2 ครูผู้สอนกฎหมาย เปิดตำราค้านพ.ร.บ.นิรโทษฯ รื้อขื่อแปบ้านเมือง
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงความเห็นทางกฎหมายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ โดยมี ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. และศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ร่วมแถลง และแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายนิรโทษฉบับรวบรัดตัดตอนไว้อย่างน่าสนใจ
"สำนักข่าวอิศรา" ถอดความละเอียดมานำเสนอ
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ
"กฎหมายต้องตราแล้วประชาชนรู้สึกโล่งอก โล่งใจ
ทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ แต่
ปรากฏการณ์นี้ คนไม่ได้เรียนกฎหมายออกมาประท้วงทั่วประเทศ
ขณะที่คนเรียนกฎหมายรู้สึกหวาดหวั่นเป็นอย่างยิ่ง"
ผศ.ดร.กิตติศักด์ เริ่มต้นชี้แจงถึงเหตุที่ไม่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ของคณะนิติศาสตร์ มธ. เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับบางข้อในแถลงการณ์ อาทิ การระบุว่ากฎหมายฉบับนี้จะขัดต่อ มาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเห็นว่าไม่ขัด
แต่อย่างไรก็ตามตนเห็นด้วยกับเนื้อหา สาระสำคัญของแถลงการณ์ฉบับนี้ที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ข้อที่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเหตุที่ทำให้คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ออกมาประท้วง โต้แย้ง คัดค้านการตรากฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือ การแสดงออกของสำนึกผิดชอบชั่วดีที่ต้องอยู่เคียงคู่ระบบกฎหมาย ที่ต้องมีเพื่อยืนยันความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ยืนยันหลักการที่ว่า การทำร้ายผู้อื่นนั้นผิด ทำผิดแล้วต้องยอมรับโทษ และเมื่อมีใครทำผิดควรต้องได้รับความเป็นธรรม ด้วยการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย และชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ "ตัด" สิ่งเหล่านี้ออกไป ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกกังวลสงสัยในเจตนาที่แท้จริงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเสียงข้างมาก และความรู้สึกไม่ไว้วางใจว่า ส.ส.ได้ทำไปเพื่อรักษาความถูกต้องของแผ่นดินนี้หรือไม่
นี่เป็นปัญหาที่จะกระทบความมั่นคงทางกฎหมายและความมั่นคงของบ้านเมือง
เหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์ เห็นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาเฉพาะตัวกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเนื้อหาที่ขัดต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเท่านั้น แต่ "บ่อนทำลาย" ความเชื่อถือ ความไว้วางใจที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ผู้แทนและต่อการปกครอง
ผศ.ดร.กิตติศักด์ บอกว่า การดำเนินกิจการทางการเมือง ไม่ว่าจะโดยรัฐบาล หรือสภาฯ ต้องทำไปเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจว่า จะบริหารราชการแผ่นดิน บริหารบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยิ่งทำ ยิ่งต้องได้รับความไว้วางใจ แต่หากไม่ทำหน้าที่ของตนเอง กลับนำเสียงข้างมากมารับใช้ผลประโยชน์ ไม่ได้รับใช้ความถูกต้อง ย่อมเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจ ขยายเป็นกว้าง อย่างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้
