ดร.ชัยยุทธ ชี้ภาคพลังงานลอยตัวกรณีดอนสะโฮง เสนอรัฐจัดเวทีถกหาทางออก
เวทีถกกรณีเขื่อนดอนสะโฮง ตีความอยู่ในลำน้ำสายหลัก ระบุเป็นช่องทางน้ำหน้าแล้ง เอื้อต่อปลาขนาดเล็ก หากสร้างจะทำลายระบบนิเวศน์สำคัญ ดร.ชัยยุทธ ชี้แม้ปรับปรุงเส้นทางอื่นทดแทนก็ช่วยไม่ได้ เสนอภาครัฐจัดเวทีถกทุกภาคส่วน เน้นกลุ่มพลังงาน
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ชมรมนักข่าวอาเซียน จัดบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน เรื่อง เขื่อนดอนสะโฮง ความท้าทายใหม่ต่อการจัดการแม่น้ำนานาชาติ แม่น้ำโขง ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีรศ.ดร.ชัยยุทธ สุขศรี ในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ที่ปรึกษา MRC ไทย (ผู้ร่วมร่าง Mekong Agreement 1995) นายสุรศักดิ์ กล้าหาญ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิกการต่างประเทศ ติดตามประเด็นการพัฒนาลุ่มน้ำโขง และนางเปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการร่วมโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้รับ 'การแจ้ง' (notification) ถึงกรณีเขื่อนดอนสะโฮง หรือ ฮูสะโฮง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 เนื่องจาก สปป.ลาว ตีความว่าเป็นพื้นที่และเอกสิทธิ์ของลาว เป็นคลองซอย แม่น้ำสายแยก (distributary) แขนงหนึ่งจาก 17 แขนงเท่านั้น ไม่ใช่ลำน้ำหลัก (mainstream) จึงใช้วิธีแจ้งบอกข้อมูล ซึ่ง สปป.ลาวตีความว่า จึงใช้การส่งข้อมูลแบบ 'การแจ้ง' ให้ทราบ ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ค่อนข้างกังวลมาก กับการตีความเช่นนี้ เพราะเอกสิทธิการนำดำเนินการอยู่ในประเทศ แม้จะมีการประชุมร่วมกัน ลาวจะรับไปพิจารณาหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตามมาตรา 7 และมาตรา 8 ที่ต้องดูและระงับภัยที่เกิดขึ้น รวมถึงต้องชดใช้ความเสียหาย
"มีกรณีเดียวที่ประเทศอื่นจะสามารถใช้สิทธิในการไม่เห็นชอบหรือตัดสินใจร่วมกันได้ คือ การผันน้ำจากแม่น้ำโขงข้ามลุ่มน้ำ ซึ่งกรณีนี้ยังไม่เกิด เช่นกรณีที่ประเทศไทยเคยมีความคิดจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องทำแบบข้อตกลงเฉพาะ ขณะที่ สปป.ลาวเคยทำการศึกษาเรื่องผลกระทบสะสม ใช้คำที่ระบุว่า ดอนสะโฮงเป็นลำน้ำหลัก แต่ในการเสนอโครงการกลับไม่ได้ระบุเช่นนั้น"
ห่วงทำลายช่องทางน้ำแล็ง กระทบปลาเล็ก
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องการประมง ซึ่งหลายภาคส่วนที่สนใจหยิบยกประเด็นนี้ไปศึกษา ด้วยมองว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของน้ำและระบบนิเวศน์ เป็นจุดที่ล่อแหลม เป็นเขตที่มีการเปลี่ยนแปลง (transition zone) ที่มีความสำคัญต่อระบบน้ำโดยรวม
"จากข้อมูลคณะกรรมการแม่น้ำโขง สถาบันและองค์กรต่างๆ เคยทำการศึกษาไว้ต่างมีข้อกังวลเกี่ยวกับดอนสะโฮง ซึ่งเป็นช่องทางน้ำในหน้าแล้ง อย่างในปีที่แล้งจริงๆ บางช่องทางไม่มีน้ำไหลเลย ขณะที่ดอนสะโฮงมีน้ำไหลตลอด ชี้ชัดว่ามีความหมายอย่างยิ่งสำหรับปลา โดยเฉพาะปลาเล็ก และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอพยพของปลาในหน้าแล้ง" รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว และว่า สปป.ลาว เล็งวางเส้นทางนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แล้วเตรียมหาเส้นทางทดแทน ด้วยการปรับปรุงให้ภูช้างเผือก และภูสะดำ มาทดแทนเรื่องปลาและการประมง โดยจะเพิ่มหน้าตัดช่องทางน้ำ ปรับปรุงให้เป็นช่องทางที่มีน้ำไหลผ่านมากขึ้น ให้เป็นช่องทางเผื่อเลือกสำหรับปลา
"สำหรับภูสะดำที่แม้จะปรับขยายก็จะติดช่องทางคอนพะเพ็งที่ปิดเส้นทางอยู่ ทำให้ปลาไม่สามารถขึ้นมาได้อยู่ดี ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สปป.ลาว การไหลของน้ำในหน้าแล้งอยู่ที่ประมาณ 30 คิวบิกเมตรต่อวินาที หากสร้างเขื่อนดอนสะโฮงแล้ว การไหลจะอยู่ที่ 640 คิวบิกเมตรต่อวินาที หรือกว่า 20 เท่าของการไหลแบบเดิม สภาพเช่นนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อปลาเล็ก จากเดิมเป็นพื้นที่ที่น้ำไหลอ่อนที่สุดและไหลตลอดปี นี่เป็นสิ่งที่ห่วงกังวล เพราะแม้จะเป็นจุดที่เล็ก แต่กระทบทั้งตอนบนและตอนล่าง มากกว่าไซยะบุรี"
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงตั้งโดยภาครัฐ จึงค่อนข้างลำบากในการขับเคลื่อนหรือพูดอะไร เพราะติดประเด็นระหว่างประเทศ แต่หากสังคมเห็นว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นแล้วมีจุดอ่อน หรือไม่พอใจก็ควรหยิบยกให้ภาครัฐเป็นสื่อกลางในการจัดเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนระหว่างประเทศมาพูดคุย โดยเฉพาะภาคพลังงานที่สร้างทั้งประโยชน์และโทษให้มาร่วมพูดคุย เพราะขณะนี้เหมือน 'ลอยตัว' ไม่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งนี้ หากไม่มีมีเวทีร่วมพูดคุยดังกล่าว อาจได้เห็นความความล้มเหลว สูญเสียเกิดขึ้นได้
