องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น-ทปอ.-สว. ค้านนิรโทษล้างคดีทุจริต
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ยื่นหนังสือค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ แก่ทูตสวีเดน ขอให้ซีดาร์ เข้ามาติดตามการเคลื่อนไหว เล็งยื่นทูตจีนต่อ ด้านประมนต์ เปิดตัวเลขม.3 ล้างผิดคนโกง รวมเป็นเงินแผ่นดินกว่า 2.2 ล้านล้านบาท
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 เวลา 14.30 น. คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้เข้ายื่นแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่สถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย ณ อาคารแปซิฟิก เพลส ถนนนานา โดยที่นาย Klas Molin เอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย รอรับแถลงการณ์ ที่ชั้น 20
คุณหญิงชฎา กล่าวภายหลังการยื่นแถลงการณ์กับเอกอัครราชทูตสวีเดนว่า การเข้ายื่นแถลงการณ์นั้น เนื่องจากเล็งเห็นว่า ประเทศสวีเดนให้ความสนใจ และให้ความสำคัญเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นอย่างมาก จึงได้นำแถลงการณ์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น มาอธิบายความว่า ทางองค์กรฯ มีความห่วงใยในประเด็นกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านขั้นตอนในระดับรัฐสภาไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการทางยุติธรรมทั้งที่ผ่านศาลขั้นสุดท้ายไปแล้วหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาถูกล้มล้างไปพร้อมกับกฎหมายฉบับนี้
“ทางองค์กรฯ ห่วงว่าจะเป็นการล้มล้างการต่อต้านกระทำการที่เป็นทุจริตคอรัปชั่นของประเทศ ซึ่งจะเป็นปัญหาในอนาคต โดยท่านทูตสวีเดน ก็บอกว่า ที่สวีเดนก็ให้ความสนใจในการทำงานกับหลายประเทศในภูมิภาคเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น และจากนี้หากท่านทูตสวีเดนมีวิจารณญาณว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ ส่วนทางองค์จะมีการขับเคลื่อนไปทุกกลุ่ม ทั้งเอกชน สังคม วิชาการและต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความห่วงใยร่วมกัน”
อย่างไรก็ตาม คุณหญิงชฎา เน้นย้ำว่า ไม่ได้ต้องการให้เกิดความสูญเสียต่อประเทศชาติ เพราะประเทศไทยต้องการให้ประชาชนโลกได้เห็นประเทศไทยมีระบบที่เข้มแข็ง ทุกภาคส่วนสามารถที่จะทำงานอย่างโปร่งใสและไม่รับข้อบ่งพร่องในการคอร์รัปชั่น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับเอง
ห่วง 3 ขาการปกครองประเทศ
สำหรับกรณีที่ก่อนหน้านี้ นายนพดล ปัทมะ ได้ออกแถลงว่า การยื่นแถลงการณ์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นถึงประเทศต่างๆ ว่า เป็นการขอให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงปัญหาในประเทศไทยหรือไม่นั้น คุณหญิงชฎา แจงว่า ขอให้ทราบ และเข้าใจว่าสิ่งที่องค์กรฯ ห่วงใย คือ 3 ขาแห่งการปกครองประเทศ ได้แก่
1.ความเข้มแข็งรัฐสภา 2.ความเข้มแข็งของฝ่ายบริหาร ได้แก่ รัฐบาล และ 3.ความเข้มแข็งของฝ่ายยุติธรรม ได้แก่ ศาล ทั้ง 3 ขานี้ ต้องแข็งแรงพร้อมๆ กัน และเท่าๆ กัน ไม่ใช่ว่าฝ่ายใดจะมาล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่งได้ นี่คือสิ่งที่คาดหวัง ไม่ได้ไปขอให้ประเทศอื่นต้องเข้ามาทำอะไร และไม่ได้อยากให้กระทบต่อการค้า การลงทุน
ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวถึงการหารือกับเอกอัครราชทูตสวีเดนในครั้งนี้ว่า ได้ขอให้องค์กรความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งประเทศสวีเดน หรือซีด้า (Swedish International Development – Cooperation Agency : SIDA) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนและรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชั่นทั่วโลก และมีสาขาในไทยด้วย ให้เข้ามาศึกษา ติดตาม การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของภาคประชาชนในไทย โดยทางสถานทูตก็ยินดีที่จะให้ซีดาร์เข้ามาตามที่ขอ
“เป้าหมายของทางองค์กรฯ คือประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติเรื่องการต่อต้านการทุจริต ประมาณ 40 กว่าประเทศ จะทยอยเข้ายื่นแถลงการณ์ทั้งหมด และจากนี้คาดว่าจะไปที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ส่วนวันและเวลาจะแจ้งอย่างเป็นทางการในภายหลัง”
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมทปอ.หวังส.ว.ที่พึ่งสุดท้าย
จากนั้นเวลา 15:00 น.ที่อาคารรัฐสภา 2 กลุ่มสมาชิกวุฒิสภากว่า 50 คน ร่วมคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมีนายวันชัย สอนศิริ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับเหมาเข่ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.สรรหา หนึ่งในผู้ร่วมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับเหมาเข่ง กล่าวว่า หากว่าวุฒิสภาในฐานะที่เป็นองค์กรกลั่นกรองตรวจสอบกฎหมาย หากปล่อยให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณา ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง และสร้างความไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง ส่งผลให้ผู้กระทำผิดไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย เหิมเกริมต่อการกระทำที่เลวร้าย จึงร่วมกันคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ โดยจะโหวตคว่ำกฎหมายฉบับนี้ในที่ประชุมวุฒิสภา ทั้งจะร่วมมือกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ต่อไปให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เดินทางมาร่วมฟังแถลงการณ์ดังกล่าว จากนั้นได้ยื่นแถลงการณ์ร่วมคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต่อรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
สำหรับแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว มีใจความว่า ต้องการยืนคัดค้านมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มุ่งหมายล้างผิดคดีทุจริต และเน้นย้ำจุดยืนว่าบรรดาคดีในฐานความผิดคอร์รัปชั่นทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในสังคม และเพื่อให้การปราบปรามทุจริตบรรลุผลสำเร็จ อันเป็นประโยชน์ร่วมของคนไทยทั้งประเทศ
ประมนต์ ยันทุจริตไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์
นายประมนต์ กล่าวด้วยว่า การทุจริตไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ แต่เป็นความผิดส่วนบุคคล ที่ผิดต่อศีลธรรมซึ่งทุกประเทศในโลกเห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรง ดังนั้นวุฒิสภาถือเป็นที่พึ่งสุดท้าย จึงขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาไม่รับรอง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้คนไทย
นอกจากนี้ นายประมนต์ ยังระบุถึงวงเงินงบประมาณแผ่นดินโครงการหรือการกระทำที่มีการทุจริตในห้วงเวลาที่จะรับการนิรโทษกรรม รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 2,233,989 ล้านบาท
ด้าน ศ.ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมอธิการบดีฯ มีมติไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ และอยากให้กลุ่มนิสิตนักศึกษา มีความคิดเชิงไม่ทุจริต เพื่อจะได้สอดคล้องกับโครงการบัณฑิตไทยไม่โกง ซึ่งกำลังรณรงค์อยู่ทั่วประเทศ และที่สำคัญนิสิตนักศึกษาถือเป็นความหวังของสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ใหญ่หลายคนหวังพึ่งไม่ได้อีกแล้ว
“หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน จะทำให้โครงการบัณฑิตไทยไม่โกงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ในฐานะของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งผลิตบัณฑิต จะต้องผลิตบัณฑิตที่ดีและไม่ทุจริตเท่านั้น หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างเรื่องเหล่านี้ได้ มหาวิทยาลัยก็จำเป็นต้องออกมาคัดค้าน”