นิรโทษกรรม: ‘ทักษิณ’ พลาดแล้วจริงหรือ ?
หากเราตั้งสมมติฐานว่า “ทักษิณ ชินวัตร” คือผู้ที่สั่งให้ “พรรคเพื่อไทย” เร่งการนิรโทษกรรมที่เป็นประเด็นถกเถียงลุกลามบานปลายในขณะนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ “ทักษิณ ชินวัตร” ประเมิน “ผิดพลาด” ไปแล้วหรือไม่ ?
และหากเราสันนิษฐานต่อว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่ใช่นักการเมืองที่จะ “ผิดพลาด” ได้ง่ายเพียงนี้ แล้วเราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร ? เราอาจจำแนกคำอธิบายได้เป็น 3 ทฤษฎี
*** ทฤษฎีที่ 1 : “ฝ่ายคุณทักษิณ” ไม่ได้ประเมินพลาด แต่ถูกบีบให้เร่ง ***
ทฤษฎีนี้มีสมมติฐานว่า คุณทักษิณทราบดีถึงความเสี่ยงทางการเมืองในการเร่งนิรโทษกรรม แต่ก็ถูกบีบโดยปัจจัยหลายประการที่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ สรุปปัจจัยได้ 6 ประเด็น
(1) ในเชิงปฏิทินการเลือกตั้ง การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ย่อมทำให้มวลชนบางส่วนไม่พอใจ และทำให้มวลชนฝ่ายตรงข้ามคึกคัก ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีหากอยู่ในช่วงใกล้เลือกตั้งซึ่งเป็นช่วงที่อำนาจต่อรองของมวลชนจะมากขึ้น และเมื่อขณะนี้อายุรัฐบาลกำลังเข้าสู่ช่วงครึ่งหลัง และกระบวนการพิจารณาของ ส.ว. หากถูกลากยาวก็อาจต้องใช้เวลามากถึง 6 เดือน จึงต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากเสร็จเร็ว ก็ยังมีโอกาสอีก 1-2 ปี ให้หาประเด็นอื่นมาเตรียมการเลือกตั้งได้ ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายคุณทักษิณอาจแก้เกมส์โดยจุดประเด็นว่าการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อมวลชนเสื้อแดง เพื่ออุดช่องไม่ให้ประชาชนธรรมดาถูกตีความให้กลายเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการได้ ส่วนกรณีผู้สลายการชุมนุม ก็อาจมีการตีความภายหลังว่าฝ่ายรัฐที่สั่งการไม่ได้ถือว่ามาร่วมชุมนุม จึงไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
(2) ในเชิงคู่ต่อสู้ ตอนนี้ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์และพลพรรคกำลังเตรียมวุ่นกับคดีอาญา การปฏิรูปพรรคยังไม่เป็นรูปธรรม การต้องใช้สมาธิและเวลาที่จะต่อสู้หลายเรื่องพร้อมกันย่อมทำได้ยาก ประกอบกับมวลชนที่จุดการชุมนุมไม่ติดมาต่อกันหลายครั้ง ยิ่งทำให้เริ่มเกิดความล้าในด้านกำลังและทุนที่จะชุมนุมใหญ่ได้ในเวลานี้
(3) ในเชิงความร่วมมือจาก ส.ว. หากจะให้ ส.ว. อย่างน้อยก็สายเลือกตั้ง หนุนการนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ก็ต้องทำตอนนี้ เพราะอยู่ในช่วงที่ ส.ว. บางส่วนลุ้นประโยชน์จาก การแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. หากรอไปก่อนแล้วร่างรัฐธรรมนูญนี้ตกไป อำนาจต่อรองของสภาล่างที่ช่วยสภาสูงก็จะน้อยลง สภาสูงก็อาจไม่มีอะไรต้องตอบแทน
(4) ในเชิงกระแสเฉพาะหน้า อาจประเมินว่าผลคดีศาลโลกน่าจะออกมาในเชิงบวก ไม่ใช่เพราะฝ่ายไทยสู้คดีได้ดีเท่านั้น แต่เพราะได้ตกลงกับรัฐบาลฮุนเซนไว้แล้วว่า ไม่ว่าผลคดีจะเป็นอย่างไรก็จะไม่ทะเลาะกัน เพราะทางฮุนเซนเองก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะทะเลาะกับไทย จากที่ต้องยุ่งกับฝ่ายค้านกัมพูชาเอง หรือปัญหากับเวียดนามและอื่นๆ ดังนั้น กระแสเฉพาะหน้าก็น่าจะกลบความรู้สึกเรื่องนิรโทษกรรมเหมาเข่งได้บ้าง
(5) ในเชิงความมั่นคงของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลชุดนี้จะถูกล้มด้วยปัญหาเศรษฐกิจ หรือ คดีเล่นงานนายกฯ ที่ ปปช. กำลังพิจารณา หรือคดียุบพรรคอีกหลายคดี ประกอบกับสมาชิกบ้าน 111/109 ที่ใช่ว่าจะอยู่ฝ่ายเดียวกันทั้งหมดแต่เริ่มมีกำลังวังชากลับมา หากจะไปหวังรอนิรโทษกรรมภายหลังก็ไม่แน่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร อีกทั้งความพยายามที่จะเจรจาต่อรองที่ผ่านมาอาจไม่เป็นผล หรือต้องชิงจังหวะกดดันฝ่ายตรงข้าม จึงต้องเร่งดำเนินการตอนนี้
(6) ปัจจัยอื่น ๆ ที่แม้อาจเดาก็ไม่อาจกล่าวถึงได้ แต่ส่งผลทำให้คุณทักษิณจำเป็นต้องกลับมาเป็นผู้เจรจาเดินเกมส์เองที่ประเทศไทย โดยอาจมีเรื่องบางเรื่องหรือคู่เจรจาบางฝ่าย ที่คุณทักษิณไม่อาจคุยผ่านหน้าจอหรือนัดไปเจอที่ต่างแดนได้ ซึ่งอาจหมายรวมถึงกรณีที่นำไปสู่ “ข้อตกลงสงบศึก” หรือที่เรียกกันว่า “ซุปเปอร์ดีล” ซึ่งจะกล่าวในข้อต่อไป
*** ทฤษฎีที่ 2 : มี “ข้อตกลงสงบศึก” หรือที่เรียกกันว่า “ซุปเปอร์ดีล” ***
ทฤษฎีนี้มีสมมติฐานว่า ที่ผ่านมาคุณทักษิณไม่อาจกลับประเทศไทยได้ เพราะ “ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ” ยังกุมหมากในการดำเนินคดี ตลอดไปจนถึงการปองร้าย แต่บัดนี้มีปัจจัยที่ทำให้แต่ละฝ่ายเลือกจะยุติการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ จึงยอมเจรจาให้คุณทักษิณกลับมา โดยแต่ละฝ่ายจะไม่จองเวรต่อกัน ถึงขั้นมั่นใจว่าแม้แต่ศาลก็จะไม่ยับยั้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า “ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ” ไม่ว่าจะระดับมวลชน อำมาตย์ หรือเหนือไปกว่านั้น ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันเสมอไป ตรงกันข้าม “ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ” อาจอยู่ระหว่างการแย่งชิงอำนาจภายในกันเอง ซึ่งปัจจัยนี้เองอาจทำให้ “ซุปเปอร์ดีล” เป็นข้อตกลงที่ทำกับ “ฝ่ายตรงข้ามทักษิณเฉพาะส่วน” ที่กุมอำนาจเจรจาได้ในเวลานี้ และคุณทักษิณก็ต้องรีบปิดข้อตกลงนี้ก่อนที่ภาวะอำนาจของ “ฝ่ายตรงข้ามทักษิณ” จะแปรเปลี่ยนไปจนเจรจากันต่อไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น “ข้อตกลงสงบศึก” คงไม่ได้เป็นเพียงการ “ยอม” ให้ต่างฝ่ายต่างสงบศึกกันเฉย ๆ เหมือนที่นักวิเคราะห์ทั่วไปกล่าวไว้ แต่จะต้องเป็นการ “แลก” ประโยชน์ที่ออกแบบอย่างแยบยล โดยที่ฝ่ายคุณทักษิณต้องยอมสละบางอย่างเพื่อเอื้อแก่อำนาจของฝ่ายตรงข้าม
สิ่งแรกที่ฝ่ายคุณทักษิณต้องยอม ก็คือการเสียความสัมพันธ์กับกลุ่มเสื้อแดงและปัญญาชนบางส่วน ซึ่งฝ่ายคุณทักษิณเองก็อาจประเมินแล้วว่าความสัมพันธ์กลุ่มนี้เป็นเพียงยุทธศาสตร์ชั่วคราวมาแต่ต้น ดังนั้น การที่บางฝ่ายมองว่าคุณทักษิณประเมินเกมส์พลาด จึงเป็นการมองที่ผิดมุม เพราะตามทฤษฎีนี้คุณทักษิณได้ประเมินไว้แล้วว่าพร้อมจะสละส่วนที่ตัดทิ้งได้
ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายคุณทักษิณอาจต้องแลกสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ซึ่งอาจเป็นสาระสำคัญของ “ข้อตกลงสงบศึก” ว่า เมื่อบัดนี้สภาได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างไปแล้ว หากสุดท้ายมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย สภาก็จะยอมตามและไม่มีมติยืนยัน กล่าวคือ จะปล่อยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ตกไปตามกระบวนการ เพื่อให้อีกฝ่ายยังมีที่ยืนต่อไป หรืออาจตกลงถึงขั้นว่าคุณทักษิณเองจะไม่มามีตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง จนกลายเป็นคุณทักษิณถูกล่อให้เสียเปรียบ ก็สุดแท้แต่จะคาดเดา
ที่สำคัญ “ข้อตกลงสงบศึก” ย่อมส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องกลับไปรื้อ มาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร หรือการทุจริต การเสียชีวิต การลอบสังหาร หรือการทำผิดใดๆ ก็จะถือว่าลบเลือนและจบกันไป ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ
สรุปอย่างสั้น “ข้อตกลงสงบศึก” เช่นนี้ ก็คือ ข้อตกลงอำมหิตของผู้มีอำนาจที่เจรจากันบนซากศพของประชาธิปไตยและประชาชน
*** ทฤษฎีที่ 3 : แผนซ้อนแผน ***
ทฤษฎีนี้มีสมมติฐานว่า การเดิมเกมส์ทั้งหมด เป็นเพียงการจัดฉากเพื่อ “เป้าหมายระยะยาว” ที่สำคัญกว่าการรีบกลับมาของคุณทักษิณ ซึ่งหากรีบกลับตอนนี้ก็อาจทั้งวุ่นวายและไม่ปลอดภัย และไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เพียงแต่เตรียมสถานการณ์ไว้เพื่อสร้าง “วีรบุรุษ” หรือ “วีรสตรี” ที่จะเข้ามายุติความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสง่างาม
วิธีนี้อาจทำได้หลายแนวทาง เช่น เมื่อถึงจังหวะที่ความขัดแย้งเริ่มบานปลาย คุณทักษิณอาจเป็นฝ่ายประกาศท่าทีบางอย่างเพื่อแสดงความเสียสละหรือยุติปัญหา หรือหากแยบยลไปกว่านั้น คุณทักษิณอาจมอบโอกาสนี้ให้เป็นของคุณยิ่งลักษณ์ ที่จะแสดงภาวะความเป็นผู้นำบางอย่างออกมาให้สังคมเห็นว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” สามารถพาประเทศชาติเดินต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องนิรโทษกรรมคุณทักษิณ และอาจถือโอกาสจุดประเด็นให้สังคมหันมาทบทวนปัญหาของรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 และออกแบบกระบวนการให้คุณทักษิณกลับมาต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นใหม่ในยามปกติ โดยไม่ต้องมีการนิรโทษกรรม
หากคุณทักษิณเดินเกมส์ตามทฤษฎีนี้ (หรือหากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายพลิกมาชิงนำเกมส์นี้) ก็ต้องถือว่าทั้งใจใหญ่ และใจถึง พร้อมจะเล่นเกมส์ยาว และสร้างความแข็งแกร่งและความชอบธรรมทางการเมืองให้ฝ่ายตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน ทฤษฎีนี้ต้องอาศัยอุดมการณ์ที่กล้าหาญ แยบยลและอดทนอย่างยิ่งยวด ซึ่งก็ทำให้ทฤษฎีนี้เป็นไปได้น้อยมากเช่นกัน.
หมายเหตุ : ประเด็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม และ รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/amnesty309
ภาพประกอบ - ทักษิณ ชินวัตร จากแฟนเพจ Thaksin Shinawatra