การตรากฎหมายที่ฝ่าฝืนหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกาย
การตราร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในลักษณะเหวี่ยงแห ในมาตรา ๓ ที่ให้ถือว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง” นี้
นอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญในแง่กระบวนการตรากฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญในแง่เนื้อหาหลายประการแล้ว ใคร่จะชี้ให้เห็นไว้ในที่นี้เพียงประเด็นเดียวว่า ร่างกฎหมายนี้ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพในชีวิตของพลเมืองในสาระสำคัญอย่างไร
เห็นได้ชัดว่า การตรากฎหมายนิรโทษกรรมที่กำหนดให้การกระทำผิดระหว่างปี ๒๕๔๗ ถึง ปี๒๕๕๖ ที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หากเป็นความผิดก็ให้ผู้กระทำความผิด พ้นจากความผิดและความรับผิดนั้น ก็เท่ากับเป็นการตรากฎหมายเพิกถอนการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นความคุ้มครองต่อชีวิตร่างกาย ชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สิน ที่รัฐธรรมนูญรับประกันไว้ให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายหรือเหยื่อความผิดในห้วงเวลาดังกล่าว
แต่โดยที่รัฐธรรมนูญของเรา รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของชนชาวไทยไว้ในมาตรา ๓๒ วรรคแรกว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย” เราย่อมเห็นได้ต่อไปว่า การที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เช่นนี้ ย่อมเกิดผลโดยตรงไปในทางจำกัดอำนาจของรัฐในการกระทำการใดที่เป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกาย ซึ่งหากมีการใช้อำนาจรัฐมาจำกัดสิทธิในชีวิตร่างกายของประชาชน ประชาชนก็ย่อมยกสิทธิเสรีภาพของตนขึ้นต่อสู้รัฐได้ ตราบเท่าที่สิทธิเสรีภาพนั้นไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา ๒๘ แห่งรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญยังรับรองต่อไปด้วยว่า หากรัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพเช่นนั้น บุคคลที่ถูกละเมิดย่อมยกบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลได้
ขณะเดียวกัน มาตรา ๒๗ ก็รับรองไว้ต่อไปว่า “สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมท้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”
นั่นหมายความว่า รัฐมีหน้าที่ มีความผูกพันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทั้งในแง่การที่รัฐต้องงดเว้นไม่ละเมิดชีวิตร่างกาย และในทางที่รัฐต้องกระทำการทั้งหลายเพื่อให้บุคคลมีและใช้สิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายได้ และการคุ้มครองที่สำคัญที่สุดก็คือการที่รัฐตรากฎหมายอาญาเพื่อวางข้อห้ามและลงโทษการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกาย และตรากฎหมายอื่นทั้งปวง รวมทั้งจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน วางกลไกของรัฐทั้งตำรวจและทหารเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตร่างกาย อันเป็นพื้นฐานขั้นต่ำของการมีเสรีภาพในชีวิตร่างกายของประชาชนนั่นเอง
หากรัฐไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายตามมาตรฐานขั้นต่ำด้วยการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกาย หรือเมื่อมีกฎหมายแล้ว ก็เลิกกฎหมายนั้นไปเสีย โดยไม่ตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานขึ้นแทน หรือกลับงดเว้นไม่บังคับการตามกฎหมายนั้นไปในทางที่ทำให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายขั้นพื้นฐานเสื่อมประสิทธิภาพไป รัฐย่อมได้ชื่อว่าฝ่าฝืนหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญ และการฝ่าฝืนเช่นนั้นย่อมเท่ากับละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง อันจะส่งผลให้ประชาชนย่อมยกการละเมิดสิทธิเช่นนั้นขึ้นใช้สิทธิทางศาลได้ตามมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญ และศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ ย่อมพิพากษาว่าการนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้
ในแง่การตรากฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในเวลานี้นั้น หากรัฐสภาซึ่งผูกพันตามมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้ง ได้ใช้อำนาจตรากฎหมายของตน ไปในลักษณะที่เป็นการเพิกถอนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย หรือในลักษณะที่ส่งผลให้การละเมิดสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด ก็ย่อมเท่ากับว่าการใช้อำนาจตรากฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐสภานั้น เป็นการละเว้นหรือยกเว้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้โดยแจ้งชัด และเท่ากับรัฐสภาฝ่าฝืนหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเสียเอง