นักวิชาการ-เหยื่อความรุนแรง แนะ รบ.ยุบสภารักษาระบบการเมือง
ราชดำเนินเสวนาหาทางออกวิกฤติ กม.นิรโทษ ชี้ต้องหยุด พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้เด็ดขาด มองยุบสภาเป็นทางออกช่วยรักษาระบบการเมือง แนะรัฐบาลรับผิดชอบ ขอโทษ ปชช. รอบรรยากาศยอมรับแล้วเดินตามข้อเสนอ คอป.
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวที ราชดำเนินเสวนา เรื่อง "ทางออกวิกฤติ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กับแนวโน้มกรเมืองไทย" ณ ห้องประชุมอิศรา อมันกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวฯ โดยมี ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายไพรโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายทวี ประจวบลาภ ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม และนางพะเยาว์ อัคฮาค ญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย.-พ.ค. 53
น.ส.รสนา กล่าวว่า การถอยของรัฐบาลเป็นเพียงยุทธวิธีเท่านั้น และโยนความผิดให้ ส.ว.ที่ไม่รับร่างฯ ฉบับนี้ ขณะที่ ส.ส.อีก 310 เสียง ไม่ต้องรับโทษหรือลอยตัวหนีปัญหา สำหรับทางออกของสถานการณ์นี้ วุฒิสภาควรตีความว่าเป็นกฎหมายการเงินที่นายกรัฐมนตรีจะต้องลงนาม และหากไม่ลงนามกฎหมายฉบับนี้จะตกไป
"ล่าสุดทราบข่าวว่ามีคำสั่งให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาคุมตำรวจแทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เพื่อเตรียมปราบผู้ชุมนุม รวมถึงได้ระดมคนเสื้อแดงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญหน้า ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ ส.ว.ไม่เข้าประชุมวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา เพราะไม่อยากมองเป็นสภาทาส และเป็นเครื่องมือให้ตำรวจปราบปรามประชาชน"
ดึงมวลชนมาสู้กันในสนาม ไม่ใช่ทางออกที่ รบ.ควรทำ
ด้าน นายไพโรจน์ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมกว่า 20 ครั้งที่ผ่านมาของประเทศไทย เป็นการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ หรือความผิดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ครั้งนี้นิรโทษกรรมให้การฆ่าคน ทำร้ายชีวิตคน รวมถึงความผิดที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ได้แก่การทุจริต ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกทำกัน จะเป็นมาตรฐานใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น
"คนทำผิดจะลอยนวล สังคมไทยกำลังสมคบกับการทำผิด ยินยอมให้มีการฆ่าคนได้ โดยใช้กฎหมาย เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องในสังคมไทย ทุกครั้งที่ทำความผิดแก่ชีวิตต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ตัวเอง จะยินยอมให้มีการฆ่ากันไม่ได้ โดยเฉพาะความผิดจากการทุจริต ซึ่งเป็น 'ความผิดโดยแท้' มีเจตนาร้ายต่อบ้านเมือง เพราะความผิดทางการเมืองไม่ใช่เจตนา เป็นความคิดเห็นที่แตกต่าง"
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ตามข้อเสนอคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กระบวนการยุติธรรมปกติต้องทำหน้าที่ด้วย ใครที่ทำความรุนแรงต้องเข้าสู่กระบวนการนี้ ยอมรับผิด จึงเข้าสู่การขออภัย ไม่ใช่อยู่ๆ มาบอกว่าจะปรองดอง และกระบวนการยุติธรรมจะสามารถแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้น ในช่วงมีปัญหาประกาศการชุมนุมสามารถปล่อยตัวให้ต่อสู้คดีได้ แต่กระบวนการยุติธรรมปกติไม่ทำงานเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ กลับยิ่งซ้ำเติมความรุนแรงมากขึ้น
"ทางออกที่รัฐบาลเลือกกลับคิดให้ประชาชนมาต่อสู้กันในสนาม โดยเชื่อว่าการเอามวลชนมาจะเกิดความชอบธรรม ซึ่งไม่ใช่ แต่จะกลับไปสู่วงจรความขัดแย้ง การเผชิญหน้า นี่ไม่ใช่ทางออกของรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือถอนร่างฯ ฉบับนี้ออก ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมให้ประชาชน มีร่างหลายฉบับที่สามารถนำมาเสนอใหม่ได้ เช่น ร่างของนางพะเยาว์ ที่สามารถให้ประชาชนเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อแล้วเสนอใหม่ได้"
นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ผู้นำการเมืองทุกฝ่าย ต้องหยุดอำมหิต หยุดกดปุ่มที่นำไปสู่ความรุนแรง ขณะที่ประชาชนต้องมีวุฒิภาวะในการจัดการความขัดแย้งที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง และสถาบันต่างๆ ในสังคมต้องสุมหัวคิดว่าทำอย่างไรให้เกิดความปรองดองจริงๆ แล้วผลักดันให้ฝ่ายการเมืองรับผิดชอบต่อประชาชน แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังรับผิดชอบต่อใครไม่รู้ กรณีชี้ชัดจากการที่รัฐบาลออกกฎหมายฉบับนี้มา
จี้ รบ.รับผิด ขอโทษ ปชช.นำข้อเสนอ คอป.มาพิจารณา
ขณะที่ นางพะเยาว์ กล่าวว่า สถานการณ์สังคมขณะนี้ค่อนข้างล่อแหลม การคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม บนท้องถนนอาจนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตาย อย่างภาพในปี 2553
"รัฐบาลพรรคเพื่อไทย พูดถึงประชาธิปไตย แต่ต้องยึดประชาธิปไตยเป็นหลักด้วย มีความสุขุมในการแก้ปัญหามากขึ้น ทำทุกวิถีทางไม่ให้เกิดความรุนแรง ทั้ง 2 ฝ่ายควรถอยคนละก้าว ไม่อย่างนั้นเกรงว่าประชาชนจะตกเป็นเหยื่ออย่างที่เกิดขึ้นในทุกยุค ทุกสมัย ความรุนแรงที่ผ่านมาไม่มีนักการเมือง หรือแกนนำเจ็บ ล้มตาย"
นางพะเยาว์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องยอมรับว่าคิดผิดพลาด และต้องรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีต้องออกมารับผิดชอบด้วยการขอโทษประชาชน เช่นเดียวกับ ส.ส.ทุกคนที่ยกมือโหวตก็ต้องออกมาขอโทษประชาชน ไม่ใช่ทำพลาดแล้วเฉย ถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ
"หากรัฐบาลต้องการลดอารมณ์ของประชาชนต้องออกมาขอโทษหรือทำทุกอย่างเพื่อรับผิดจริงๆ ที่ผ่านมารัฐบาลพูดแต่ว่ามาจากประชาธิปไตย แต่เมื่อรัฐบาลผลักดันทำร่างฯ ฉบับนี้ คำว่าประชาธิปไตยได้หลุดออกไปแล้ว เพราะใช้เผด็จการ ใช้เสียงข้างมาก ทำให้สังคมคุกรุ่น เปรียบเหมือนระเบิดเวลา" นางพะเยาว์ กล่าว และว่า เมื่อยุติ ยับยั้งร่างฯ ฉบับนี้แล้ว รัฐบาลและรัฐสภาต้องแสดงเจตจำนง โดยนำผลการศึกษาและข้อเสนอของ คอป.มาพิจารณาว่า ก่อนที่จะประกาศว่าปรองดอง ต้องทำอย่างไร มีกระบวนการอย่างไรบ้าง และปฏิบัติตามอย่างเป็นรูปธรรม และหากมีความจริงใจในการช่วยเหลืออาจออก พ.ร.ก.สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง ให้มีอิสระจากการคุมขัง เพราะการพิสูจน์ความจริงต้องใช้เวลา
"ดิฉันยอมเดินบนถนนใหญ่ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ทั้งลูกและผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์ แม้จะเดินเพียงลำพังก็ตาม แต่ยืนยันว่าจะไม่ยอมกลืนเลือดลูก เพื่อเดินตามหลังคนที่ทรยศประชาชนอย่างเด็ดขาด และขอให้ทั้ง 2 พรรคหยุดใช้มวลชนเป็นเหยื่อความรุนแรง"
ปชช.ไม่ว่าสีไหน ล้วนต้องการปฏิรูปประเทศ
