ทนายมุสลิมวิเคราะห์ผลนิรโทษเหมาเข่งโยงไฟใต้ ญาติผู้เสียหายมองแง่ดีช่วย "แพะรับบาป"
ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ชี้ว่าแม้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับเหมาเข่งจะมุ่งล้างผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง และการดำเนินคดีจากกระบวนการหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่เนื่องจากร่างกฎหมายมีความไม่ชัดเจนในตัวเอง ทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความโยงไปถึงคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ทนายสิทธิพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะนักกฎหมาย เท่าที่ได้รับฟังเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ น่าจะพุ่งประเด็นไปที่เรื่องการเมืองมากกว่า เน้นการชุมนุมทางการเมืองเป็นหลัก ส่วนคดีความมั่นคงอย่างคดีจากเหตุการณ์กรือเซะและเหตุการณ์ตากใบคงไม่ได้เกี่ยวข้อง ถือเป็นคนละเรื่อง จึงไม่น่าจะรวมไปถึงได้
อย่างไรก็ดี เนื้อหาของร่างกฎหมายมีปัญหาเรื่องของการตีความอยู่พอสมควร ฉะนั้นหากมีผลถึงคดีความมั่นคงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา จะเป็นผลเสียอย่างมากมายต่อกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการตีความในท้ายที่สุดว่าจะรวมคดีอะไร แค่ไหน และอย่างไร
"ถ้าเกิดรวมคดีความมั่นคง จะกระทบกับสถานการณ์ไฟใต้และกระบวนการสันติภาพอย่างแน่นอน เพราะจะส่งผลให้คนผิดลอยนวล เนื่องจากการนิรโทษกรรมจะทำให้การกระทำที่อยู่ในขอบข่ายของการนิรโทษนั้นไม่เป็นความผิด รวมถึงคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายไปโดยปริยาย จึงเท่ากับว่าคนที่ทำผิดคือคนไม่ผิด ถือเป็นการละเมิดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต่างจากเรื่องของการขออภัยโทษ ถือเป็นคนละส่วนกัน เพราะการอภัยโทษถือว่าโทษนั้นยังอยู่ เพียงแต่อภัยให้"
งงแปรญัตติย้อนหลังถึงปี 2547 ทำไม
ทนายสิทธิพงษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แปรญัตติเพิ่มเติมข้อความให้การนิรโทษย้อนหลังไปจนถึงปี 2547 จากเดิมกำหนดไว้ที่ปี 2549 (ปีที่มีการรัฐประหาร) นั้น น่าคิดว่าทำเพื่ออะไร เพราะไม่มีมูลเหตุในการแก้ไข ก็ต้องติดตามกันต่อไป ขณะนี้ยังไม่ชัด
"แต่พอย้อนถึงปี 2547 ก็เลยดูเหมือนว่าจะรวมเหตุการณ์ในภาคใต้ด้วย และปี 2547 ก็มีเหตุการณ์ที่สำคัญๆ อย่างกรือเซะ และตากใบ ซึ่งรัฐยังไม่มีคำตอบในเรื่องการหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หากย้อนกลับไปเพื่อการนี้ จะทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยการกระทำหรือการออกคำสั่งโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐพ้นผิดไปด้วย ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงจะเกิดผลเสียต่อกระบวนการสันติภาพอย่างร้ายแรงมาก"
ขัดหลักนิรโทษกรรม-ญาติผู้เสียหายไม่ยอม
"สิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันมันไปขัดกับหลักการการนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษนั้น จริงๆ แล้วผู้อยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษต้องสำนึกในความผิดของตัวเองก่อน จากนั้นจึงจะให้อภัยกัน หรือให้นิรโทษในความผิดนั้น แต่นี่เรายังไม่รู้เลยว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ในแง่ของกฎหมายยังไม่มีการระบุตัว ยังไม่มีการแจ้งข้อหาหรือกล่าวหาใครว่าเป็นผู้ออกคำสั่งมิชอบในเรื่องของตากใบและกรือเซะ ข้อมูลที่รู้ๆ กันอยู่เป็นการรับรู้เพียงในข่าว แต่ในแง่ของการแจ้งความร้องทุกข์และการดำเนินคดียังไม่ได้เริ่มเลย"
"ผมเชื่อว่าถ้าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ กลุ่มญาติผู้สูญเสียคงไม่ยอม ฉะนั้นต้องแยกเรื่องการเยียวยาออกจากการหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เข้าใจว่าญาติคงยอมไม่ได้ เพราะในอดีตแม้จะมีการทำสัญญาช่วงที่รัฐยอมจ่ายค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้สูญเสียในคดีตากใบ (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปี 2550) ว่าญาติจะไม่ติดใจเอาความในความผิดทางอาญาอีก แต่ข้อตกลงนั้นก็ไม่มีผลนทางกฎหมาย เพราะคดีอาญาแผ่นดินไม่อาจยอมความได้ เรื่องอายุความจึงยังมีอยู่ แต่ถ้าเกิดมีการนิรโทษกรรมขึ้นมา จะรื้อฟื้นคดีอีกไม่ได้ มันจบเลย ยกตัวอย่างคดีอิหม่ามยะผา (ซ้อนทรมานอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2551) ก็จะหลุดด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียหายเป็นอย่างมาก"
"คดีอันวาร์" น่าได้รับอานิสงส์
อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดผลล้างผิดด้านที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะส่งผลอีกด้านหนึ่งกับผู้ที่รัฐกล่าวหาและดำเนินคดีในความผิดที่เป็นเชิงการเมืองด้วย ทนายสิทธิพงษ์ ขยายความว่า อย่างคดีของ นายมูฮำหมัดอัณวัร หะยีเตะ หรือ "อันวาร์" ผู้ทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 12 ปีทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ก่อเหตุรุนแรงใดๆ เพียงแต่ศาลเชื่อว่าร่วมในขบวนการก่อความไม่สงบนั้น คดีลักษณะนี้ทางครอบครัวผู้เสียหายเชื่อว่าเป็นคดีทางการเมืองนั้น จึงน่าจะได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมด้วย หากกฎหมายมีผลบังคับใช้
"จริงๆ แล้วข้อหาของอันวาร์ ถ้ารัฐยอมรับว่าเป็นคดีทางการเมือง ก็จะมีคนได้รับผลอีกจำนวนไม่น้อย เพราะถือเป็นคดีความมั่นคง แต่ถ้ามีการก่อการร้ายเข้ามาด้วยก็ไม่น่าจะรวม"
"ผมคิดว่าวุฒิสภาต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก รวมทั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาด้วย เท่าที่ดูขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะเรื่องความแตกแยกของคนในชาติ ผมว่าน่าจะถอยไปตั้งหลักแล้วเริ่มกันใหม่ดีกว่า การนิรโทษต้องผ่านกระบวนการพูดคุยกันมาก่อน ไม่ใช่เสนอกฎหมายอย่างมีเงื่อนงำ รับวาระ 2-3 ในคืนเดียวกัน เป็นเรื่องที่ประชาชนดูแล้วมีอะไรซ่อนอยู่ ฉะนั้นวุฒิสภาควรไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้"
ชาวบ้านไม่ได้อะไร มีแต่ จนท.รัฐที่ได้
ทนายสิทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้น้อยมาก คนที่ได้ประโยชน์เยอะคือผู้สั่งการในเหตุการณ์ตากใบและกรือเซะ
"นี่คือสิ่งที่ผมกลัว เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจะยิ่งแย่ เนื่องจากคดีความมั่นคงชายแดนใต้ที่มีการฟ้องกันอยู่มีถึงกว่า 1 พันคดี หากต้องถูกถอนออกไปหมดจะยิ่งยุ่ง ฉะนั้นสำหรับสถานการณ์ในภาคใต้คงเป็นไปไม่ได้ที่จะนิรโทษกรรมไปด้วย เพราะถือว่าเหตุรุนแรงยัเกิดขึ้นทุกวัน ฝ่ายความมั่นคงคงจะไม่ยอม"
ภรรยาจำเลยกรือเซะวอนช่วยนิรโทษสามี
ด้านความเห็นของครอบครัวผู้สูญเสียและจำเลยในคดีความมั่นคงชายแดนใต้ ยังคงมีมุมมองที่หลากหลาย...
สีตีนอร์ เจะเลาะ ซึ่งสามีถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 (เหตุการณ์กรือเซะ กรณีบุกโจมตีโรงพัก สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี) ขณะนี้ย้ายจากเรือนจำพิเศษบางขวางไปคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางสงขลา กล่าวว่า ดีใจถ้าอาแบ (สามี) จะได้ออกจากเรือนจำจริง รวมทั้งทุกคนที่โดนคดีความมั่นคงและติดคุกอยู่ด้วย
"อยากให้การนิรโทษเกิดขึ้นและเป็นความจริง ชีวิตเรากับพี่น้องในพื้นที่นี้จะได้เป็นปกติ หมดทุกข์กันเสียที เมื่อเขาจะทำเพื่อประโยชน์ของพวกเขา (หมายถึงการนิรโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง แกนนำ รวมทั้งผู้สั่งการสลายการชุมนุม) ก็ต้องให้มีความเท่าเทียมกับคนอื่นด้วย ไม่ใช่เอาแต่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว"
"คอลีเยาะ" บอกดีสำหรับ "แพะรับบาป"
ขณะที่ คอลีเยาะ หะหลี ซึ่งสูญเสียบิดาจากเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 (เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องดีสำหรับคนที่เป็น "แพะรับบาป" หรือคนที่ต้องสงสัย แต่รัฐยังไม่ได้สรุปว่าผิด ยังไม่มีบทลงโทษว่าผิด แต่ถ้าคนที่ทำผิดจริงก็ต้องได้รับโทษตามความผิด แม้แต่กฎหมายอิสลามยังไม่อลุ้มอล่วย คนที่ทำผิดจริงให้อภัยกันไม่ได้ ถ้านิรโทษกรรมกันหมดต้องเกิดหายนะอย่างแน่นอน คนก็จะลุกมาทำความผิดกันทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างง่ายๆ เพราะเมื่อทำแล้วก็จะได้นิรโทษกรรม
"รัฐต้องชี้ให้ชัดว่าจะนิรโทษกรรมประเด็นไหน ทำแบบนี้มันมั่ว ทำให้ประเทศเสียหาย ประชาชนออกมาต่อต้าน รัฐบาลไม่ควรรีบร้อน ยิ่งรู้ว่าเป็นประเด็นร้อนก็ไม่ต้องยุ่ง ดูแลปัญหาของประชาชนในเรื่องทำมาหากิน เรื่องของปากท้องจะดีกว่า อย่างในสามจังหวัดก็ช่วยดูแลในเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ดูแลปากท้อง และการศึกษา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการนิรโทษกรรมคนแค่กลุ่มเดียวจะทำให้สังคมพินาศได้ ต้องคิดให้รอบคอบ คิดยาวๆ และไม่ต้องเหมารวมถึงกรณีกรือเซะ ตากใบ เพราะการทำอย่างนั้นคือการปกป้องคนผิดให้ลอยนวลจากความผิดที่ทำไว้ ไม่ต้องเอาเรื่องชายแดนใต้เข้าไปพัวพัน ไม่เกี่ยวกัน อย่าเหมารวม เราไม่ยอม" คอลีเยาะ กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ทนายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์
หมายเหตุ : ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา