า การทำหน้าที่ของอธิการบดีในมหาวิทยาลัย ระบบมหาวิทยาลัยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออก
"ในเมื่อเรามีความเห็นตรงกันจึงออกมาคัดค้าน อีกทั้งเราไม่ได้ออกมาคัดค้านในทุกๆ เรื่องที่รัฐบาลทำ ซึ่งครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่เราจึงออกมาคัดค้าน"รศ.ดร.สมคิด กล่าว และว่า สถานการณ์ช่วงนี้ยังไม่สงบจึงไม่อยากให้เกิดการยั่วยุโดยการออกมาพูดว่า ใครอยู่ฝ่ายใคร รวมถึงการออกมาตามเช็คบิล ซึ่งไม่ได้โดนเฉพาะอธิการบดี ยังมีกลุ่มดารา ซึ่งความจริงแล้วควรมองว่า นี่คือการตื่นตัวของประชาชน และเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรส่งเสริม ดังนั้นรัฐบาลควรแยกให้ได้ว่า ใครต้องการติติงหรือเสนอความเห็น กับใครที่ต้องการล้มล้างรัฐบาล เพราะสองเรื่องนี้คือคนละเรื่องกันต้องแยกให้ได้
อธิการบดี มธ. กล่าวถึงการออกมาแสดงจุดยืนของ ทปอ.ว่า ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง เราไม่ได้อยู่ข้างใคร และไม่มีใครบังคับใคร เราเรียกร้องรัฐบาลให้ควบคุมกลไกให้ดี ควบคุมคนที่สนับสนุนรัฐบาลไม่ให้ออกมาตามล้างตามไล่คนที่เห็นต่าง ทำแบบนี้ยิ่งเป็นการสร้างศัตรู เพราะอาจจะทำให้กลุ่มที่มองรัฐบาลดีบ้างไม่ดีบ้าง ดีเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ดีทุกเรื่อง หันมาไม่ชอบรัฐบาลและเป็นการเพิ่มศัตรู ยิ่งถ้าใกล้เลือกตั้งยิ่งจะส่งผลเสียกับตัวรัฐบาลเอง
เมื่อถามว่า การถูกจับตามองในลักษณะนี้จะทำให้กลุ่มสถาบันมหาวิทยาลัยและทปอ.หยุดการคัดค้านหรือแสดงออกทางการเมืองหรือไม่นั้น ดร.สมคิด กล่าวว่า "เราไม่กลัว เรามีอิสระ การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างอิสระและเป็นประโยชน์กับรัฐบาล เราเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีสติ ไม่ได้ออกมาเพื่อบอกว่า รัฐบาลต้องยอมลาออก เราไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น เราเรียกร้องทุกฝ่ายให้ใช้สติในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง และเคลื่อนไหวอย่างปัญญาชนที่มีเหตุผลพอสมควร"
สร้างมาตรฐานที่ดี อย่ากล่าวหาใคร
ด้านผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ มีเสรีภาพทางวิชาการ นิสิตนักศึกษา สามารถแสดงความเห็น หรือเคลื่อนไหวภายในกรอบของกฎหมายและคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้น จึงไม่เคยไปสั่งการหรือชักจูงนักศึกษาจำนวน 2-3 หมื่นคนได้
สำหรับสิ่งที่ต้องออกมาเรียกร้องสาระสำคัญคือให้ถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับสุดซอย ไม่ได้ค้านการนิรโทษ เพราะนิรโทษมีมาตั้งนานแล้ว แต่ทปอ.ไม่เคยออกมาคัดค้าน แต่เนื่องจากกรณีนี้ได้ก้าวล่วงมาถึงการทุจริต หากการนิรโทษจะนิรโทษเฉพาะประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น เราก็เห็นด้วย
อธิการบดีมศว กล่าวด้วยว่า ขอให้ทุกฝ่ายใช้ความสงบและความหวังดีทำให้บ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้ และต้องพยายามอย่ากล่าวหาใครต่อใคร เนื่องจากการตอบโต้ไม่ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ขณะนี้อธิการบดี สภามหาวิทยาลัยถูกกล่าวว่า เป็นผู้ชี้นำชักจูง หรือไปบังคับสั่งการให้นิสิตนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว
"ขอชี้แจงเพียงสั้นๆ ว่า นั่นไม่ใช่เรื่องจริง และจะไม่มีการตอบโต้อีก"ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าว และว่า ที่ผ่านมาแม้จะถูกกล่าวหา แต่เราก็ไม่เคยกล่าวล่วงเกินบุคคลเหล่านั้นด้วยซ้ำ เพราะเราต้องการสร้างมาตรฐานที่ดีให้เกิดขึ้นว่าสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นนี้ ไม่ควรมีการตอบโต้กันไปมา เพราะไม่ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น