ล่ม! “นิคม” เลื่อนวุฒิถกนิรโทษฯ เป็น 11 พ.ย.หลังองค์ประชุมไม่ครบ
“นิคม” เลื่อนประชุมวุฒิสภา พิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็น 11 พ.ย. หลังองค์ประชุมไม่ครบมี ส.ว.เซ็นชื่อร่วมเพียง 67 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทั้งหมด 149 คน
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 เวลา 14.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ โดยมีวาระเดียวคือพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว (ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง)
ทั้งนี้ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ต้องสั่งเลื่อนการประชุม 1 ครั้ง หลังพ้นเวลานัดครึ่งชั่วโมงแล้วมี ส.ว.มาลงชื่อเพียง 64 คน จากทั้งหมด 149 คน ยังไม่ครบองค์ประชุม เพราะไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด
เมื่อถึงเวลา 15.00 น. ผลปรากฏว่าก็ยังมี ส.ว.มาลงชื่อเพียง 67 คนเท่านั้น นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร จึงเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยการให้ขานชื่อ ส.ว.ที่มาประชุมเป็นรายบุคคล เพื่อยืดเวลารอให้ ส.ว.ที่ยังมาไม่ถึง หรือยังลังเลใจ มาลงชื่อให้ครบองค์ประชุม
นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ ส.ว.สรรหา ที่ประชุมอยู่ในอีกตึกหนึ่งเข้ามาลงชื่อร่วมประชุม
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนขอกล่าวหาบุคคลที่ไม่อยากให้วุฒิสภามีการประชุมในวันนี้ เพราะไม่ต้องการให้บ้านเมืองสงบจะได้นำไปสู่การล้มรัฐบาล
ช่วงเวลาที่เหลือ ทั้ง ส.ว.เลือกตั้งและ ส.ว.สรรหา ที่ลงชื่อเข้าประชุม ต่างสลับกันขึ้นมาอภิปรายโจมตี ส.ว.ที่ไม่เข้าร่วมประชุม ว่าละเลยการทำหน้าที่และไม่เห็นแก่บ้านเมือง โดยยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะมี ส.ว.ลงชื่อเข้าร่วมเพียง 67 คนเท่านั้น
กระทั่งเวลา 16.30 น. นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา รับข้อเสนอของนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี ที่ขอให้ไปเชิญ ส.ว.ที่ไม่ได้ลงชื่อให้มาร่วมประชุม โดยสั่งพักประชุมเป็นเวลา 20 นาที จากนั้นนายนิคมเดินไปที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 306-308 เพื่อพูดคุยกับ ส.ว.จำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าร่วมประชุม
ผลการหารือที่ใช้เวลากว่าชั่วโมง ปรากฏว่านายนิคมยินยอมที่จะเลื่อนไปพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 โดยจะมีการลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
นายนิคม กล่าวว่า "ขอโทษที่ทำให้เข้าใจผิด ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 เราจะลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยกัน เพราะถ้ารับหลักการไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาอีก"