อธิการบดีเมินร่วมวงถกนิรโทษ ส่วนใหญ่ส่งระดับรองรับหน้าเสื่อ
รองนายกฯ-รมว.ศธ. เรียกอธิการบดีทั่วประเทศถกปัญหากม.นิรโทษฯ ฉบับเหมาเข่ง 'จาตุรนต์' ย้ำเคารพเสรีภาพการแสดงออกของประชาคมมหาวิทยาลัย ขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ส่งเพียงตัวแทนเข้าร่วม
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมการวิสามัญ และนายชวลิต วิชัยยุทธิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมประชุมหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเพื่อทำความเข้าใจ หลังคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา บุคลากรของหลายมหาลัยทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาคัดค้าน พรบ.นิรโทษฯ เหมาเข่ง ณ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
ที่ประชุมอธิการบดี ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลยืนยันว่า หลังจากวุฒิสภาไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว หลัง 180 วัน จะไม่มีการเสนอกลับพ.ร.บ.นี้กลับเข้ามาอีก อาทิ การเสนอให้ออก พ.ร.ก.เพื่อรับรองว่า จะไม่นำร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมกลับเข้ามาพิจารณา การลงสัตยาบัน หรือมีมติคณะรัฐมนตรีว่าจะไม่นำพ.ร.บ.ฉบับที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้กลับมา พิจารณาอีก หากนำเข้ามารัฐบาลต้องยุบสภา
นายพงษ์เทพ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันและบอกชัดเจนแล้วว่าหลังจาก 180 วัน เราจะไม่หยิบยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณา เราจะปล่อยให้ตกไป แต่ประเด็นจะทำให้ประชาชนเชื่อได้อย่างไรว่า จะไม่หยิบยกเมื่อพ้น 180 วัน ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งก็ได้เสนอให้เราทำสัตยาบันร่วมว่าจะไม่หยิบยก ตรงนี้เป็นข้อคิดเห็นหนึ่งที่เราจะนำไปเสนอ
ส่วนเรื่องการขอโทษของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องทบทวนการเสนอร่างซึ่งประชาชนไม่เห็นด้วยควรจะมีการขอโทษนั้น เรื่องนี้นายสามารถ แก้วมีชัย ได้รับไปหารือแล้ว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาพ.ร.บ.ฉบับนี้ร่วมกับส.ส.ที่ลงมติผ่าน 310 เสียงนั้น นายกรัฐมนตรีรับหลักการในวาระแรก ซึ่งเป็นวาระที่ไม่ได้มีปัญหา และที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงมติในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจะได้นำไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
ด้านนายจาตุรนต์ กล่าวว่า หลายท่านได้แสดงความเห็นถึงความไม่มั่นใจต่อพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า หากพ้น180 วันจะมีการหยิบยกขึ้นมาใหม่หรือไม่ เราเองจะต้องไปปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ
"สำหรับความเห็นอื่น ๆ เช่น การให้ออกมาขอโทษนั้น ก็เป็นสิ่งที่เราจะได้นำไปพิจารณา หากถามว่าทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบร่วมกันหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่ในวันนี้ก็บอกให้เราต้องเลือกคนที่มาขอโทษให้ถูกฝาถูกตัวด้วย"
ทั้งนี้ รมว.ศธ. ยืนยันด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลเคารพในเสรีภาพของการแสดงความเห็นและการแสดงออกของประชาคมมหาวทิยาลัย ดังนั้นจะไม่มีการที่เราจะไปขอร้องให้ทำอย่างไรเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในวันนี้ไม่มีการออกมาลงโทษหรือเช็คบิลที่หลังอย่างแน่นอน ความเห็นและคำแนะนำในวันนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับทางรัฐบาล
ฉะนายกฯ ไม่เคยขอโทษ
ขณะที่ผศ.สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม(มรภ.นครปฐม) กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี ไม่เคยมีคำว่า 'ขอโทษ' มีแต่การชี้แจง มีแต่การใช้คำว่าไม่เข้าใจหรือไม่พร้อม ไม่ว่าจะมีการทำงานผิดพลาดกี่ครั้งที่ผ่านมาไม่เคยได้ยินคำว่าขอโทษจากนักการเมืองเลย หากพูดคำนี้ไม่ได้ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างตนสอนให้ก็ได้
ที่ประชุมอธิการบดี ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลยืนยันว่า หลังจากวุฒิสภาไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว หลัง 180 วัน จะไม่มีการเสนอกลับพ.ร.บ.นี้กลับเข้ามาอีก อาทิ การเสนอให้ออก พ.ร.ก.เพื่อรับรองว่า จะไม่นำร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมกลับเข้ามาพิจารณา การลงสัตยาบัน หรือมีมติคณะรัฐมนตรีว่าจะไม่นำพ.ร.บ.ฉบับที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้กลับมาพิจารณาอีก หากนำเข้ามารัฐบาลต้องยุบสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมหารือในวันนี้หลายมหาวิทยาลัย อธิการบดีจะส่งตัวแทนมาเข้าร่วมในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีรับฟังและเสนอแนะความเห็น