ดูให้เต็มตา กี่คดีคอร์รัปชั่นที่จะได้ประโยชน์ จากกม.ล้างผิด "คนโกง"
จากการที่พ.ร.บ.ฉบับล้างผิดคดีโกง ได้กำหนดให้บุคคลและบรรดาพฤติกรรมโกงต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556 ทำให้ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ในช่วง 9 ปี 7 เดือน 8 วันดังกล่าวนั้นต้องได้รับผลกระทบหรือถูกลบล้างความผิดไป โดยแยกเป็นคดีต่างๆ ได้ดังนี้
1.มี 14 เรื่องที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2548 -2553 โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
2.มี 666 เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว
3.เป็นคดีที่ ป.ป.ช. รับเรื่องจาก คตส. 24 เรื่อง หรือ 24 คดี มูลค่ารวมกันกว่า 2.2 แสนล้านบาท แยกเป็น
- ศาลตัดสินแล้ว 3 คดี
- อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 4 คดี
- อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. 8 คดี
- คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว 3 คดี
- อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับอัยการสูงสถุด 1 คดี
- ให้ยุติคดี 1 คดี (คดี CTXปิดไปแล้ว โดยไม่มีใครผิด)
และ ป.ป.ช.ไม่ชี้มูลความผิด 2 คดี
มีคำถามว่า
1.ทำไมคณะกรรมการป.ป.ช. ในฐานองค์กรอิสระที่ถูกพาดพิง และมีพันธะกิจโดยตรงในฐานะผู้นำการต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศ จึงไม่เสนอความคิดเห็นอะไรกับความพยายามในการนิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชั่นครั้งมโหฬารนี้
2.คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้จะทำอย่างไร ถ้าคดีสำคัญๆ ที่เป็นผลงานของคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการนิรโทษกรรมด้วยเหตุผล "ความไม่ชอบธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่ง" ของคณะกรรมการฯ ตามข้ออ้างของบรรดาผู้สนับสนุนกฎหมาย คณะกรรมการจะต้องลาออกยกคณะเลยหรือไม่
3.คดีเหล่านี้ เมื่อรวมแล้วเป็นวงเงินความสูญเสียเท่าไหน่ มีจำเลยกี่คน แยกเป็นนักการเมืองกับข้าราชการ อย่างละกี่คน ป.ป.ช. ช่วยแจกแจงให้ประชาชนทราบได้หรือไม่
4.ในมาตรา 5 ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนว่า การนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง แปลว่า คดีคอร์รัปชั่น ที่มิได้เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองมีสิทธิเรียกร้อง ใช่หรือไม่ คนที่โดยยึดทรัพย์จากคดีคอร์รัปชั่นสามารถขอทรัพย์เหล่านั้นคืนได้หรือไม่
5.กรณีดังๆ ที่สังคมให้ความสนใจ เช่น กรณีไร่ส้ม คดีทุจริตรถและเรือดับเพลิงของกทม. (นายประชา) มูลค่า 6.8 พันล้านบาท คดีอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวรับสินบนจากบริษัทต่างชาติ คดีอดีตปลัดสุพจน์ คดีอดีตปลัดกลาโหม คดีทุจริตคลองด่าน (นายวัฒนา) มูลค่า 2.37 หมื่นล้านบาท คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทั่วประเทศ มูลค่า 540 ล้านบาท คดีทุจริตที่ดินเขาไม้แก้ว (กำนันเป๊าะ) ในปี 2547 มูลค่า 93 ล้านบาท กรณีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ ตามโครงการไทยเข้มแข็งของคณะกรรมการอาชีวะศึกษา มูลค่า 5.3 พันล้านบาท กรณีบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดมูลค่า 8 พันล้านบาท
หรือเรื่องใหม่ๆ อย่างการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวเปลือของรัฐบาล กรณีทุจริจใช้งบแก้ปัญหาน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท ที่มีกว่าร้อยคดี และกรณีการลงทุน 2.8 หมื่นล้านบาท สร้างรถไฟฟ้าเชื่อมจากสนามบินเข้าสู่สถานีในเมือง
กรณีเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.นี้ด้วยหรือไม่ เพราะล้วนเกี่ยวพันกับคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหาร และอยู่ในเงื่อนไขเวลาตามที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.เจ้าปัญหานี้
ถ้าคำตอบคือไม่ แล้วอะไรคือหลักประกันสำหรับประชาชนได่ว่า จะเป็นเช่นนั้น
คดีเพียงที่กล่าวถึงนี้ แม้จะคำนวนมูลค่าความเสียหายทางบัญชีได้หลายแสนล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม หากตีมูลค่าคงจะได้มหาศาลกว่าอีกหลายเท่าตัว
อ่าน :ประเด็นล้างผิดคดีโกง ตามพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับเต็มที่นี่