อบจ.-ม.อุบลฯ ร่วม สกว.เตรียมเซ็น MOU ดึงงานวิจัยชาวบ้านนำร่องแก้ปัญหาชุมชน
สกว.นักวิชาการ อบจ.อุบลฯ ถกคุณค่างานวิจัยท้องถิ่น โชว์นวัตกรรมแอร์แวรแก้ปัญหาน้ำ และอนุรักษ์กลองตุ้ม เตรียมลงนามความร่วมมือนำร่องแก้ปัญหาน้ำชุมชน 8 พื้นที่
เร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นักวิชาการ นักวิจัยชาวบ้าน จัดเวทีเสวนา “ค้นหาคุณภาพและคุณค่าของงานวิจัยท้องถิ่นสู่ความเข้มแข็งของชุมชน”
ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ชุมชน นักวิจัยส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่นโดยจะมีพี่เลี้ยงนักวิจัยคอยให้คำปรึกษา คุณภาพของงานวิจัยประเมินผลได้จากการสร้างคนในท้องถิ่นให้รู้จักตัวเองและชุมชน ตื่นตัวในปัญหาและรวมตัวกันหาแนวทางแก้ไข รื้อฟื้นภูมิปัญญาองค์ความรู้เดิมเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตย สร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง
ด้าน อ.คำล่า มุสิกา หัวหน้าชุดโครงการวิจัยอนุรักษ์กลองตุ้ม จ.อุบลราชธานี กล่าวว่าก่อนนี้ชาวบ้านยังมองไม่เห็นตัวเอง เมื่อกระบวนการวิจัยเข้าไปส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของกลองตุ้ม มีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีการฟ้อน การออกแบบลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชุมชน ทำให้หน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลเห็นความสำคัญและเข้ามาสนับสนุนโดย จัดประกวดกลองตุ้ม เป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาสอนนักศึกษาต่อด้วย
อ.กล พรมสำลี หัวหน้าโครงการการจัดการน้ำบ้านผาชัน กล่าวถึงความสำเร็จในการนำงานวิจัยมาแก้ปัญหาน้ำดื่มกินในหมู่บ้าน โดยเกิดนวัตกรรม “แอร์แวร์” จนได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่น ทำให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจ และสามัคคีกันมากขึ้น
ทั้งนี้ในวันเดียวกันที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)อุบลราชธานี ยังมีการหารือแนวทางความร่วมมือการแก้ไขปัญหาน้ำในชุมชนโดยใช้งานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือ
นางมัสยา คำแหง ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น อุบลฯ กล่าวว่ากระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะเน้นให้ชาวบ้านคิดปัญหา เก็บข้อมูล ค้นหาทางออกร่วมกัน ทำให้ชุมชนเกิดความสามัคคี ในขณะที่ อบจ.ก็มีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอยู่แล้ว ถ้าหากมีการประสานความร่วมมือกัน ก็จะแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างตรงจุด
ด้าน นายพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลฯ กล่าวว่เตรียมลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาเขียนแผนดำเนินงานนำร่อง 8 พื้นที่ ซึ่งมีฐานงานวิจัยเดิมของสกว.4 พื้นที่ และพื้นที่ใหม่ของ อบจ.อีก 4 พื้นที่ และพร้อมจะร่วมมือกับ ม.อุบลฯ รวมทั้งการลงนามความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ สกว.เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
ที่มาภาพ : http://jcute12.wordpress.com/category/kriengsak-article/