ผู้จัดงานรับฟังความเห็นโครงการน้ำตีความไม่ใช่ประชาพิจารณ์ จ่ายค่าพาหนะได้
ไขกรณีจ่ายค่าพาหนะ 400 บาทให้ชาวบ้าน รองผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ตีความไม่ใช่ประชาพิจารณ์ ทำได้ไม่ผิดระเบียบราชการ แจงหากใครนั่งเครื่องบินมาก็เบิกจ่ายได้ เหมือนจ่ายค่าประชุมสัมมนา ปัดไม่ทราบงบฯ มาจากส่วนใด พบมีชาวบ้านนอกพื้นที่ได้รับสิทธิด้วย
ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ผ่านมา 14 จังหวัด
ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงกรณี "การจ่ายค่าพาหนะ" ให้กับประชาชนผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์สามารถจ่ายเงินตอบแทนเหมือนการจัดประชุมปกติได้หรือไม่
ซึ่งในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจะจัดเตรียม "สำเนาบัตรประชาชน" คนละจำนวน 3 ใบ พร้อมเซนต์รับรองสำเนาถูกต้อง เพื่อนำมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ใช้เป็นหลักฐานการลงทะเบียน ค่าอาหารกลางวัน และค่าพาหนะ คนละ 400 บาท ทั้งที่ในการเดินทางมาร่วมงาน แต่ละอำเภอได้จัดเตรียมรถรับส่งประชาชนอยู่แล้ว
โดยประชาชน 2 กลุ่มที่ได้รับค่าพาหนะ ได้แก่ 1.ประชาชนที่ลงทะเบียนล่วงหน้ากับทางอำเภอที่มาประชาสัมพันธ์และรับลงทะเบียน ซึ่งจะได้รับสติ๊กเกอร์สีเขียว สามารถเข้าร่วมในการประชุมกลุ่มย่อยเวทีช่วงบ่ายได้ รวมถึงได้รับค่าพาหนะคนละ 400 บาท และ 2.ประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ จะได้รับสติ๊กเกอร์สีส้มบางส่วนสามารถเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยในเวทีช่วงบ่ายได้ รวมถึงได้รับค่าพาหนะคนละ 400 บาท
ขณะที่ประชาชนกลุ่มที่ 3 คือผู้สนใจมาลงทะเบียนหน้างาน (walk in) จะได้รับสติ๊กเกอร์สีชมพู ไม่สามารถเข้าร่วมในการประชุมกลุ่มย่อยได้ เนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า และไม่ได้รับค่าพาหนะคนละ 400 บาท
ผู้สื่อข่าวสอบถามกับเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับมอบหมายในการรับลงทะเบียนผู้เข้าร่วมรับฟังความเห็น ให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ ปภ.ได้รับมอบหมายในการตั้งโต๊ะรับลงทะเบียน แจกสติ๊กเกอร์ รับสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งใช้เป็นหลักฐานในการรับค่าพาหนะหลังการรับฟังความเห็นเสร็จสิ้นเท่านั้น แต่ไม่ทราบว่า งบประมาณที่ได้รับมาจากส่วนใด หรือสามารถจ่ายได้หรือไม่
นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองผู้ตรวจการราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า การจ่ายค่าเดินทางในเวทีการรับฟังความเห็นสามารถกระทำได้ โดยไม่ผิดระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ หากมีใครนั่งเครื่องบินมาร่วมเวทีก็สามารถเบิกเป็นค่าเครื่องบินก็ได้ แต่ระบบการจ่ายเป็นแบบถัวเฉลี่ย ใกล้หรือไกลจ่ายในราคาเดียว คือเฉลี่ยค่าเดินทางคำนวณจ่าย คนละ 400 บาท ดังนั้นสามารถกระทำได้และไม่ถือว่าผิดระเบียบใดๆ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า นายอำเภอได้แจ้งชาวบ้านว่ามาแล้วจะได้รับเงิน 400 บาทนั้น อาจทำให้ถูกมองว่าเป็นการเกณฑ์ชาวบ้านมาร่วมงานหรือไม่ นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิเสธทันที พร้อมชี้แจงว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มาต่างสนใจ และมีบางส่วนที่เดินทางมาเอง จะเห็นว่าประชาชนมาเยอะกว่าที่กำหนดไว้ แสดงให้เห็นว่าชาวเชียงใหม่เป็นคนที่รักประชาธิปไตยและต้องการมีส่วนร่วม
"สำหรับค่าเดินทางให้ตามสิทธิที่เขาควรได้รับ ฉะนั้น ไม่มีใครที่มาเพราะเพียงแค่อยากได้เงิน 400 บาท เพราะเงินแค่ 400 บาทไม่คุ้มค่าเดินทางด้วยซ้ำ เช่น ชาว อ.แม่แจ่ม ไปกลับก็ไม่คุ้มแล้ว"
ขณะที่รศ.ดร.วสันต์ จอมภักดี วิทยากรผู้จัดงานเวทีรับฟังความเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำในโซนภาคเหนือ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สำหรับค่าเดินทาง 400 บาท คิดว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล หากถามว่าผิดระเบียบหรือไม่เรื่องนี้รัฐบาลคงตรวจสอบแล้วว่าคงไม่มี
ความผิดตามระเบียบราชการ และเห็นว่าน่าจะทำได้ และคงมีลักษณะคล้ายกับการจ่ายค่าเดินทางของการจัดประชุมสัมมนาหรืออบรมเชิงปฏิบัติการที่มีระเบียบตามราชการให้จ่ายได้ ซึ่งผู้ได้รับค่าเดินทางจะเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการและชาวบ้านที่ลงทะเบียนออนไลน์ไว้
"กลุ่มที่ให้นายอำเภอ ใช้กลไกการปกครอง สั่งการไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นกลุ่มคนเป้าหมาย กลุ่มที่ฝ่ายปกครองตำบลหมู่บ้านเสนอมาก็จะมีค่าพาหนะตามระเบียบราชการให้ ขณะที่กลุ่มที่ walk-in มาลงทะเบียนหน้างานจะไม่ได้รับแต่ได้รับการบริหารด้านอาหาร"
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในทะเบียนรายชื่อประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มาจากการกลไกการปกครองใช้เกณฑ์สถิติระบุว่า เป็นกลุ่มคนเป้าหมายของการรับฟังความคิดเห็นนั้น กลับพบว่า มีประชาชนที่มาจากจังหวัดอ่างทองได้รับค่าพาหนะและมีสิทธิเข้างานด้วย ทั้งที่จัดสำหรับประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ และมุ่งเน้นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม และเขื่อนแม่ขาน ซึ่งยังมีชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานได้จำนวนมาก
ขอบคุณภาพเอกสารการลงทะเบียนจากเพจ Smith Tungkasmit