หวั่นสร้างบรรทัดฐานไม่ถูกต้อง 25 อธิการบดี ลงชื่อค้านกม.นิรโทษกรรม
แถลงการณ์ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
ตามที่ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่มีเนื้อหาให้นิรโทษกรรมแก่บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด โดยคณะบุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้ง องค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 - 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ การบัญญัติดังกล่าวข้างต้นไม่เพียงแต่เป็นการยกเว้นความผิดและโทษให้แก่การกระทำในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระทำในลักษณะการทุจริตคอรัปชั่นด้วย
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เห็นว่า การที่ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอรัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรม การกระทำความผิด
ในเรื่องทุจริตคอรัปชั่นจะทำให้การต่อสู้กับปัญหาคอรัปชั่นในสังคมไทยในปัจจุบันไม่ประสบผลสำเร็จและจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับการกระทำในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เห็นว่า การรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากการจัดโครงการ "บัณฑิตไทยไม่โกง" ขึ้น ที่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดปี พ.ศ.2556 การรณรงค์ดังกล่าว จะประสบความสำเร็จได้ดีต่อเมื่อมีตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คนที่กระทำการทุจริตคอรัปชั่นจะต้องถูกลงโทษโดยไม่มีการนิรโทษกรรม
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ดังมีรายนามต่อไปนี้ จึงขอคัดค้าน ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนี้ร่วมกัน
ลงวันที่ 4 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า ผช.ศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้แจ้งลงชื่อร่วมด้วย ทำให้จำนวนอธิการบดี ที่ร่วมลงชื่อเพิ่มเป็น 25 แห่ง จากเดิมที่มีเพียงแค่ 24 แห่ง ตามเอกสารประกอบ