จุฬาฯ จัดเสวนา ต่างจุดยืนต้านพ.ร.บ.เหมาเข่ง เห็นพ้องนิรโทษเฉพาะผู้ชุมนุม
บก.ลายจุด ตั้งฉายา "สภาฯฮัลโลวีน" ย่ามใจออกกฎหมายตอนตี 4 ด้านนักวิชาการรัฐศาสตร์ ชี้ทางออกให้วุฒิสภาแก้ตัวเนื้อหาให้เหลือเพียงนิรโทษประชาชน โดยตั้งคณะกรรมการแบบเต็มสภาที่สามารถข้ามไปพิจารณาในวาระ 3 โดยไม่ต้องผ่านวาระ 2
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนารัฐศาสตร์ภาคประชาชน "หลากหลายความคิดต่อการค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ณ ห้อง 103 อาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์ (ตึก 1 ) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
โดย ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาฯ กล่าวถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมที่เป็นหลังการที่คิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมโดยถึงกฎหมายเป็นใหญ่ วัตถุประสงค์หลักของการตรากฎหมายนิรโทษกรรมตามหลักการนั้นเพื่อความยุติธรรมโดยการยกเว้นโทษแก่ผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายหรือผิด เพราะกฎหมายมีความบกพร่อง มิใช่การนิรโทษให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย
"การตรากฎหมายนิรโทษกรรมต้องดูรัฐธรรมนูญเป็นหลัก รวมถึงกฎกติการะหว่างประเทศที่ไทยได้ร่วมลงนามไว้อย่าง เนื้อหาสาระต้องมีความชัดเจน หากขัดกับหลักการข้างต้นถือได้ว่าขัดต่อหลักนิติรัฐนิติธรรม" ดร.พรสันต์ กล่าว และว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีกระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างที่ผ่านสภาฯ ในวาระ1 ไปแล้วว่าจะนิรโทษเฉพาะประชาชน แต่กลับมีการเปลี่ยนถ้อยคำและเติมข้อความบางอย่างลงไป อีกทั้งยังมีเนื้อหาไม่ชัดเจนทำไปสู่การตีความที่คลุมเครือ ไม่มีการพิจารณาถึงความผิดที่จะทำการนิรโทษและละเมิดระบบกฎหมาย
"กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เข้าสู่การตัดสินของศาลที่มาจากการรัฐประหาร หากจะให้ยุติธรรมต้องมีการนำคดีนี้ไปพิจารณาใหม่ เพราะถือได้ว่า เป็นการถูกกล่าวหาโดยผู้กระทำผิดกฏหมายเช่นเดียวกัน" ดร.พรสันต์ กล่าว
ดร.พรสันต์ กล่าวถึงทางออกของปัญหาพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยว่า ในเมื่อร่างกฎหมายผ่านรัฐสภาไปแล้ว ซึ่งส.ส.ผู้เสนอไม่สามารถถอนร่างได้ แต่หากเสนอให้วุฒิสภาทำการยับยั้ง แล้วต้องรอให้พ้น 180 วันแล้วให้สภานำมาพิจารณาใหม่นั้นก็จะทำให้การนิรโทษให้กับประชาชนเกิดความล่าช้ามากยิ่งขึ้น ตนขอเสนอให้วุฒิสภาควรแก้ตัวเนื้อหาให้เหลือเพียงการนิรโทษแก่ประชาชน โดยการตั้งคณะกรรมการแบบเต็มสภาที่สามารถข้ามไปพิจารณาในวาระ 3 โดยไม่ต้องผ่านวาระ 2 ได้เลย แม้ว่าจะดูเป็นการล็อบบี้ แต่หากล็อบบี้เพื่อประชาชนตนก็ยอม
สำหรับเรื่องนิรโทษกับผู้กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ดร.พรสันต์ กล่าวว่ ตัวพ.ร.บ.มีจุดประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อเยียวยาประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม และได้ยกเว้นการนิรโทษให้กับผู้กระทำผิดในมาตรา 112 ได้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเพราะผิดรัฐธรรมนูญดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วย
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษเหมาเข่ง แต่ควรนิรโทษให้กับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ตามร่างเดิมที่ผ่านวาระ1 และไม่เห็นด้วยกับการล้มล้างทั้งฉบับเพราะประชาชนต้องได้รับการช่วยเหลือ แต่อย่านำกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สั่งการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สำหรับความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในสิ่งที่เหมาะที่ควรนั้นสามารถทำได้ และบทลงโทษนั้นก็รุนแรงเกินไป เป็นประเด็นทัศนะที่มีต่อสถาบันกษัตริย์มากกว่าและบุคคลที่กระทำผิดกรณีนี้มีแนวโน้มที่จะถูกลงโทษ
ฟางเส้นสุดท้ายที่ปชช.ไม่ทนแล้ว
ด้านศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสาตร์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในการชุมนุมทางการเมืองถือเป็นการออกไปใช้สิทธิในกรณีที่รัฐบาลทำผิด แล้วถูกสั่งจับ หากมีการนิรโทษกรรมก็จะเกิดผลดี โดยส่วนตัวแล้วค่อนข้างเห็นด้วยในร่างที่ผ่านวาระ 1 แต่พอนำไปแปรญัตติในวาระ 2 นั้นกลับมีการเพิ่มข้อความให้นิรโทษผู้สั่งการ และในวาระ 3 ยังมีการขยายเวลาการบังคับใช้กฏหมายย้อนจากพ.ศ.2549 เป็น พ.ศ.2547 ทำให้กฎหมายนี้เกิดความคลุมเครือขาดความชัดเจน เชื่อว่าหากยังคงข้อความในวาระ1 ไว้ ประชาชนจะไม่ออกมาต่อต้าน
"การออกกฎหมายนี้เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นใหญ่ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือรัฐสภา และเมื่อประชาชนส่วนใหญ่เลือกตั้งผู้แทนฯมาแล้วก็ต้องทำการควบคุม เพราะหากไม่มีการควมคุมส.ส.ก็อาจกลายเป็นทรราชย์ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลทำเรื่องหลายต่อหลายครั้งและเหตุการณ์ชุมนุมของประชาชนหลายฝ่ายครั้งนี้เชื่อว่า เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ประชาชนไม่ทนแล้ว" ศ.ดร.จรัสกล่าว
บก.ลายจุด ตั้งฉายา "สภาฯฮัลโลวีน"
ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์(บก.ลายจุด)แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า การออกมาแสดงการคัดค้านของประชาชนเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะมิติรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในเวลาตี่ 4 เป็นการกระทำที่ย่ามใจ ตนขอเรียกว่า "สภาฯฮัลโลวีน" ดูจะเป็นการเหมาะสมที่สุด พอประชาชนไม่เห็นด้วยก็ออกมาคัดค้าน เพราะประชานได้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบตามสิทธพลเมือง เพราะไม่มีสิทธิในการโหวตในสภาฯ
"ที่ผ่านมาปัญหาของเมืองไทยไม่ใช่การเลือกข้าง แต่ปัญหาคือการเข้าข้าง ไม่ใช่ว่า รักใครคนนั้นก็ถูไปเสียหมด ประชาชนต้องมีวัฒนธรรมประชาธิปไตย ในเมื่อรัฐบาลทำผิดเราก็ต้องออกมาคัดค้านและตรวจสอบ" นายสมบัติ กล่าว และว่าโดยส่วนตัวตนมองเห็นช่องทางว่า จะมีการสอดไส้ตั้งแต่ที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านวาระ 1 แล้วและก็เป็นตามนั้น รัฐบาลทำไม่เหมาะสมที่มีการเหมารวม พ.ต.ท.ทักษิณไปด้วย แม้ปัจจุบันนี้รัฐบาลก็เริ่มถอยห่างแล้ว แต่ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยการก้มหัวรับฟังประชาชน
หมอตุลย์ค้านนิรโทษคนหมิ่นมาตรา112
นายแพทย์ตุลย์ สุทธิสมวงศ์ (หมอตุลย์)ผู้ประสานงานเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะหากนิรโทษให้เพียงประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และเห็นว่า ส.ส.เสียงข้างมากในสภาทำไม่ถูกต้อง เหตุใดจึงกล้าหักหลังคนเสื้อแดง ตบหน้าประชาชนทั้งชาติที่ไม่เอาการโกงด้วยการออกกฎหมายมาเช่นนี้ เนื้อแท้ของการออกกฎหมายนี้คือเหตุการณ์ปี 2553 แต่ทำไมต้องการการโยงไปถึงเหตุการณ์ปี 2549 ด้วย
ทั้งนี้หมอตุลย์ยังกล่าวถึงกรณียกเว้นการนิรโทษผู้ที่กระทำความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ด้วยว่า การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นการปราศรัยพาดพิงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอยู่แล้ว จึงไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรม