อธิการบดี มศว สอนมวย รบ.แก้ปัญหา พ.ร.บ.นิรโทษ
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยลีพรรณ สอน นักการเมืองให้เข้าใจธรรมชาติประชาคมมหาวิทยาลัย แนะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากทำผิดต้องยอมรับและขอโทษ หวังสังคมใช้วิกฤติสร้างบรรทัดฐานการเมืองใหม่
ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศออกมาแสดงจุดยืนคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง-สุดซอย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งเรียกอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้ารับฟังการชี้แจงพร้อมประชุมหารือเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาประเทศ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556
ทั้งนี้ ในที่ประชุมส่วนมากเป็นตัวแทนอธิการบดีของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่หนึ่งในอธิการบดีที่เข้าร่วมด้วยตัวเองในครั้งนี้มี "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)"
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว กล่าวว่า ประการแรกอยากให้นักการเมืองท่านอื่นๆ เข้าใจธรรมชาติของมหาวิทยาลัย คนที่ไม่เคยดูแลมหาวิทยาลัย อาจจะเข้าใจไม่ครบถ้วน ความจริงแล้วอธิการบดีมีอำนาจน้อยที่สุดใน 20 กระทรวง เราไม่สามารถสั่งการคณบดี ผู้อำนวยการ คณาจารย์ ไม่สามารถสั่งคณบดีคณะแพทย์ได้ ด้วย
"ธรรมชาติเช่นนี้จึงทำให้ประชาคมมหาวิทยาลัยมีพลังที่แข็งแรงมาก เพราะสั่งการไม่ได้ในตอนที่ก่อเกิดพลังขึ้น การจะคาดหวังให้อธิการบดีไปทำความเข้าใจให้คนในมหาวิทยาลัยอาจจะเจอคำถามกลับมาว่า ตัวท่านอธิการบดีเองนั่นแหละเข้าใจหรือไม่"
อธิการบดี มศว กล่าวถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนายกองค์การนิสิตเข้ามาถามเองด้วยซ้ำว่า "อาจารย์ครับ ผมอยากทำอย่างนี้ทำได้หรือไม่" เราตอบว่า ได้ เพราะเป็นเสรีภาพตราบที่ทุกอย่างเป็นประโยชน์กับส่วนรวมและไม่ละเมิดกฎหมาย
“ซึ่งนี่เป็นสิ่งเดียวที่จะสร้างตัวอย่างให้คนในมหาวิทยาลัยเห็นว่า ธรรมาภิบาลความเป็นครูที่มีคุณธรรมทำอย่างไร และการเปิดเสรีภาพในครั้งนี้ก่อให้เกิดพลังอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นพลังที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องติดต่อกันเลยระหว่างมหาวิทยาลัย”
อธิการบดี มศวกล่าวถึงต้นเหตุของเรื่องเกิดจากอะไรก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ อย่างตนเป็นหมอรักษาคนไข้คนไข้ไม่สนใจว่าเชื้อโรคชื่ออะไร ยาตัวนี้มีกลไกการดูดซึมกี่ชั่วโมง มีผลค้างเคียงหรือไม่ คนไข้หวังอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรให้หาย และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย ดังนั้นจึงไม่ควรพูดเรื่องอื่นๆที่จะไม่เกี่ยวกับการทำให้คนไข้หาย
"เช่น ไม่ควรพูดว่า พ.ร.บ.หลักการคิดว่าอะไร คนเขาไม่เอาแล้วจะเล่าทำไม ถ้าท่านเล่าแปลว่า ท่านจะเอา แต่ท่านแค่เหนื่อยและในใจลึกๆ คิดว่าพ.ร.บ.นี้ดี แต่ที่ยอมเพราะอะไรก็ว่าไป แต่ถ้าเห็นด้วยว่า มีจุดอ่อนอะไร จึงควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษประชาคม ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีจุดอ่อนที่สั่นคลอนแรงมาก"
ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า หากอยากให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อเหตุเกิดจากนิติบัญญัติไม่ได้เกิดจากรัฐบาล ผู้ที่ต้องออกมารับผิดชอบให้เต็มที่คือฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารเองมีหน้าที่ต้องดูแลความสงบ การดึงความชอบธรรมสำคัญไม่เท่ากับเนื้อหา ที่พูดว่าเรื่องจริงคืออะไร หากเรื่องที่พูดคือเรื่องจริง สิ่งที่พูดก็จะเหมือนหลักการเดิมทุกครั้ง ผู้ใดโหวตพ.ร.บ.ฉบับนี้กลางดึกของคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ล่วงมาถึงเช้าของวันที่1 พฤศจิกายน 2556 ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ พ.ร.บ.นี้ หากคิดว่าดีก็ประกาศมา หากไม่ดีก็ยุบสภา แต่ท่านจะยุบหรือไม่ยุบสภาก็แล้วแต่
“ท่านเข้าใจว่าคนในสังคมจะรับได้ แต่ความจริงกลับไม่ใช่ การขอโทษทำยากกว่าดื้อแพ่งแล้วอธิบาย มิหนำซ้ำไม่ขอโทษ แล้วยังอธิบายเรื่องของตัวเอง และอยากให้ตระหนักกว่า ส.ส.เป็นเพียงผู้แทนของประชาชน เนื่องจากไม่มีห้องประชุมใดสามารถบรรจุประชาชนได้ทั้งหมด เขาจึงเลือกท่านไปเป็นผู้แทน วันหนึ่งพลาด ประชาชนส่งเสียง ท่านได้ยิน แต่ไม่ขอโทษหากไม่ขอโทษตรงๆก็แสดงความรับผิดชอบว่าต้องการเห็นบ้านเมืองดีขึ้น”
ทั้งนี้ ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า ความจริงเราควรจะใช้วิกฤติสร้างบรรทัดฐานการเมืองใหม่ โดยเห็นว่า ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ฝ่ายค้าน คนที่เป็นกลางใช้วิกฤติวางมาตรการสัก 2-3 เรื่องจะดีมาก
1.พ.ร.บ.ฉบับนี้กระทบใจคนเป็นจำนวนมาก คนทำผิดไม่ต้องรับผิดได้ หากในอนาคตเราไม่มองที่ตัวบุคคล แล้วทำอย่างไรจะให้คนเชื่อว่า ใครทำผิดต้องรับผิดจะออกนิรโทษไม่ได้ น่าจะถือโอกาสนี้ในการสร้างบรรทัดฐาน ให้สังคมเห็นว่าเรื่องทุจริตห้ามนิรโทษ หากนิรโทษทางการเมืองก็ต้องเป็นไปตามเหตุและผลและเสียงประชามติจะเกิดเป็นรูปธรรม
2.เรื่องการเมืองแบบมีส่วนร่วม นิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายค้าน การเมืองไทยขอให้ ส.ส. ส.ว.เป็นเพียงผู้แทนของประชาชนเท่านั้น ถ้าเสียงเห็นต่างของประชาชนดัง ต้องทำต่างเสียงต่าง ถ้าทำไม่ได้ให้ลาออก แล้วให้คนที่ทำได้ขึ้นมาทำแทน แต่ไม่ใช่ว่าทำพร่ำเพรื่อ รวมถึงกฎหมายใดก็ตามที่มีคนกังวล ไม่ควรใช้มติพรรค หรือมติในสภา ตัดสิน เราไม่อยากเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก และเชื่อว่าคนไทยก็คงไม่อยากเห็น ดังนั้นเราต้องสร้างภูมิคุ้มกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:อธิการบดีเมินร่วมวงถกนิรโทษ ส่วนใหญ่ส่งระดับรองรับหน้าเสื่อ
ขอบคุณภาพจาก www.komchadluek.net