คณาจารย์คณะนิติศาสตร์เป็นห่วงว่า ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในแง่กระบวนการมีลับลมคมใน ไม่น่าเชื่อถือ ก่อให้เกิดการทำลายความไว้วางใจต่อระบอบรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ นอกจากนี้พฤติกรรมต่างๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีลักษณะเหมือนกับ รับใช้เจตจำนงของบุคคลที่ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกพิพากษาลงโทษ และพำนักอยู่ในต่างประเทศ
นักการเมืองทั้งหลาย รวมทั้งบุคคลในรัฐบาลแสดงออกอย่างชัดเจนว่า การบริหารบ้านเมืองไม่ได้เป็นไปตามความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และการตัดสินใจอย่างอิสระของบุคคลเหล่านั้น แต่เป็นไปตามการรับใช้เจตจำนงของคนที่อยู่ต่างประเทศ
สิ่งเหล่านี้ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนต่อรัฐบาลและผู้แทนราษฎรอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขโดยด่วน
ในแง่เนื้อหาของกฎหมาย เห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า การจะตรากฎหมายต้องตราแล้วเกิดความชัดเจน ประชาชนเห็นกฎหมายแล้วรู้สึก "โล่งอก โล่งใจ" ว่าจะทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น
แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นนี้ แม้คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายก็ออกมาประท้วงทั่วประเทศ ขณะที่คนเรียนกฎหมายรู้สึกหวาดหวั่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเนื้อหาแสดงให้เห็นว่า มีขอบเขตกว้างขวาง เหวี่ยงแห ครอบจักรวาล ชนิดที่หาจุดจบได้ยากและมีแต่จะนำไปสู่ปัญหาในทางกฎหมายที่ซ้อนทับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าอะไรจะผิด ผิดมาก ผิดน้อย รุนแรงขนาดไหน เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อประชาชน หรือต่อประโยชน์ส่วนรวม สภาผู้แทนราษฎรก็อาจจะยกโทษ นิรโทษ และที่สำคัญที่สุดให้ถือว่าไม่เป็นความผิดได้ เท่ากับว่ายกเลิก หลักผิดถูก ที่เป็นหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม
เนื้อหาของมาตรา 3 ที่บัญญัติรับรองว่า ถ้ามีอะไรก็ตามเกิดขึ้นระหว่างปี 2547-2556 แม้เป็นความผิดก็ให้พ้นผิด เท่ากับว่า ยกเลิกระบบกฎหมายและความคุ้มครองทางกฎหมาย ที่เกิดจากบุคคลที่กระทำความผิดที่กฎหมายนี้มุ่งนิรโทษไปทั้งหมด
...เท่ากับว่ายกเลิกความคุ้มครองทางกฎหมายที่มีขึ้นในรอบ 9 ปีนี้ทั้งหมด
นั่นหมายถึง รัฐซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิ ชีวิตร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สินได้เพิกถอนการคุ้มครองในอดีตทั้งสิ้น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 32 ที่รับรองไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในชีวิตร่างกาย ฉะนั้น ใครไปประทุษร้าย เข่นฆ่า รัฐต้องให้ความคุ้มครอง ดังนั้น การที่รัฐบาลจะมาออกกฎหมายยกเลิกการคุ้มครองนั้นย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งขัดต่อหลักพื้นฐานของผู้ได้รับความเสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การนิรโทษกรรมเท่ากับว่า ผู้เป็นเหยื่อถูกเพิกถอนสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรม และเมื่อทำได้ ก็จะทำได้ในครั้งต่อๆ ไป
ผศ.ดร.กิตติศักด์ บอกด้วยว่า สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจะยกเว้นความคุ้มครองทางกฎหมายที่มีมาโดยชอบเมื่อไหร่ก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ในทางกฎหมาย มิฉะนั้น วิชานิติศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงการทำความเข้าใจกฎหมายในฐานะที่เป็นหลักการที่มีหลักวิชาจะดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะกระทำเช่นนี้ไม่มีหลักวิชา กฎหมายกลายเป็นเรื่องตามอำเภอใจของคนที่มีอำนาจมาก ก็คงไม่ต้องสอนนิติศาสตร์กันอีกต่อไป!!
นอกจากนี้ การที่กฎหมายนี้มุ่งต่อการยกเลิก เพิกถอนการกระทำซึ่งเป็นความผิด และศาลได้พิพากษาว่า เป็นความผิดถึงที่สุด มีการวางโทษไว้เรียบร้อยแล้ว ให้ยกเลิกและถือว่า ไม่เป็นความผิด พ้นผิด และให้คืนทรัพย์สิน หรือสิ่งที่ถูกริบไปนั้น การตรากฎหมายเช่นนี้เท่ากับว่า ไปกระทบต่อหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ มาตรา 199 ว่า ด้วยหลักความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ ที่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุผล มีคุณค่าใดที่สำคัญและยิ่งใหญ่ไปกว่าการรักษาอิสระของอำนาจตุลาการหรือไม่
หากกฎหมายที่นำมาพิจารณาเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หรือกระบวนการ ต้องแสดงออก มีเหตุผลที่พิสูจน์ได้ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดอย่างไร
ดังนั้น การกระทำผิดฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งศาลได้พิพากษาจนถึงที่สุดแล้ว ต้องมีการแสดงเหตุผลให้ประชาชนประจักษ์ว่า มีคุณค่าอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าการที่ศาลควรจะมีอิสระในการตัดสินคดี ซึ่งไม่แสดงให้เห็นได้ ประชาชนจึงมีแต่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่ออำนาจรัฐ ที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการปกครอง
ด้วยเหตุนี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ผิด ดำเนินโดยกระบวนการที่ผิด และมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขาดเหตุผลที่จูงใจให้สังคมยอมรับได้ หากปล่อยให้มีผลบังคับต่อไปจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นประชาชนที่พึงมีต่อรัฐ จึงเรียกร้องให้รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทำหน้าให้กฎหมายนี้ไม่มีผลบังคับ ถูกเพิกถอนหรือแก้ไขให้ถูกต้องโดยด่วนที่สุด
ในที่สุด คณาจารย์นิติศาสตร์ไม่ได้มีเจตนาที่คัดค้านรัฐบาล เพราะเป็นรัฐบาล แต่คัดค้านการกระทำที่ผิด คัดค้านการกระทำของสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นไปในทางที่ผิด และเพื่อรักษาความไว้วางใจของประชาชนอันพึงมีต่อระบอบการปกครอง รัฐบาลและรัฐสภา
|
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์
"ประวัติศาสตร์การเมือง-กม.ไทยไม่เคยนิรโทษฯ ทุจริตคอร์รัปชั่น
หากเสียงข้างมากในสภาฯ ทำได้สำเร็จ
จะเป็นการเขียนประวัติศาสตร์หน้าแรกของรัฐใหม่
มีทักษิณเป็นประมุข และมีข้าทาสบริวารในสภาฯ คอยรับใช้"
ขณะที่ ศ.ดร.สุรพล ลำดับเหตุผล ในเชิงหลักการที่ควรต้องคัดค้าน ไม่เห็นชอบ ล้มล้างหรือล้มเลิกกฎหมายฉบับนี้ โดยระบุถึง 4 ประการ ซึ่งใน 2 ประการแรกเป็นที่รู้และเข้าใจโดยทั่วไป ส่วน 2 ประการหลัง เป็นสิ่งที่นักกฎหมายหรือผู้มีวิชาชีพทางกฎหมายควรพิจารณา
1.ประชาชน นักวิชาการ มหาวิทยาลัย กลุ่มองค์กรต่างๆ ออกมาคัดค้านว่า การนิรโทษกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น นอกจากจะขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแล้ว ยังเป็นการ "บิด" มาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมไทย ที่ประกาศให้โลกรู้ว่ายอมรับให้มีการคอร์รัปชั่นได้ และเมื่อมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็จะมีการให้อภัยเสมือนไม่เคยมีการกระทำเช่นนั้นมาก่อน
นี่เป็นมาตรฐานจริยธรรมใหม่มากที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย!
และเป็นข้อกังวลที่เห็นร่วมกันในประชาคมทั้งหลาย ว่าไม่อาจยอมรับหลักการสำคัญกฎหมายฉบับนี้ได้ เพราะกำลังล้มล้างค่านิยมที่ป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งทำลายสังคมมายาวนาน และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนต่อต้านกฎหมายฉบับนี้จำนวนมาก
2.การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ไม่ใช่เพียงเป็นการนิรโทษกรรมการทำผิดเนื่องจากการชุมนุม แสดงออกการเมือง ซึ่งเป็นหลักการเดิมของร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการไว้ แต่การแปรญัตติ พิจารณาวาระที่ 2 กลับ "กวาด" การนิรโทษกรรมบุคคลที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามให้พ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีธรรมเนียมเช่นนี้มาก่อน
กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้นิรโทษกรรมการกระทำของบุคคล แต่นิรโทษกรรมการถูกกระทำจากองค์กรและสถาบันที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน 2549 และองค์กรอื่นๆ ทุกองค์กร
หมายความว่า ประเทศไทยจะย้อนหลัง ถือว่า 7 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการกระทำความผิดใดๆ เกิดขึ้น ไม่เคยมีผู้ใดต้องรับผิดชอบ
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายเฉพาะว่าจะมุ่งไปที่คณะกรรมการ คตส. หรือ ป.ป.ช.ในคดีที่กล่าวหาทักษิณว่ากระทำความผิดฐานคอร์รัปชั่น และหลายคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาแล้วเท่านั้น แต่หมายรวมการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คำวินิจฉัยของศาลแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการดำเนินการขององค์กรทั้งหมด 7 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะกลับไปสู่จุดเดิม ที่ไม่ใช่วันที่ 19 กันยายน 2549 แต่กลับไปก่อนรัฐประการ 2 ปีเต็ม
เนื่องจากกฎหมายนี้ระบุชัดเจนว่า การกระทำที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 อยู่ภายใต้ขอบเขตของการได้รับนิรโทษกรรมและไม่ถือว่ามีการกระทำความผิดใด
....นั่นไม่ได้หมายถึงคดีรถดับเพลิง หรือทุจริตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น แต่เป็นอย่าง กรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า มีคดีทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภทมากกว่า 24,000 คดี จะถูกยกเลิกไปด้วยผลของกฎหมายนี้
นอกจากนั้น การกระทำที่ยกเว้นไม่ให้เป็นความผิด และไม่ต้องรับโทษ ยังครอบคลุมการกระทำทุกประเภท รวมถึงเหตุการณ์กรือแซะ ตากใบ คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร และทุกคดีที่กล่าวหาและดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนดำเนินการโดยองค์กรที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน 2549 หรือสืบเนื่องทั้งสิ้น
ที่สำคัญคือสามารถเขียนยกเว้น ย้อนไปกี่ปีก็ได้ !!
กระทั่งในปี 2544, 2535 หรือ 2516 ก็ยังทำได้ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ ไทยจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีสถานการณ์เช่นนี้
เป็นสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจ มีเสียงข้างมากในสภาฯ ยกมือตรากฎหมายอย่างที่ตนต้องการอย่าไรก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงหลักความถูกต้อง หลักนิติธรรม หรือหลักนิติรัฐ
...คงนึกภาพออกว่าจากนี้ประเทศไทยไม่มีขื่อแป เพราะขื่อแปถูกรื้อแล้วสร้างขึ้นใหม่ตามใจเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อนึกถึงเศรษฐกิจ การลงทุน ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจจากต่างประเทศ จะมาลงทุนในประเทศที่โกงกันเท่าไหร่ อย่างไรก็ได้โดยไม่มีความผิด หรือมาเที่ยวในประเทศที่ทำร้าย ฆ่าแกงกันแล้วมีกฎหมายที่รับว่าไม่มีความผิดใดหรือไม่ รัฐที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เรียกในทางรัฐศาสตร์ว่า รัฐล้มเหลว (Failed States) ในประเด็นทางเศรษฐกิจการยอมรับเงื่อนไขการอยู่ร่วมกับประชาคมอื่นๆ ในโลกจะหมดสิ้นไป
ผลร้ายของกฎหมายฉบับนี้ที่มาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรหนักหนากว่าที่คิดไว้มาก
ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นร้ายแรงยิ่งกว่าการคงความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อทางการเมืองหรือทางสังคมที่เป็นอยู่ปัจจุบันหลายร้อย หลายพันเท่านั้น เพราะไปถึงการเปลี่ยนแปลงกฎกติกา ออกแบบใหม่ได้ตามอำเภอใจของ 300 กว่าเสียงสภาผู้แทนราษฎร...
ศ.ดร.สุรพล เน้นย้ำว่า บทบาทของเสียงข้างมากนี้ ไม่ควรได้รับการยอมรับนับถือ และควรต้องล้มเลิก ล้มล้างให้หมดสิ้นไป เพราะกำลังทำตัวประหนึ่ง (ขอใช้ภาษาอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีที่เปรียบเทียบได้ตรงตามความเข้าใจของคนไทยดี) ว่าเป็น สภาขี้ข้าของคุณทักษิณ
3.กฎหมายฉบับนี้ ละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจ ทำลายหลักนิติรัฐ ซึ่งคือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย เพราะเป็นการอนุญาตให้เสียงข้างมากในสภาฯ ทำลายล้างคำพิพากษาของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุด และลบล้างผลของการกระทำผิดทั้งหลายทั้งปวง ทั้งประเภทความผิดในตัวเอง หรือผิดแน่ๆ หรือเฉพาะที่ผิดเพราะมีกฎหมายห้าม ทำให้ผลของการทำผิดทั้งหมดหายไปตามแต่จะเขียน
ในกรณีเมื่อปี 2547 ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เลย แต่กลับมีหลายเรื่องที่แสดงเจตนาของผู้ร่างของกฎหมายที่ไม่ใช่เสียงข้างมากในสภาฯ เท่านั้น แต่เป็นผู้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ ที่ถูกกล่าวว่ากระทำความผิดและต้องได้รับโทษหาตามกฎหมายในขณะนั้น
การดำเนินการเช่นนี้เท่ากับว่าจะออกกฎหมายอย่างไร เมื่อใด เพื่อใครก็ได้ โดยไม่มีเหตุผล ตรรกะวิทยาใดๆ ทางกฎหมายรองรับว่าเหตุใดจึงยกเว้นการกระทำผิดและความรับผิดนั้น
การเขียนกฎหมายลักษณะเช่นนี้ คือ การรัฐประหารโดยสภาผู้แทนราษฎร!!
เป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจของรัฐธรรมนูญ ล้มล้างบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดไปจากรับธรรมนูญ ซึ่งเป็นการยึดอำนาจ ทำลายรัฐธรรมนูญ โดยคน 300 กว่าคนในสภาฯ
แน่นอนว่า....ในอดีต เคยมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในทางการเมืองมาก่อนแล้ว และไม่ใช่ครั้งเดียว แต่ที่ทำได้ เนื่องจากนิรโทษกรรมทุกครั้งที่ผ่านมา นิรโทษผู้กระทำความผิดที่มีลักษณะกระทำผิดจากความเชื่อทางการเมือง จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ทางการเมือง ถือเป็นข้อยกเว้นที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดและมีขอบเขตจำกัด
ที่สำคัญคือ ทุกกรณีที่เกิดขึ้นทั้ง 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาคม 2535 เป็นไปโดยความเห็นพ้องร่วมกันของคนในสังคมว่า ถึงเวลา Set Zero เรื่องเหล่านั้นใหม่
ในประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครองและประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ไม่เคยมีการนิรโทษกรรมฐานการกระทำความผิดทุจริตคอร์รัปชั่น หรือโกงบ้านเมือง ฉ้อราษฎร์บังหลวงมาก่อนเลย
ดังนั้น หากเสียงข้างมากในสภาฯ ทำได้สำเร็จจะเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ชาติไทยใหม่ หรือเป็นการเขียนประวัติศาสตร์หน้าแรกของรัฐใหม่ที่มีทักษิณเป็นประมุขและมีข้าทาสบริวารในสภาฯ คอยรับใช้ดำเนินการให้อย่างที่เป็นอยู่นี้
4.ในกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา มีกฎกติกาของตัวเอง เช่นเดียวกับตุลาการที่มีระบบพิจารณา ไม่ใช่ว่าจะมีอำนาจวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร หรือตัดสินคดีอย่างใดก็ได้ ตรงกันข้าม ศาลต้องมีวิธี มีระบบพิจารณาคดี มีการฟ้อง ยื่นคำให้การต่อสู้คดี สืบพยาน มีหลักเกณฑ์การรับฟังพยานหลักฐาน มีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างผู้พิพากษา และมีรูปแบบคำพิพากษา มีรายชื่อผู้พิพากษาทุกคน มีความเห็นของฝ่ายข้างน้อยที่เห็นต่าง เห็นแย้งต่อคำพิพากษา และถ้าเมื่อใดที่ศาลไม่ได้ดำเนินการตามวิธีดังกล่าวนี้ ต่อให้ผู้พิพากษาลงชื่อท้ายคำพิพากษา 20 นาย ก็ไม่ใช่คำพิพากษา
และหลักเกณฑ์เหล่านี้เป็นแบบเดียวกันกับทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมายรวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติ ที่รัฐสภามีกระบวนการ มีข้อบังคับการประชุมที่วางหลักเกณฑ์กำหนดว่าการพิจารณากฎหมายต้องเริ่มด้วยการเสนอญัตติ ประชุมรับหลักการ มีผู้เสนอ ตั้งคณะกรรมการพิจารณา และนำไปสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ที่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ และหากสมาชิกท่านใดติดใจก็เสนอแก้ไขต่อกรรมาธิการได้ หรือนำมาเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาทั้งหมดเพื่อรับฟังความเห็นผู้ที่เห็นต่างได้
หลักเกณฑ์นี้บอกด้วยว่า ใครก็ตามที่เห็นต่างแล้วไม่ได้รับการยอมรับ มีสิทธิที่จะนำประเด็นความเห็นมาแถลงต่อสภาฯ ทั้งหมดเพื่อให้สภาฯ วินิจฉัยก่อนตราเป็นกฎหมายบังคับใช้กับประชาชน
นี่เป็นภารกิจหลักของสภาผู้แทนราษฎร และหากไม่ดำเนินการตามข้อบังคับของการประชุม หรือแปรญัตติเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด แม้แต่องค์กรตุลาการยังต้องเคารพหลักวิธีพิจารณา
ฉะนั้น เมื่อใดที่สภาฯ ละเมิดหลักการตามกฎหมาย ละเมิดนิติบัญญัติ พฤติกรรมเช่นนี้เป็นการทรยศต่อกระบวนการนิติบัญญัติ เท่ากับว่าสภาฯ รวบรัดดำเนินการโดยอาศัยหลักเสียงข้างมาก เมื่อทำเช่นนี้ ก็ไม่ต่างกับการที่ศาลไม่ต้องมีวิธีพิจาณาคดี แต่บอกว่าเราเป็นศาล เป็นการปฏิเสธกฎหมาย ซึ่งเป็นที่มาของอำนาจตนเอง
การทรยศต่อนิติบัญญัติซึ่งเป็นฐานอำนาจของตนเองนั้น ปรากฏอยู่ในตัวว่า ไม่มีวันที่กฎหมายฉบับนี้จะผ่านมาใช้บังคับได้ หากรัฐยังประกาศตัวว่า ปกครองโดยกฎหมายและมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด วิธีเดียวคือยึดอำนาจโดยสภาผู้แทนราษฎรหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใด หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งหมดลง
หากประเทศนี้ยังมีรัฐธรรมนูญใช้บังคับอยู่ มีศาลรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่า ไม่มีวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ละเมิดต่อหลักการนิติบัญญัติของรัฐสภาจะผ่านออกมาใช้บังคับได้ เช่นเดียวกับร่างนิรโทษกรรมฉบับนี้
ข้อที่น่ากังวลที่สุด คือ ความเข้าใจผิด หรือความตั้งใจทรยศต่อกระบวนการนิติบัญญัติของสมาชิกรัฐสภานั้นเป็นไปโดยการรับรู้ของประธานสภาทั้ง 2 คนในทุกครั้ง
ทั้งที่มีฐานะเป็นประมุกฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องปกป้อง รักษากระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นที่มาของอำนาจทั้งหลายของตนเอง การรู้เห็นในเรื่องเหล่านี้ แน่ใจว่า ไม่ใช่เพราะทั้ง 2 ท่านรู้น้อย ไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญหรือกระบวนการนิติบัญญัติทั้งที่เป็นประธานจนกระทั่งปัจจุบันที่ไม่ควรให้ทำหน้าที่นี้อีกต่อไปแล้ว ก็ไม่มีคำอธิบายอย่างอื่นมาอธิบายนอกจาก...ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น ระหว่างนายทาส กับข้าทาส
4 ประเด็นนี้มีน้ำหนัก ที่ต้องคัดค้าน ไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมาย และเป็นหน้าที่โดยเฉพาะของนักกฎหมายที่ต้องคัดค้านอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ก่อนที่จะต้องไปหาประเทศใหม่อยู่
|