ด้าน นางนิชา ตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีของรัฐบาลเป็นความพยายามที่จะปรองดองหรือคิดว่าเป็นเกมที่ยังไม่จบ เกรงว่าจะยับยั้งแบบเป็นเกมการเมืองเท่านั้น หากรัฐบาลมีความตั้งใจจริง ควรหยุดกฎหมายฉบับนี้ เว้นรอช่วงเวลาให้เกิดบรรยากาศยอมรับแล้วค่อยเริ่มกระบวนการตามขั้นตอน เช่น ข้อเสนอของ คอป.หรือสถาบันพระปกเกล้าที่มาการศึกษาไว้ค่อนข้างละเอียด รวมถึงมีกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริง
"นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปัดภาระการค้นหาความจริงไปให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้เลย เพราะการนำข้อเสนอของ คอป.ไปปฏิบัติ เป็นสิทธิ์ขาดของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาไม่แตะเรื่องนี้เลย รัฐบาลอย่าใจร้ายปล่อยให้ประชาชนทะเลาะกันเองว่าใครเป็นคนฆ่า ทั้งนี้ ควรตั้งกรรมการที่มาจากการยอมรับของทุกฝ่ายมาหาทางออก เพราะหมดความเชื่อมั่นในการทำคดีของดีเอสไอแล้ว"
ส่วนการเมืองจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ นางนิชา บอกว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเดินอย่างไร เพราะกลไกรัฐสภาพังแล้ว หากตัดตัวบุคคลออกไปได้ ประชาชนไม่ว่าสีไหนก็กำลังพูดเรื่องเดียวกัน คือ ความต้องการปฏิรูปประเทศ ที่ไม่ใช่การปฏิรูปที่ถูกเซตขึ้น ทั้งนี้ ขอพลังข้าราชการที่ค่อนข้างยึดติดกับความเป็นกลาง ให้ตีโจทย์ความถูกต้อง ผลประโยชน์ประชาชนและบ้านเมือง ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงในทุกเหตุการณ์
ขณะที่ นายทวี กล่าวว่า วิธีการที่รัฐบาลจะหลุดจากสถานการณ์นี้ได้อย่างเร็วที่สุด คือ ยุบสภา ขอให้เสียสละ ทุกอย่างจะจบเร็วขึ้น และจะเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ จากนี้เชื่อว่านักการเมืองจะสุขุมรอบคอบมากยิ่งขึ้น แต่นักการเมืองไทยยังไม่รู้จักการขอโทษ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม ฆ่าคนตายมากี่ครั้งยังไม่รู้สำนึก อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่ากระบวนการตรวจสอบการตายต้องเกิดขึ้น เพราะหากอภัยโทษ นิรโทษกรรมตลอดก็ไม่ถูกต้องนัก
ชี้ทางออกปัญหา 'ยุบสภา' – ทำให้กม.นิรโทษตายไป
ด้าน ศ.ดร.นครินทร์ กล่าวว่า การคัดค้านค้านกฎหมายนิรโทษกรรมทำให้ฝ่ายภาคประชาชน กลุ่มคนอาชีพต่างๆ เคลื่อนก้าวหน้าไปมาก มีทั้งอารมณ์และการเรียนรู้ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การประชุมวุฒิสภาที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่ยับยั้งแล้วหมายความว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะตาย แค่สลบเท่านั้น และการยับยั้งนี้ทำให้อำนาจวุฒิสภาหมดลง อำนาจกลับไปที่สภาผู้แทนฯ ที่ยืนยันก็สามารถทูลเกล้าฯ ได้เลย ดังนั้น คำว่า ยับยั้ง จึงเป็นแค่สำนวน วาทศิลป์ วาทกรรมทางการเมือง
"ทางออกปัญหาเฉพาะหน้า ต้องทำให้กฎหมายฉบับนี้ตายไป เพราะเป็นกฎหมายที่เนื้อหาผิด ขนบธรรมเนียมของกฎหมาย นิรโทษ 9 ปียอมรับไม่ได้ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเรียนรู้ว่าอำนาจ ขอบเขตทำได้ไม่ได้แค่ไหน ทางที่ดีควรจะรักษาระบบเอาไว้ เทคนิคทางกฎหมายสามารถทำให้ร่างฯ ฉบับนี้ ตายได้ในวัน 2 วัน ไม่ว่าจะโดยข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือนายมีชัย ฤชุพันธุ์" ศ.ดร.นครินทร์กล่าว และว่า การยุบสภาจะเป็นวิธีการที่รักษาระบบการเมืองไว้ได้ดีที่สุด ซึ่งการรักษาระบบหรือการยุบสภาไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งจะหมดไป แต่เป็นทางที่ทำให้คนกลับมาคุยกันได้อย่างสันติ