เครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าวยื่น กมธ.ร้องรบ.-ตุลาการขาดธรรมาภิบาล
เครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าว เข้าร้องเรียน กมธ.ตรวจสอบทุจริต วุฒิสภา ระบุ รัฐบาล-ตุลาการขาดธรรมาภิบาล ปชช.ไม่ได้รับความเป็นธรรม เดินนโยบายจำนำข้าวไม่รอบคอบ ชี้ผู้ตรวจการทำงานล่าช้า ไม่เป็นที่พึ่ง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 นายวรา จันทร์มณี นายธานินทร์ เอกวรรณัง และนายธนิต สุวรรณรักษ์ แกนนำเครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าว พร้อมคณะ ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ณ ห้อง 311 ชั้น 3 อาคาร 2 วุฒิสภา โดยระบุว่าประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ในกรณีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก เนื่องจากรัฐบาลขาดธรรมาภิบาลในการกำหนดนโยบายและการดำเนินโครงการ อีกทั้งกระบวนการตุลาการ ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน
นายวรา กล่าวว่า ทางเครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าว ขอร้องเรียนว่ารัฐบาลขาดธรรมาภิบาล ในประเด็นต่อไปนี้ คือ รัฐบาลขาดคุณธรรม กำหนดนโยบายและดำเนินโครงการจำนำข้าว โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดกับประเทศในระยะยาว อีกทั้งยังมีปัญหาการทุจริตและปัญหาความไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการบริหารกิจการบ้านเมืองนี้ เช่น ไม่เป็นธรรมกับชาวนาที่ยากจน ซึ่งได้ประโยชน์น้อยมาก ไม่เป็นธรรมกับชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่น และไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร
ทั้งนี้ รัฐบาลขาดความโปร่งใส ไม่เปิดเผยข้อมูลในการดำเนินโครงการอย่างตรงไปตรงมา เช่น ปริมาณการขายข้าว ฯลฯ อีกทั้งยังมีช่องทางให้ประชาชนได้ตรวจสอบน้อยมาก หรือไม่มีเลย ทั้งนี้ รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ อีกทั้งไม่รับฟังความเห็นข้อเสนอแนะต่อโครงการดังกล่าว ซึ่งได้ส่งผลกระทบทางลบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างมหาศาล รวมถึงขาดสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศ จากการที่ไม่พิจารณาศึกษาผลกระทบก่อนการดำเนินโครงการอย่างรอบคอบ และเมื่อดำเนินโครงการแล้ว จนเป็นที่ชัดเจนว่ามีปัญหาการขาดทุนมหาศาล อีกทั้งมีการทุจริตจำนวนมาก ก็ยังดึงดันที่จะดำเนินโครงการต่อไป
นายวรา กล่าวต่อว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ โดยยกข้อมูลของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ระบุว่า จากการที่รัฐบาลดำเนินโครงการนี้ทำให้ประเทศเสียหายมากที่สุด กล่าวคือ ขาดทุนกว่า 4.25 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเปรียบเทียบปริมาณเงินที่ต้องสูญเสียเกือบเท่ากับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการทั้งปี ที่มีจำนวน 4.6 แสนล้านบาท หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีงบประมาณทั้งปีไม่ถึง 8 หมื่นล้านบาท หรือสนามบินสุวรรณภูมิที่ใช้งบประมาณในการสร้างประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
"รัฐบาลไม่ควรนำเงินภาษีของประชาชนมาทิ้ง จากการขาดทุนในโครงการจำนำข้าว โดยควรจะมีการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศมากกว่านี้"
สำหรับฝ่ายตุลาการ เครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าวเห็นว่า ขาดธรรมาภิบาล ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน เนื่องจากอำนาจตุลาการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และขาดความเป็นธรรม ไม่เป็นที่พึ่งอย่างรอบด้านแก่ประชาชน เห็นได้จากการดำเนินงานที่ล่าช้าของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงอำนาจตุลาการที่ยังไม่เป็นธรรม ไม่เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ครอบคลุม เปิดช่องให้รัฐบาลกำหนดนโยบาย และดำเนินโครงการตามอำเภอใจ แม้เห็นชัดเจนว่านโยบายและโครงการนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