คำต่อคำ: ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ฝากอะไรถึงประธานสภาฯ -ประธานวุฒิสภา
'มีชัย ฤชุพันธุ์' เเนะทางออกรบ.คว่ำร่างกม.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ระดมผู้เชี่ยวชาญสภาหารือทำให้กม.ตาย มิใช่เพียงสลบ ระบุหากไม่มีเครื่องมือก็ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ชี้ยุบสภาเป็นเพียงการยับยั้ง เเต่ไม่สามารถทำให้กม.สิ้นใจได้ ฝากข้อคิดถึงปธ.สภาในการทำหน้าที่ชอบธรรม
หลังบรรดาอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่กลุ่มคนต่างๆ ออกมาประท้วงต่อต้านร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองนั้น
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา ในฐานะประธานชมรม สนช.ให้สัมภาษณ์สื่อถึงทางออกการระงับร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง โดยระบุถึงทฤษฎีต้องทำให้กฎหมายฉบับนี้ "ตาย" มิใช่เพียงสลบ
การทำให้ร่างกฎหมายสลบ หมายถึง ยับยั้ง แล้วจะหยุดอยู่กับที่เป็นเวลา 180 วัน
ที่แย่ คือ หากยุบสภาวันนี้ร่างกฎหมายก็ยังค้างอยู่ รัฐบาลชุดใหม่ก็หยิบขึ้นมาได้อีกภายใน 60 วัน เพราะฉะนั้นจึงทำให้คนไม่เชื่อรัฐบาล
นายมีชัย เห็นว่า จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอาจต้องระดมนักกฎหมาย นักเชี่ยวชาญทางสภาฯ แล้วคุยกันว่า ตรงไหนที่จะเป็นจุดทำให้กฎหมายตายได้ เพราะอยู่ ๆ จะให้ใครไปพูดว่า ทำอย่างนี้สิ แล้วคนจำนวนมากไม่เชื่อ มันก็ย้อนกลับมาอีก ฉะนั้นต้องคุยเพื่อหาข้อยุติว่าทำอย่างนี้แล้วกฎหมายจะตายจริง
@ข้อเสนอรูปธรรมอะไรที่จะเป็นทางออกของร่างกม.นิรโทษกรรมฉบับนี้
มันยากเกินกว่าที่จะพูดได้
@ก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้วุฒิสภารับร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงิน หากท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรีปฏิเสธลงนาม จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไปหรือไม่
อาจเป็นข้อเสนออย่างหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ ถึงได้บอกว่า ต้องนำคนเหล่านี้มานั่งคุยกัน
ในเมื่อคนที่เกี่ยวข้องในสภาตกลงเห็นดีเห็นงามกันว่า วิธีนี้ตายหมดแล้วก็ทำตามวิธีนั้น เพราะจะขึ้นอยู่กับข้อบังคับของการประชุมสภา ซึ่งคนนอกเข้าไปบอก เขาคงไม่เชื่อ เขาก็ยังทำเหมือนเดิม จึงไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นคนในต้องคุยกันเอง
@ในมุมมองคิดว่า วิธีใดที่จะทำให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมตายไป
คนที่อยู่ในสภาด้วยกันต้องคุยกัน เพราะคนเหล่านั้นเชี่ยวชาญเรื่องข้อบังคับอยู่แล้ว แต่หากเขาเพียงยับยั้งก็จะเป็นแค่สลบ ดังนั้นคนในสภาต้องคุยกันว่าจะแก้ข้อบังคับ หรือจะทำข้อบังคับขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ มนุษย์เป็นคนสร้างปัญหา ฉะนั้นมนุษย์ต้องแก้ให้ได้
@วิธีการใดที่จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่า รัฐบาลจะไม่หยิบยกกฎหมายขึ้นมาอีก
คนที่เกี่ยวข้องในสภาต้องมาคุยกัน ถ้าไม่มีเครื่องมือก็ต้องหาเครื่องมือ คนที่สร้างเครื่องมือคือคนในสภา
ฉะนั้นคนนอกจะไปบอกเขาไม่ได้ ต้องคนในแวดวง เช่น ข้อบังคับทำให้เป็นไปไม่ได้ก็แก้ข้อบังคับ สร้างเครื่องมือขึ้นมา แต่ตอนนี้ต้องให้เขาไปหาดูว่า ทำไมกฎหมายถึงทำให้ตายไม่ได้ แล้วให้ไปดูทีละจุด ๆ เมื่อทราบแล้ว ต้องการอะไรที่จะทำได้ ถ้าสมมติว่าทำไม่ได้ก็เขียนข้อบังคับขึ้นมาใหม่
“คุณถือไมค์เมื่อยมือมาก ๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่คุณต้องคิดออกว่าหาไม้มาค้ำมัน แต่ไม้ไม่มีก็ต้องไปซื้อมา”
@ในฐานะที่เชี่ยวชาญทางกฎหมาย เพราะเหตุใดจึงไม่ยอมบอกวิธีการ
บอกไม่ได้ เพราะว่าเขาจะบอกได้ว่า เราไม่ได้อยู่ตรงนั้น
อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าตั้งใจจะแก้ก็แก้ได้ แต่ว่าอาจจะต้องการเครื่องมือใหม่ ฉะนั้นต้องไปสำรวจดูว่าติดตรงไหนก็ไปแก้ตรงนั้น ถ้าไม่มีเครื่องมือก็ทำขึ้นมา จึงถือเป็นข้อแนะนำที่จะบอก
@หากครบ 180 วันแล้ว สภาบอกว่าจะคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้จะตกไปหรือไม่
เมื่อพ้น 180 วัน แล้ว สภาโหวตไม่เอาก็จะตกไป หมายถึง เวลาที่หยิบขึ้นมาต้องมายืนยัน ถ้ายืนยันสำเร็จตามคะแนนที่กำหนดไว้จะผ่านเป็นกฎหมาย
ถ้ายืนยันไม่ได้คะแนนตามนั้นมันจะตกและคราวนี้แหละที่จะตาย!!
@เครื่องมือหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน ไม่เอากฎหมายนิรโทษได้หรือไม่
ตอนนี้กฎหมายเป็นเพียงร่าง ถ้าปล่อยให้เป็นกฎหมายแล้วยกเลิกทีหลัง ซึ่งกฎหมายได้นิรโทษกรรมสำเร็จแล้วตั้งแต่วันแรกที่ออก
ฉะนั้นจะยกเลิกที่หลังจึงไม่เกิดประโยชน์
@ แล้วยุบสภาจะแก้ปัญหาหรือไม่
กฎหมายก็ไม่ตาย !!
แต่เป็นเพียงการยับยั้งอย่างหนึ่ง สุดท้ายก็ต้องกลับมาสภา ถ้าสภาเห็นด้วยก็ไปเลย ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม แล้วก็กลับไปสู่กระบวนการเดิม
ทั้งนี้ มองว่าการแก้ปัญหาจะต้องดำเนินการทางกฎหมายและการเมืองควบคู่กัน
******************************************
|
ช่วงท้ายนายมีชัย ยังฝากข้อเสนอแนะต่อประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา 3 ข้อ ดังนี้
1.ประธานเวลานี้มักจะเข้าใจผิดคิดว่า ประธานมีอำนาจกำหนดเวลาในการพูดของคนได้ ประธานไม่มีอำนาจ สภาเป็นสภาพูด พูดเท่าไหร่ก็ต้องพูดไป เขามีข้อบังคับเพียงว่า ถ้าเมื่อไหร่เห็นว่าพุดซ้ำซากซ้ำซ้อนกับผู้อื่นแล้วก็อาจจะให้หยุดได้ แต่มิได้บอกว่าคุณต้องพูด 5 นาที
ซึ่งอดีตที่เคยทำกันมาให้พูดตามเวลานั้น เพราะสมาชิกสภาต่างตกลงกันเองแล้วมาบอกประธานสภาว่าช่วยดูให้หน่อยนะ อย่าให้ใครพูดเกิน แล้วประธานก็จะดูให้
แต่ตามข้อบังคับประธานจะไปคิดอ่านเอาเองว่า เรื่องนี้ผมรีบ มันไม่มีอะไรรีบ เพราะหน้าที่ต้องทำก็ต้องทำ ทำกี่วันก็ต้องทำ รัฐบาลจะไปบอกว่า คราวนี้เอา 2 วันนะ 3 วันนะ ไม่ได้!!
วิปจะพูดกันได้ แต่ประธานพูดไม่ได้ เรียกว่า 100 วันก็ต้อง 100 วัน
2.เวลาสมาชิกสภาพูดนั้น เขาจะพูดให้สมาชิกสภาด้วยกันฟังเพื่อโน้มน้าวจิตใจ แต่เขาพูดผ่านสภาตามข้อบังคับเพื่อไม่ให้เผชิญหน้า เขาไม่ได้พูดอธิบายให้ประธานฟัง
ฉะนั้นประธานจะบอกว่า ที่คุณพูดมานั้นผมเข้าใจแล้วไม่ได้ ความจริงเขายังไม่ได้พูดประธานก็เข้าใจ แต่ว่ามันไม่ใช่เรื่อง มันต้องเป็นเรื่องของสมาชิกที่จะพูดได้หรือไม่ หากประธานไปบอกว่าผมเข้าใจแล้ว ตกลงประธานก็เป็นคนตัดสินเอง
3.สภาถือเป็นสภาพูด ฉะนั้นจะกำหนดว่าใครบ้างมีสิทธิพูด คนที่แปรญัตติแล้วสงวนคำแปรไว้ ต้องมีสิทธิพูด จะยาวจะสั้นอย่างไรต้องมีสิทธิพูด
"คุณไปปิดการอภิปรายเพื่อไม่ให้เขาพูด คุณผิดแล้ว"
การเสนอการอภิปรายในขณะกำลังทำกิจกรรมไม่เสร็จเช่นนั้นไม่ได้ เพราะลองคิดดูถ้าทำอย่างนั้นได้ ผมมีเสียงข้างมาก พอเสนอกฎหมาย ฝ่ายค้านอ้าปาก ก็ขอปิดอภิปราย โหวตชนะลงคะแนน แม้ว่าข้อบังคับจะบอกว่าสามารถยกเว้นข้อบังคับได้ แต่การยกเว้นข้อบังคับต้องไม่ยกเว้นถึงกับทำให้เสียหลักทั้งหมด ซึ่งยกเว้นได้เฉพาะเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆจะตัดสิทธิเขาถือขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการตราพระราชบัญญัติ
“เมืองนอกถึงมีระบบหากคุณสู้เขาไม่ได้ คุณก็ถ่วงด้วยวิธีการพูด แล้วคนที่พูดมีสิทธิพูดไม่จำกัดตราบเท่าที่คุณยังยืนอยู่ไม่ออกไปฉี่ ผมเคยไปฝึกงานแล้วนั่งบนบัลลังก์มีอยู่คนแก่แล้วพูดอยู่ 2 วัน 2 คืน ถามแกทีหลังว่า ฉี่ตรงไหน ตอบว่าก็ฉี่ตรงนั้น แล้วก็จบได้แค่นั้น เสียเวลา 2 วัน เพราะระบบเป็นอย่างนั้น ทั่วโลกจึงเข้าใจ” นายมีชัย กล่าวฝากทิ้งท้าย .
ภาพประกอบ:ว๊อยซ์ ทีวี