มาตรา 190 กับการคิดสั้นของนักการเมืองเสียงข้างมาก
กระแสการคัดค้านการทูลเกล้าเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 ที่พรรครัฐบาลเสนอแก้ไขให้รัฐบาลไทยสามารถทำข้อตกลงระหว่างประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านมติความเห็นชอบของรัฐสภา ทำให้เกิดคำถามตามมาหลายประการ ทั้งในแง่ของความเคลือบแคลงเรื่องการหวังผลทางการเมือง ความกังวลเรื่องปราสาทเขาพระวิหารและการเสียดินแดนอื่นๆ และความกังวลว่าจะหยุดกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าได้อย่างไร?
แต่ผมได้รับคำถามข้อหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ แล้วต่างประเทศเขามีมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ หรือไม่? มีไว้ทำไม?
คำตอบของคำถามข้อนี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมเราจึงต้องช่วยกันคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้
คำตอบ หลายประเทศก็มีมาตราเช่นเดียวกับมาตรา 190 เดิม
นั่นคือ แทนที่จะยกอำนาจโดยสมบูรณ์ให้กับรัฐบาลในการไปทำข้อตกลงกับต่างประเทศ (ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเขตแดน แต่รวมถึงการทำข้อตกลงทางการค้าด้วย) รัฐธรรมนูญ (หรือกฎหมายอื่นๆ) ของประเทศนั้น จะตั้งเงื่อนไขให้รัฐสภาต้องให้สัตยาบันก่อน ข้อตกลงนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้ได้จริง
ในมาตรา 190 เดิมของเราก็ระบุในแนวทางนี้เช่นกัน แต่รัฐบาลไทยมองการให้สัตยาบันหรือการขออนุมัติจากรัฐสภาว่า เป็นเรื่องเยิ่นเย้ย เป็นการอภิปรายที่น่ารำคาญ เราจึงเสนอแก้ไขเพื่อตัดส่วนนี้ออกไป
แต่หลายประเทศซึ่งมีมาตรานี้มาเป็นสิบเป็นร้อยปี เขากลับไม่เคยคิดตัดมาตรานี้ออกไป คำถามคือทำไม? เขาใช้ประโยชน์อะไรจากมาตรานี้ ?
คำตอบคือ เขาใช้ความเป็นอิสระระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศครับ
ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เวลาเจรจาข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่นๆ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะ “ขู่” เสมอว่า ถ้าไม่ยอมตามข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา หรือถ้าไม่ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์ตามที่สหรัฐฯ ควรจะได้ ก็ให้ระวังไว้ว่า ในที่สุดแล้ว “ข้อตกลงที่อุตส่าห์เจรจากันมานั้นจะถูกคว่ำโดยรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา” (แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจจะยอมทำข้อตกลงนั้นไปแล้วก็ตาม)
ผลที่ตามมาก็คือ รัฐบาลของประเทศอื่นที่อยากจะทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ก็มักจะยอมตามข้อเรียกร้อง เพราะเกรงว่าในสุดท้ายแล้ว หากไม่ยอมตามรัฐบาลสหรัฐฯ (หรือไม่ยอมให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์อย่างที่สหรัฐฯ ต้องการ) ในที่สุด ข้อตกลงนั้นก็จะต้องถูกคว่ำไปโดยรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา
จะเห็นได้ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ได้มองว่า การเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเป็นมาตรการที่เยิ่นเย้ย ตรงกันข้าม ความเป็นอิสระของรัฐสภาอเมริกัน (ซึ่งเป็นอิสระจริงๆ) กลับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างอำนาจต่อรองของชาติ และอำนาจในการยื่นคำขาดให้กับสหรัฐอเมริกา
นายโธมัส เชลลิ่ง นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าวไว้ว่า การลดอำนาจโดยสมบูรณ์ของตนเอง (ในที่นี้คือรัฐบาล) ในการตอบ yes หรือ no ในระหว่างการเจรจาต่อรองของทั้งสองฝ่าย แต่ยกอำนาจนั้นให้บุคคลหรือองค์กรที่สาม (ในที่นี้คือรัฐสภา) เท่ากับ เป็นเพิ่มความน่าเชื่อถือในการยื่นคำขาดของฝ่ายตน ทั้งนี้เพราะในที่สุดแล้ว ผู้ที่จะบอกว่าจะยอมได้หรือยอมไม่ได้ไม่ใช่ตน (หมายถึง ไม่ใช่ตัวรัฐบาลเอง)
น่าเสียดายที่นักการเมืองไทย และรัฐบาลไทยกลับมองไม่เห็นอำนาจต่อรองของชาติในแนวทางนี้ แต่กลับคิดว่า เป็นเรื่องน่ารำคาญ และขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็มักต้องการว่าโชว์ “เพาเวอร์” กับรัฐบาลในประเทศอื่นๆ (โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านชาติหนึ่ง) ว่าตนนั้น “คุมได้” (คล้ายๆ กับนักเลงไทย ทั่วๆ ไป) ก็เลยไม่อยากใช้อำนาจต่อรองขอรัฐสภา เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของชาติไป ตรงข้ามจึงอยากโชว์อำนาจของตน แม้ว่านั้นจะเป็นการลดอำนาจการต่อรองของชาติไปก็ตาม
ซ้ำร้ายกว่านั้น รัฐบาลไทยยังอาจจะวาระซ่อนเร้นในการต่อรองกับประเทศอื่น เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ส่วนตนกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล ทำให้รัฐบาลรู้สึกกังวล หรือแม้กระทั่ง เกรงกลัวการตรวจสอบของรัฐสภา และมองข้ามประโยชน์ของการขอความเห็นชอบของรัฐบาลในฐานะการสร้างอำนาจต่อรองของชาติไปอย่างน่าเสียดาย
ด้วยความคิดสั้นของนักการเมืองเสียงข้างมากในเมืองไทย ที่ผ่านมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ทำให้อำนาจต่อรองของชาติลดลงอย่างไม่น่าอภัย ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลอันชอบธรรมที่ประชาชนจะต้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จนถึงที่สุด
ผมเกรงว่า เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ชอบคิดสั้น อายุของรัฐบาลก็คงจะสั้นตามไปด้วย แม้จะเสียงข้างมากท่วมท้นในทั้งสองสภาฯ ก็ตาม เพราะขืนต่ออายุของรัฐบาลนี้ออกไป อนาคตของประเทศไทยก็คงจะสั้นลงไปตามวิธีคิดของรัฐบาล
เพราะฉะนั้น ประชาชนคงต้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จนถึงที่สุด
ที่มา:https://www.facebook.com/decharut.sukkumnoed?hc_location=timeline