ย้อนอดีตคดีปราสาทพระวิหาร กับ “ศรีศักร วัลลิโภดม”
...ปราสาทเขาพระวิหารไม่ได้สร้างเพื่อแสดงการครอบครองว่าใครเป็นใหญ่ แต่สร้างเพื่อบูชาพระศิวะ คนโบราณเขาถือว่าสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพผู้รักษาขุนเขา บูชาเทพต้นน้ำ เราต้องกลับไปสู่จุดเดิม คือใช้พื้นที่ร่วมกัน...”
คำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ต่อคดีปราสาทพระวิหาร ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 อยู่ในความสนใจของคนหลายฝ่าย
“ศรีศักร วัลลิโภดม” นักโบราณคดีที่ติดตามกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง ให้สัมภาษณ์กับ “สำนักข่าวอิศรา” www.isranews.org เพื่อเพิ่มเติมแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ก่อนที่ศาลโลกจะอ่านคำตัดสิน ในเวลา 16.00 น. วันเดียวกันนี้
เริ่มต้นด้วยชี้ให้เห็นถึง ปัญหาของภูมิภาคนี้ที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมว่า
“ตั้งแต่ในอดีต สำหรับคนสองฝั่งหรือคนท้องถิ่น เขาพระวิหารนี้เขาถือเป็นเขาส่วนรวม เหมือนกับปราสาทตาเมือน ชาวบ้านเขาไม่ได้ทะเลาะกัน มันมามีปัญหาตอนแบ่งเขตแดนโดยฝรั่งเศส วิธีการของพวกฝรั่งต้องใช้เส้นเขตแดน ก็บังคับให้ทุกประเทศที่อยู่ในอำนาจต้องมีเส้นเขตแดน แล้วตอนนั้น เมื่อฝรั่งเศสเขาครอบครองญวนได้แล้ว เขาก็ยึดเอาลาวกับกัมพูชาด้วย กัมพูชาอยู่ติดกับไทย เขาก็ใช้อำนาจให้เราต้องปักเขตแดน เขาก็มีเทคนิคในการดูแผนที่ ไทยเราไม่ถนัด ส่งคนไปเรียนก็ไม่ทันเขา เพราะเมื่อก่อนเราไม่ต้องมีเส้นเขตแดน เราเพียงรับรู้ร่วมกันว่าบริเวณไหนเป็นพรมแดน”
ศรีศักรกล่าวว่า เขาพระวิหารเดิมอยู่ในพื้นที่ไทยซึ่งถือเป็นเขมรสูง พื้นที่กัมพูชาเป็นเขมรต่ำ ชื่อนี้เรียกตามลักษณะภูมิศาสตร์ เขมรสูงอยู่ในเขตสยาม เวลาแบ่งเขตกันก็แบ่งตามสันปันน้ำ เส้นที่ตัดลงจากสันเขาไปก็ไปอยู่ทางฝั่งเขมรหรือกัมพูชา
“สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ.2447) ก็แบ่งตามสันปันน้ำ แบ่งแบบนี้ เขาก็ปักเขตแดน เราก็ส่งคนร่วม แต่ตามไม่ทันเขา เพราะเวลาทำแผนที่ เขาถือว่าไม่มีสันปันน้ำ ก็ไม่ปักเขต ซึ่งเขาพระวิหารจริงๆ แล้วไม่มีสันปันน้ำ มันเป็นชะง่อนผา ฝรั่งเศสเขาไม่ยอม เขาก็ไปเอาเส้นที่เป็นทางน้ำไหล ไปตัดเอาตรงนั้นแล้วก็ถือว่าเป็นจุดเขมร เขาก็ไม่ปักเขตแดนตรงสันปันน้ำ แต่ไปปักตรงช่องสะงำ เราก็ตามไม่ทันเขา เป็นที่มาของแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ทีทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) ต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาเวลานั้น มาฟ้องว่าบรรพบุรุษเขาสร้างไว้ เขาจะทวงปราสาทคืน เราก็ตามไม่ทันเขา เราก็เชื่อฝรั่งเกินไป เราย่ามใจ ตอนยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เราก็พลาด ตั้งทีมทนายก็แพ้ เพราะศาลโลกก็ถูกคุมโดยประเทศใหญ่ๆ”
ศรีศักรยังระบุว่า แต่เมื่อเราแพ้คดีในศาลโลก ปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) จอมพลสฤษดิ์ ยอมให้พื้นที่ที่ตั้งปราสาทเป็นของเขมร แต่พื้นที่รอบๆ ไม่ให้ และจอมพลสฤษดิ์ใช้แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ตารางกิโลเมตร ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1904 ที่ระบุว่าใช้สันปันน้ำเป็นเขตแดน แล้วปราสาทก็อยู่อย่างนั้น เขมรเขาก็ไม่ได้ขึ้นมา ปราสาทก็อยู่อย่างนั้นเรื่อยมา
