องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ลั่นจับตารบ.ใกล้ชิด หวั่นหมกเม็ดล้างผิดคดีโกง
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ย้ำจับตาการทำงานรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ชี้แม้ยกเลิก พ.ร.บ.นิรโทษไม่ได้หมายถึงล้มเลิกความพยายาม ลั่นจะปกป้อง ปชช.-นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเต็มที่ ยันจุดยืนต้านทุจริต ไม่ใช่ต้านรบ.
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยภายหลังการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกองค์กรฯ ว่า ภายหลังที่รัฐบาลได้แถลงการณ์ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 6 ฉบับ แต่ยังมีอีก 1 ฉบับที่ยังคงค้างอยู่ในระบบของรัฐสภา ซึ่งทางองค์กรฯ เห็นชอบกับแนวคิดของ ป.ป.ช.ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ใช่เรื่องการนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว แต่แฝงด้วยเรื่องการล้างผิดให้กับคดีโกง และหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน คดีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กร ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่หมายถึง คตส ทั้งคณะและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการเลือกตั้ง จะพ้นผิดทั้งหมด
"องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น มีมติว่า จะจับตาการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะการยกเลิก พ.ร.บ ไม่ได้หมายถึงการล้มเลิกความพยายาม ดังนั้นองค์กรฯ จะไม่ยอมให้มีการสอดแทรกการล้างผิดคดีโกงขึ้นอีกในรูปแบบใดๆทั้งสิ้น และพร้อมจะต่อสู้เคียงข้างประชาชนทันทีในการต่อต้านการกระทำมิชอบที่มีผลต่อการส่งเสริมให้เกิดโอกาสการทุจริตคดโกง"
นายประมนต์ กล่าวต่อว่า องค์กรฯ เชื่อมั่นว่าการคัดค้านครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายสากล และเป็นไปอย่างสันติวิธี โดยไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือก่อเหตุการณ์ความไม่สงบกับประเทศแต่อย่างใด ดังนั้น หากประชาชน นิสิต นักศึกษาผู้ซึ่งที่ทำหน้าที่พลเมืองของประเทศที่ออกมาเรียกร้องความถูกต้องในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม องค์กรฯ พร้อมที่จะออกมาปกป้องประชาชน และจะเรียกร้องให้นานาชาติเห็นถึงการกระทำที่ไม่ยุติธรรม และจะประณามการกระทำดังกล่าวไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หวังว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าจุดยืนขององค์กรฯ คือการต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง
"องค์กรฯ จะคงดำเนินการต่อต้านคอร์รัปชั่นต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกร่างกฎหมายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าการโกงกินจะหมดไป ยังมีโครงการของรัฐบาลอีกมากมายที่สังคมยังเคลือบแคลง เช่น เช่นโครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท เงินงบประมาณป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการอื่นๆ"
นายประมนต์ กล่าวด้วยว่า องค์กรฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่าจุดยืนขององค์กรฯ ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล หรือต่อต้านการปรองดอง แต่คือการต่อต้านคอร์รัปชั่น แม้ว่ารัฐบาลจะแถลงการณ์ แต่ประชาชนแสดงยังไม่เชื่อมั่น ในความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล
"ขอให้รัฐบาลทบทวนบทบาทของตนเอง และพิจารณาเร่งออกมาตรการ และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น อีกทั้งต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ"
ในส่วนการส่งจดหมายคัดค้านไปยังสถานทูตนานาชาติ และการยื่นแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายที่ให้โอกาสล้างความผิดจากการทุจริตคดโกงต่อสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา สวีเดน สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และองค์การสหประชาชาตินั้น นายประมนต์ กล่าวว่า เพื่อต้องการให้นานาชาติเห็นว่าองค์กรฯ มีความตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชั่นซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจและการลงทุน อีกทั้งยังต้องจับตาท่าทีของรัฐบาลไทยในการดำเนินการเรื่องการปฏิบัติตามอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (UNCAC 2003) ซึ่งในการยื่นคัดค้านต่อบรรดาสถานทูตต่างๆ นั้น ได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศเป็นอย่างดี ในการรับเรื่องพิจารณาและหารือแนวทางการจับตาการทำงานของภาครัฐ
เช่นเดียวกับความคืบหน้าการลงชื่อคัดค้านล้างผิดคดีโกงผ่านเว็บไซต์ Change.org ที่ นายประมนต์ บอกว่า เป็นปรากฏการณ์แรกของประเทศไทยที่มีผู้เข้ามาลงชื่อสูงสุดเท่าที่เคยมีการรณรงค์กันมา ปัจจุบัน ณ เวลา 12.00 มีผู้ลงชื่อคัดค้านมากกว่า 596,586 คน ซึ่งเมื่อครบ 1 ล้านเสียง ทางองค์กรฯ จะนำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและวุฒิสมาชิก เพื่อตอกย้ำว่าประชาชนผู้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีผู้ใดยอมรับการล้างผิดคดีโกง