กะเทาะนโยบายหาเสียง"ท้องถิ่นแบบพิเศษดับไฟใต้" เลือกตั้งผู้นำ ไม่แตะผู้ว่าฯ ไม่ยุ่งทหาร!?!
เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าการเลือกตั้งทั่วไปหนนี้ สมรภูมิสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปรากฏการณ์การต่อสู้ในเชิงนโยบายของบรรดาผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ต้องการแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส. 11 ที่นั่งกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะวาระร้อนอย่างเรื่อง “รูปแบบการปกครอง” ที่มีการเสนอโมเดล “ปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ” ให้ประชาชนเลือกผู้นำของตนเองในระดับที่ใหญ่กว่า อบจ. ใหญ่กว่าจังหวัด หรืออาจรวม 3 จังหวัดเป็นหนึ่งเดียว
แต่ปัญหาคือ “ไส้ใน” ของนโยบายที่ว่านี้เป็นเช่นไร ดูจะยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก โดยเฉพาะกับคำถามอันแหลมคมว่า หากเลือกตั้งผู้นำในระดับจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด (ซึ่งบางพรรคเสนอคำว่า “นคร” หรือ “มหานคร”) แล้ว โครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และการปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล จะเอาไปไว้ที่ไหน
และที่สำคัญคืองานด้านความมั่นคงที่ปัจจุบันมีทหารเดินกันขวักไขว่อยู่ในพื้นที่ จะทำกันอย่างไร?
“ทีมข่าวอิศรา” เก็บตกประเด็นเหล่านี้จากเวทีสาธารณะเรื่อง “ฟังเสียงฝ่ายการเมือง: ไฟใต้ดับได้ด้วยการกระจายอำนาจ?” ซึ่งจัดโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการ และสื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งมีผู้สมัคร ส.ส.จากเกือบทุกพรรคการเมืองในพื้นที่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์
“นครปัตตานี-เพื่อไทย”ไม่แตะโครงสร้างผู้ว่าฯ
เริ่มจากพรรคเพื่อไทย (หมายเลข 1) เจ้าของไอเดีย “นครปัตตานี” ซึ่งหมายถึงการรวมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เข้าเป็น “นคร” แล้วให้ประชาชนเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง รวมทั้งเลือกตั้งสมาชิกสภาเพื่อควบคุมฝ่ายบริหาร
นายอีรฟาน สุหลง ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นโยบาย “นครปัตตานี” ของพรรคเพื่อไทยนั้นไม่มีคำว่า “รัฐ” คือไม่ใช่ “นครรัฐปัตตานี” จึงไม่ใช่แนวคิดการแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นการค้นหารูปแบบการปกครองใหม่ที่ยังคงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยการปรับโครงสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้บริหาร ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถือเป็นการประยุกต์สิ่งใหม่กับสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
“เรายกร่างกฎหมายนครปัตตานีเอาไว้แล้วตามแนวนโยบายของพรรค ประเด็นหลักคือให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารและปรับโครงสร้างในส่วนอื่นๆ เพื่อให้คนในพื้นที่มีโอกาสเข้าไปทำงานมากขึ้น จะเป็นนครปัตตานีหรือชื่ออื่นใดก็แล้วแต่ ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดยังคงมีเหมือนเดิม นอกจากนี้จะมีการเพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 25 เปอร์เซ็นต์ เพราะที่ผ่านมางบประมาณส่วนนี้ถูกตัดไปมาก” นายอีรฟาน ระบุ
“มหานครปัตตานี-ความหวังใหม่” ไม่ยุ่งทหาร
นายอัซโตร่า โต๊ะราแม ผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พรรคความหวังใหม่ (หมายเลข 34) ในฐานะตัวแทนพรรค เสนอว่า หากได้รับเลือกตั้งจะนำรูปแบบการกระจายอำนาจในแบบ “มหานคร” มาใช้ แต่จะทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ยังไม่ทราบ เพราะมีหลายปัจจัย อย่างไรก็ตาม พรรคความหวังใหม่โดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นับเป็นบุคคลแรกๆ ที่เสนอรูปแบบการปกครองลักษณะนี้ โดยรวมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจังหวัดเดียว เรียกว่า “มหานคร” แล้วแบ่งการปกครองออกเป็นเขตๆ โดยผู้บริหารหรือ “ผู้ว่ามหานคร” มาจากการเลือกตั้ง
“การบริหารงานจะหลายส่วน เช่น การศึกษา ภาษา วัฒนธรรม ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะอยู่ในอำนาจของมหานคร แต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานด้านการทหาร” นายอัซโตร่า ระบุ และว่า จริงๆ แล้วนโยบายการบริหารงานต่างๆ นั้น ประชาชนจะต้องเป็นผู้เสนอขึ้นมา ไม่ใช่พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนด
มาตุภูมิตั้ง “ทบวงชายแดนใต้” ไม่กระทบกำนัน-ผญบ.
นายมูฮำหมัดอารีฟีน จะปะกียา ผู้สมัคร ส.ส.ปัตตานี เขต 2 พรรคมาตุภูมิ (หมายเลข 26) กล่าวว่า นโยบายของพรรคที่สำคัญคือจัดตั้งทบวงบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มีรัฐมนตรีว่าการทบวงทำหน้าที่บริหารพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนเป็นการเฉพาะ และปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ มีปลัดบริหารกิจการภาคใต้ และมีรองทบวงฝ่ายจังหวัด
อย่างไรก็ดี โครงสร้างของทบวงจะไม่กระทบกับโครงสร้างฝ่ายปกครองท้องที่และท้องถิ่นเดิม คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนกำลังทหารจะคงไว้เพียงกองทัพภาคที่ 4 และส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผ่านทบวงดังกล่าว
ปชป.ลั่นเพิ่มภารกิจ อปท.ปัจจุบัน
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป. หมายเลข 10) ที่ปฏิเสธแนวทางการจัดตั้งรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษด้วยการเลือกตั้งผู้นำหรือผู้ว่าการนครมาตลอดนั้น นายถาวร เสนเนียม รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลงามสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานกว่า 2 ปี กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนนโยบายกระจายอำนาจ แต่ยังยึดแนวทางว่าต้องอยู่ในกรอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีอยู่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไทยได้เปิดโอกาสให้มีการกระจายอำนาจไว้หลายรูปแบบอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ อปท.มีภารกิจไม่ต่ำกว่า 200 ภารกิจ แต่ถ้าต้องการกระจายอำนาจเพิ่มภารกิจลงไปอีกเป็น 250-300 ภารกิจก็คิดว่าทำได้
ในฐานะที่เป็นรัฐบาลมานานกว่า 2 ปี นายถาวร กล่าวว่า งานแก้ปัญหาภาคใต้ที่ผลักดันจนเป็นรูปธรรมไปแล้วคือ โรงเรียนสองภาษา คือ ภาษามลายูถิ่นหรือยาวีควบคู่กับภาษาไทย ซึ่งต่อไปจะผลักดันให้เต็มทุกพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งศาลชารีอะฮ์ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว สาระสำคัญคือการพิจารณาคดีหรือข้อพิพาทที่คู่ความเป็นมุสลิมในเรื่องครอบครัวหรือมรดก จะขึ้นศาลชารีอะฮ์ ซึ่งจะเปิดแผนกชารีอะฮ์ในศาลทั่วประเทศ ส่วนวิธีพิจารณาความก็กำหนดให้เป็นไปตามหลักการของศาสนาอิสลาม และผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาจะต้องผ่านการเรียนหลักสูตรกฎหมายอิสลามก่อนด้วย
อีกประการหนึ่งที่จะทำผลักดันต่อไปคือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามหลักศาสนาอิสลามตามวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิม เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษอาหารฮาลาล เพราะในพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ระบุว่าสามารถจัดตั้งให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษได้
ชาติไทยพัฒนาชู “ศูนย์ราชการครบวงจร”
นายมูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (พรรคชาติไทยเดิม หมายเลข 21) กล่าวว่า ปัญหาหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือความไม่มีเอกภาพในการบริหาร ดังนั้นทางพรรคจึงเสนอให้มีการตั้ง “ศูนย์ราชการครบวงจรจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวจะคล้ายกับการนำรัฐบาลไปตั้งเป็นศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเป็นการยกระดับ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ให้สามารถบริหารงบประมาณและกำหนดนโยบายได้เอง โดยโครงสร้างคร่าวๆ จะให้นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งมากำกับดูแลโดยตรง
“ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องเอกภาพและบูรณาการ เช่น กรณีการแก้ปัญหานาร้างในพื้นที่ ซึ่งมีการเสนอให้ปลูกปาล์ม เรื่องนี้ ศอ.บต.ก็มีงบประมาณในการดำเนินการเช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ฉะนั้นหากมีศูนย์กลางที่ชัดเจนหน่วยเดียวก็จะทำให้การบริหารนโยบายมีเอกภาพมากขึ้น”
“สิ่งสำคัญคือเราจะวางงบประมาณดับไฟใต้ไว้ที่ศูนย์นี้ แล้วให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการปัญหา โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางกรอบงบประมาณ ซึ่งถือเป็นการกระจายอำนาจที่เห็นผลจริง” ผู้สมัครของพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุ
“ดำรงไทย”เสนอเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทางด้านพรรคเล็กอย่างพรรคดำรงไทย (หมายเลข 8) นายมะเซะ บากา ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ทางพรรคพร้อมให้การสนับสนุนข้อเสนอและนโยบายที่ดีๆ ของทุกพรรค แต่นโยบายหลักของพรรคดำรงไทยคือให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทันที เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“ขณะนี้คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมาก พวกเราจึงเน้นนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนในสามจังหวัดเป็นหลัก ส่วนแนวคิดการกระจายอำนาจหรือตั้งเขตปกครองพิเศษหรือปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษนั้น เราต้องให้คนในพื้นที่เป็นผู้ตัดสิน” นายมะเซะ ระบุ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 บรรยากาศบนเวทีสาธารณะที่มีบรรดาตัวแทนจากพรรคการเมืองร่วมแสดงวิสัยทัศน์
2 นายถาวร เสนเนียม จากพรรคประชาธิปัตย์ (คนขวามือ)