"คลัง"สั่งฟันขรก.สรรพากรเอี่ยวคดีคืนภาษีอีก2-ยอดรวมเบ็ดเสร็จ 20 ราย
"ก.คลัง"สั่งฟันขรก.สรรพากรคดีภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 2 ราย ยอดรวมเบ็ดเสร็จ 20 ราย หลังพบมีส่วนเกี่ยวข้องคืนภาษี บริษัทเครือข่าย "วีรยุทธ แซ่หลก" ประธานสอบฯ เผยเตรียมไล่ล่าอีกสองกลุ่มธุรกิจใหม่ ส่งคอมพิวเตอร์ประเทศเพื่อนบ้าน –ได้คืนภาษีโดยใช้ดุลยพินิจ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสรรพากรคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับบริษัทเอกชน จำนวนเงิน 4.2 พันล้านบาท ของกระทรวงการคลัง แถลงความคืบหน้าคดีนี้ ว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ จากฐานข้อมูลบริษัทเอกชนที่ได้รับมอบจากกรมสรรพากร จำนวน 20 ราย จากจำนวนทั้งหมด 65 ราย ที่คณะกรรมการฯ ร้องขอเอกชน ซึ่งพบว่าในการคืนภาษีให้เอกชนทั้ง 20 ราย (เครือข่ายนายวีรยุทธ แซ่หลก ปัจจุบันถูกดีเอสไอออกหมายจับพร้อมพวกอีก 4 คน ) มีข้าราชการสรรพากรเข้าไปเกี่ยวข้องจำนวน 18 ราย และทางกระทรวงการคลัง ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไปก่อนหน้านี้แล้ว
ล่าสุดภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ ซึ่งให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเป็นอย่างดี คณะกรรมการฯ ได้รับมอบข้อมูลบริษัทเอกชนที่เหลืออีก 45 รายมาครบถ้วนแล้ว
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลบริษัทเอกชน ทั้ง 45 รายใหม่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเศษเหล็ก มีพฤติการณ์แบบเดียวกัน พื้นที่เดิม (บางรัก สมุทรปราการ และนนทบุรี) บุคคลที่เกี่ยวข้องกลุ่มเดียวกับบริษัท 20 รายแรก ที่มีการตรวจสอบพบข้อมูลไปก่อนหน้านี้ และมีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเข้าไปเกี่ยวข้องจำนวน 2 ราย ในขั้นตอนการคืนภาษี
"ข้าราชการทั้งสองราย อยู่ในระดับต่ำกว่าซี 9 ลง มาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับชำนาญการ และระดับปฏิบัติการอย่างละหนึ่งคน มีการตรวจพบว่า ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะทำการสรุปเรื่องเพื่อเสนอให้ทางกระทรวงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จากยอดเดิม จำนวน 18 ราย ที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ทำให้ข้าราชการที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยขณะนี้ มีจำนวนทั้งหมด 20 ราย"
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกลุ่มบริษัทเอกชนที่เหลืออีก 25 ราย คณะกรรมการฯ ตรวจพบว่ามีพฤติการณ์ลักษณะเดียวกันกับกลุ่มธุรกิจส่งออกเศษโลหะ แต่ผู้เกี่ยวข้องคนละกลุ่มกัน ทำธุรกิจส่งออกคอมพิวเตอร์ให้ประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบข้อมูลอยู่
“นอกจากเอกชนทั้งสองกลุ่มที่กล่าวไป ยังมีเอกชนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างติดตามตรวจสอบข้อมูล หลังจากตรวจสอบพบว่ามีการใช้ดุลยพินิจในการคืนภาษีให้ไปด้วย ”
นายประสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการสอบสวนข้อมูลในส่วนของกรมศุลกากร ว่า ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาสอบปากคำไปบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่าขั้นตอนการทำงานที่เป็นปัญหาส่วนให้จะเกิดขึ้นกับกรมสรรพากร ซึ่งมีอำนาจในการอนุมัติคืนเงินภาษีให้เอกชนเป็นหลัก
“กรมศุลกากรให้ข้อมูลว่าเคยสุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ ของบริษัทที่ส่งออกเศษโลหะ บางราย พบว่า สินค้าที่อยู่ในตู้เป็นคอนกรีต ไม่ใช่เศษเหล็ก และมีการแจ้งข้อมูลเข้ามาให้กรมสรรพากรรับทราบแล้ว และในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทเอกชนเจ้าของสินค้าได้แจ้งความดำเนินคดีว่าถูกยักยอกสินค้า แต่พอจะมีการสู้คดีกันจริง กลับไปถอนแจ้งความ โดยให้เหตุผลว่า ตกลงกับผู้รับผิดชอบได้แล้ว ซึ่งในส่วนของกรมสรรพากรแทนที่จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้อย่างละเอียด กลับมีการคืนเงินภาษีให้เอกชนรายนี้ไป ถือเป็นข้อสังเกตสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่ง”
นายประสิทธิ์ ยังกล่าวต่อไปว่า ยืนยันว่าการสอบสวนคดีนี้ของคณะกรรมการฯ จะทำงานต่อไปตามที่ได้รับมอบหมายจากทางกระทรวง เมื่อได้ผลสรุปการสอบสวนที่ชัดเจนส่วนไหนแล้ว จะนำมาเปิดให้สื่อมวลชนรับทราบ และยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่ 20 ราย ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนทางวินัย สามารถที่จะชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่ทางกระทรวงแต่งตั้งได้อย่างเต็มที่