เปิดผลวิจัย กสทช.ใช้งบไม่ตรงภารกิจ บริจาค 245 ล้าน-พีอาร์ 114 ล้าน
กลุ่ม NBTC Policy Watch เปิดเผลวิจัยการใช้ทรัพยากร กสทช. พบส่วนใหญ่ใช้งบไม่ตรงภารกิจ ปี 2555 ทุ่มให้การกุศลสูงสุด 245 ล. ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ งบบินนอกพุ่ง 206 ล.-งบพีอาร์อีก 114 ล. แนะปรับปรุงจัดสรรงบให้ตรงความจำเป็น
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) นำเสนอรายงานในหัวข้อ “การใช้ทรัพยากรของหน่วยงานกำกับดูแล: กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศ” โดยนายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการใช้ทรัพยากรของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับหน่วยงานที่มีหน้าที่เช่นเดียวกับ กสทช.ในประเทศอื่นๆ ได้แก่ FCC ของสหรัฐอเมริกา และ Ofcom ของอังกฤษ
นายพรเทพ กล่าวว่า ในปี 2555 กิจการกระจายเสียง โทรทัศน์และโทรคมนาคมของไทย มีมูลค่าประมาณ 3.5 แสนล้านบบาท ในขณะที่สหรัฐฯ และอังกฤษมีขนาดของกิจการที่ใหญ่กว่าง 40 เท่า และ 8 เท่าตามลำดับ โดยงบที่ กสทช.ใช้กำกับดูแลมี 4,000 ล้านบาท เทียบกับงบกำกับดูแลของ FCC และ Ofcom ที่ใช้ประมาณ 6,000 ล้านบาท และ 11,000 ล้านบาทตามลำดับแต่เมื่อพิจารณาจำนวนพนักงาน กสทช.กลับมีมากกว่า Ofcom โดย กสทชมี 1,097 คน ส่วน Ofcom มี 735 คน ขณะที่ FCC มี 1,685 คน
นายพรเทพ กล่าวว่า จากการตรวจสอบโครงสร้างงบรายจ่าย กสทช.ในปี 2555 พบว่า จัดสรรค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 1,400 ล้านบาท ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ขององค์กรในการกำกับดูแลเท่าที่ควร โดยค่าใช้จ่ายสูงที่สุด 3 ลำดับแรก คือเงินบริจาคและการกุศล 245 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ 206 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ 114 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายทั้ง 3 รายการคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ กสทช.ทั้งหมด
“การบริจาคและการกุศลเป็นเรื่องดี แต่ กสทช.ไม่ควรทำ เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง กสทช.พึงระลึกไว้เสมอว่างบที่มีควรใช้ในการพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ หาก กสทช.มีงบเพียงพอแล้วก็ควรจะส่งเข้าสู่รัฐ เพื่อนำไปจัดสรรใช้ประโยชน์ทางอื่นต่อไป” นายพรเทพกล่าว
นายพรเทพ กล่าวว่า ข้อสังเกตอีกประการคือค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ กสทช.ที่สูงจนน่าตกใจโดยค่าใช้จ่ายรวมในการเดินทางทั้งในและต่างประเทศของ กสทช.ของปี 2555 คือ 231 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าที่ Ofcom หรือ กสทช.อังกฤษใช้ที่ 79 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของค่าใช้ช่ายในการดำเนินการทั้งหมด) หรือที่ FCC หรือ กสทช.สหรัฐฯ ใช้ที่ 57 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด) อยู่มาก
“สาเหตุสำคัญคือ กสทช.ตั้งงบในการเดินทางรวมถึงงบรับรองของกรรมการ กสทช.ไว้ค่อนข้างสูง เช่น ในปี 2556 กรรมการ กสทช.แต่ละคนจะได้งบ 400,000 บาทสำหรับการเดินทางในประเทศ และงบ 3,000,000 บาทสำหรับการเดินทางต่างประเทศ รวมทั้งยังมีงบรับรองอีกจำนวนหนึ่งแยกต่างหาก ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในปี 2557 ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ ที่ผู้บริหารระดับสูงรวมถึงพนักงานทุกราย ต้องเบิกค่าใช้จ่ายตามจริง และมีข้อกำหนดค่าใช้จ่ายที่เข้มงวด เช่น ห้ามโดยสารเครื่องบินชั้นหนึ่ง ไม่ว่ากรณีใดๆ และให้เบิกเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต่อสาธารณะ” นายพรเทพกล่าว
นายพรเทพ กล่าวว่า งบสำหรับการประชาสัมพันธ์ เป็นค่าใช้จ่ายอีกรายการที่ กสทช.ใช้ค่อนข้างมาก โดยในปี 2555 กสทช.ใช้งบส่วนนี้เป็นเงิน 114 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งหากไปเปรียบเทียบกับ FCC หรือ กสทช.สหรัฐฯ จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมาก เพราะ FCC ใช้งบส่วนนี้เพียง 9.9 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด) เท่านั้น ทั้งที่ การประชาสัมพันธ์ไม่ใช่ภารกิจหลักของ กสทช. แต่กลับมีการใช้งบไปมากกว่าการการจ้างที่ปรึกษาเพื่อผลิตงานวิชาการ หรือจัดอบรมพนักงานเสียอีก
นักวิชาการกลุ่ม NBTC Policy Watch รายนี้ ยังกล่าวเสนอว่า กสทช.ควรปรับการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายภารกิจและยุทธศาสตร์ขององค์กร โดยในการจัดทำงบประมาณ การรายงานการใช้จ่ายงบประมาณ และการรายงานผลการปฏิบัติงาน ทั้งหมดควรจะจำแนกตามภารกิจและยุทธศาสตร์ที่ กสทช.ตั้งไว้ เพื่อช่วยในการติดตามประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กร และสร้างความโปร่งใส
“อีกเรื่องที่พบคือมีการกระจายงบระหว่างกลุ่มงานที่แตกต่างกันมาก เช่น ในปี 2556 งบสำหรับภารกิจโทรคมนาคมมีทั้งสิ้น 795 ล้านบาท แต่กลุ่มกรรมการกิจการโทรคมนาคมแลกลุ่มงานขับเคลื่อนภารกิจพิเศษ ได้รับจัดสรรงบสูงที่สุด คือร้อยละ 28 และร้อยละ 24 ตามลำดับในขณะที่กลุ่มงานที่น่าจะมีภาระตรงกับยุทธศาสตร์ขององค์กร เช่น กลุ่มงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กลุ่มงานวิชาการและการจัดสรรทรัพยากรโทรคมนาคม และกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค กลับได้รับงบเพียงร้อยละ 9 ร้อยละ 8 และร้อยละ 6 ตามลำดับ เท่านั้น” นายพรเทพกล่าว