“แต่ตรงนั้นก็มีปัญหาคือมีการลักลอบตัดไม้ เมื่อเกิดเขมรแดง เขมรแดงก็ขึ้นมา พอเขมรแดงสิ้นไป ปราสาทก็อยู่เรื่อยมา แต่เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามา ก็มีการเปิดพื้นที่ให้เป็นการท่องเที่ยว จากเดิมที ในยุคสมัยจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็น รมว.มหาดไทย มีการกำหนดว่าโคปุระ สระตราว และกั้นบันไดนาคราช คือกำหนดว่าเขตเขมรอยู่ถึงแค่บันไดนาคราช อยู่โคปุระที่ 1 หากเขมรจะขึ้นมา ก็ขึ้นมาทางบันไดหัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวไปเปิดพื้นที่ เขมรก็เลยร่นเข้ามาจนเขตเขมรมาอยู่ถึงบันไดสิงห์ เหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น"
เขากล่าวว่า พวกการท่องเที่ยว ฝ่ายไทยเข้าไปทำทั้งนั้น ภายหลังฝ่ายกัมพูชาถึงได้เข้ามาต่อมารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไปลงนามในเอ็มโอยูปี พ.ศ.2543 พอรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ยุคทักษิณ ชินวัตร ก็ไปทำเอ็มโอยูสามเหลี่ยมมรกต ร่วมกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีเรื่องการพัฒนาเขาพระวิหารด้วย กระทั่งเมื่อปี 2550 รัฐบาลพรรคพลังประชชนยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทหารก็ไม่ยอมเพราะมันมีการละเมิดอธิปไตย
“ตอนที่นพดล (ปัทมะ รมว.ต่างประเทศเวลานั้น) ไปเซ็นแถลงการณ์ร่วม นพดลก็ยอมรับเฉพาะที่ตัวปราสาทว่าเป็นมรดกโลก และพื้นที่รอบๆ จัดการร่วมกัน แต่มันไม่หยุดแค่นั้น มันไม่ใช่แค่ตัวปราสาท เพราะมันเป็นไซต์ของมรดกโลกที่มันก็ต้องกินพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรด้วย แม้แต่ปองพล (อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการอนุสัญญาการคุ้มครองมรดกโลก) ก็คิดว่าเราจะใช้พื้นที่ร่วมกันกับกัมพูชา แต่มันไม่ใช่ เพราะการจะเป็นมรดกโลกนั้น มันรู้อยู่แล้วว่าแค่ตรงปราสาทมันไม่พอ เพราะมรดกโลกต้องมีพื้นที่มากกว่านั้น”
ศรีศักร กล่าวว่า ทางออกของเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร คือต้องมาบริหารจัดการร่กัน
“สมัยจอมพลสฤษดิ์ เรายอมแพ้ศาลโลก เสียปราสาทให้เขา แต่พื้นที่รอบๆ ใช่ เรายังถือว่าเป็นของเรา แต่ตอนนี้ก็มีกลวิธี มีทริกที่จะเอาพื้นที่รอบๆ ด้วย เราไม่ทันเกมเขา มันบานปลาย ไม่ใช่แค่ตัวปราสาทแล้ว เพราะการจัดการแข่งเขตตามแผนที่มาตรส่วน 1:200,000 ถ้าเรายันเขาไม่ได้แล้วแพ้ตรงนี้ เขาจะใช้แผนที่นี้กำหนดเส้นเขตแดนใหม่ ไปถึงพื้นที่ทางทะเล”
เขายังมองว่าคำพิพากษาของศาลโลกในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 จะมีตัวแปรสัญญาคือสหรัฐอเมริกา ที่จะเข้าจัดการกัมพูชา เพราะมองว่าช่วงหลังกัมพูชาเอียงไปทางจีน ต่างกับไทยที่อยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่ายทั้งสหรัฐฯและจีน
“พื้นที่ตรงนี้ หากส่วนไหนอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย เราก็นำมาพัฒนาร่วมกัน และต้องเปิดผลประโยชน์ให้กับคนท้องถิ่น ไม่ให้นายทุนจากข้างนอกเข้ามา เราต้องกลับสู่ยุคโบราณที่คนสองประเทศอยู่ร่วมกันได้ เพราะปราสาทเขาพระวิหารไม่ได้สร้างเพื่อแสดงการครอบครองว่าใครเป็นใหญ่ แต่สร้างเพื่อบูชาพระศิวะ คนโบราณเขาถือว่าสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพผู้รักษาขุนเขา บูชาเทพต้นน้ำ เราต้องกลับไปสู่จุดเดิม คือใช้พื้นที่ร่วมกัน”
ภาพประกอบ - ศรีศักร วัลลิโภคม จากเว็บไซต์ www.lek-prapai.org