โครงการภาคเอกชนเฮ! สผ.สั่งลดเวลาพิจารณา EIA 3 ขั้นตอนให้สั้นลง
"วิเชษฐ์ เกษมทองศรี" ให้นโยบายปรับลดระยะเวลาการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ดีเดย์ นำมาใช้กับโครงการของภาคเอกชน โดยเฉพาะที่พักอาศัย บริการชุมชนและสถานที่พักตากอากาศ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า ได้เห็นชอบตามนโยบายที่ได้สั่งการให้ สผ.ปรับลดระยะเวลาในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สั้นลง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยยังคงมาตรฐานความเข้มข้นทางด้านวิชาการและความโปร่งใส
ทั้งนี้ ขั้นตอนการพิจารณา EIA มีทั้งสิ้น 4 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 “ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสาร” โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งสามารถปรับลดระยะเวลาลงจากเดิมภายใน 15 วัน คงเหลือภายใน 7 วันทำการ
ขั้นตอนที่ 2 “ทำความเห็นเบื้องต้น” โดยเจ้าหน้าที่ สผ.จะต้องไปตรวจสอบพื้นที่โครงการที่จะดำเนินการ เพื่อประกอบการทำความเห็นเบื้องต้นให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ภายใน 15 วัน
ขั้นตอนที่ 3 “การพิจารณาของ คชก.ครั้งที่ 1” พิจารณารายงาน EIA ภายใน 45 วัน หากโครงการใดที่ คชก. มีความเห็นหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อให้ “คชก. พิจารณารายงาน EIA ครั้งที่ 2”
ในประเด็นดังกล่าว ภายใน 30 วัน เป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งในขั้นตอนนี้ สผ. ได้ออกแนวทางปฏิบัติให้ผู้มีบทบาทหน้าที่ใน คชก. อาทิ ประธาน, ฝ่ายเลขานุการ, หน่วยงานอนุญาต และผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ให้มีประเด็นเพิ่มเติมจากความเห็นที่ให้ไว้ในขั้นตอนที่ 3 เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ
สำหรับหลักเกณฑ์การปรับลดระยะเวลาการพิจารณารายงาน EIA ดังกล่าว นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะนำมาใช้กับโครงการของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการด้านที่พักอาศัย บริการชุมชนและสถานที่พักตากอากาศ หากแต่โครงการของรัฐในปัจจุบันก็ได้มีการปรับใช้กรอบการพิจารณาใกล้เคียงกับโครงการของภาคเอกชน
แต่ทั้งนี้เนื่องจากผลกระทบจากโครงการของรัฐ อาจเกิดผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง จึงไม่อาจกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนได้
แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะพยายามปรับปรุงระบบ EIA เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่ช่วยใช้ประกอบการตัดสินใจในการอนุมัติโครงการต่าง ๆ ให้มีความโปร่งใส รวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้มีนโยบายในการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ที่สามารถขอรับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA ตามมาตรา 46 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยจะกำหนดให้โครงการประเภทอาคารอยู่อาศัยรวม และโรงแรมที่มีความสูงน้อยกว่า 23 เมตร (8 ชั้น) และพื้นที่ใช้สอยรวมทุกอาคารน้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร สามารถขอรับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA โดยจะต้องยินยอมปฏิบัติตามมาตรการ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ และหลักเกณฑ์ วิธีการที่โครงการหรือกิจการสามารถขอรับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำ รายงาน EIA ต่อไป
นายวิเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นี้มีความเข้มข้นไม่ต่างจากมาตรการในกระบวนการพิจารณาของ คชก. รวมทั้ง ผู้ประกอบการจะต้องยินยอมปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว รวมถึง ต้องมีการสำรวจ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงในรัศมี 500 เมตร จากพื้นที่โครงการหรือกิจการ และหน่วยงานอนุมัติจะต้องมีการติดตามตรวจสอบผลการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ซึ่งประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าว จะนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้