ขณะที่นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า Mekong River Commission หรือ MRC ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว) ไทย และเวียดนาม มีระบบการทำงานที่ต้องมาจากการเห็นด้วยกันทั้งหมดทุกประเทศ จึงจะออกมาเป็นมติ หรือความเห็น ซึ่งเมื่อได้รับการแจ้งจากรัฐบาลลาวว่าจะเดินหน้าก่อสร้างโครงการดอนสะโฮง ขณะที่มีอีก 3 ประเทศไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้มองว่าเป็นการทำผิดสัญญาแม่น้ำโขง เนื่องจากสนธิสัญญาแม่น้ำโขง ต้องเคารพเอกสิทธิ์แต่ละประเทศที่ทำการพัฒนาแหล่งน้ำภายในขอบเขตของประเทศตัวเอง
"แบบฟอร์มของ MRC มี 2 แบบ ได้แก่ 1.สำหรับประเทศที่ต้องการแจ้งให้ทราบ ขณะนี้มี 41 โครงการที่ผ่าน ซึ่งดอนสะโฮงอยู่ในแบบฟอร์มนี้ 2.สำหรับประเทศที่ต้องการแจ้งให้ทราบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือร่วมกัน แต่การแจ้งของรัฐบาลลาวต่อ MRC ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าถึงการตีความว่าเหตุใดจึงใช้การแจ้งให้ทราบเท่านั้น มีเพียงข้อมูลระบุว่า ลาวเห็นว่าปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยในดอนสะโฮง เป็น 5% ของแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งลาวมองว่าอาจไม่มีนัยยะสำคัญ"
มีเขื่อนมาก ไม่ใช่ความเจริญ
ด้านนายไกรศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่อาเซียนควรทำคือคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์เส้นทางน้ำ ป่าและทะเล ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะประเทศในอาเซียนต้องอาศัยธรรมชาติ แต่อาเซียนกลับพูดถึงแต่เรื่องทุนข้ามชาติ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางธรรมชาติและปัจจัยการดำรงชีวิต เพราะการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเป็นการทำลายวัฒนธรรม
"นับเป็นความล้มเหลวเชิงวิถี ที่มองโมเดลความเติบโตเพียงอย่างเดียว มองว่าการมีเขื่อนมากขึ้นคือความเจริญเติบโต ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น กรณีประเทศจีน ก็ชัดเจนว่าไม่ใช่ความเจริญ ความเป็นธรรมชาติหายไป เปลี่ยนเส้นทางน้ำ การสูญหายของปลาหลายชนิด ขณะที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายเดียวที่มีคนพึ่งพามากที่สุดในโลก แม้จะไม่ยาวเท่าแม่น้ำบางแห่ง แต่มีประชากรอาศัยมากที่สุด และเป็นสิ่งที่รู้กันมาตลอดว่าดอนสะโฮงเป็นแม่น้ำสายหลัก ดังนั้น ความสูญเสียไม่ใช่เพียงแค่ปลา แต่เป็นความสัมพันธ์ทางชีวภาพทั้งหมด"
อาเซียนควรมีเสาด้านสิ่งแวดล้อม
ส่วนนางเปรมฤดี กล่าวถึงคุณค่าของดอนสะโฮงที่เราต้องพิจารณา โดยการศึกษาพันธุ์ปลาที่เราดำเนินการมาเป็นเวลายาวนานนั้นปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่า คุณค่าของดอนสะโฮงไม่ใช่เพียงเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังมีการประมงที่เป็นส่วนสำคัญด้านเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล และผลการวิจัยเมื่อปี พ.ศ.2551 พบว่ามูลค่าการหาปลาในชุมชน 3 ชุมชนในดอนสะโฮงนั้นมากถึง 50 ล้านบาทต่อปี รวมถึงการยกเลิกใช้ 'หลี่' อุปกรณ์จับปลาที่เป็นมรดกล้ำค่าของชาวบ้านจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง การสร้างเขื่อนจะทำให้คุณค่าเหล่านี้ถูกทำลายไป เพราะปลาจะมีการอพยพผ่านการเข้าออกทางดอนสะโฮงเป็นวัฏจักร
ด้านการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้านั้น นางเปรมฤดี กล่าวว่า เขื่อนดอนสะโฮงจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 260 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็น 2 เท่าของเขื่อนปากมูลที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 130 เมกะวัตต์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เขื่อนปากมูลใช้ได้เพียง 30 เมกะวัตต์ เท่ากับนำมาใช้กับห้างสรรพสินค้าเพียง 3 แห่งเท่านั้น แล้วการทำลายแหล่งเศรษฐกิจอย่างดอนสะโฮง เพื่อมาสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้กับห้างสรรพสินค้าเพียง 6 แห่งนั้นคุ้มค้าหรือไม่กับการสูญเสียแหล่งทรัพยากรล้ำค่า
นางเปรมฤดี กล่าวด้วยว่า ทางเครือข่ายพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekhong) ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีทั้ง 4 ประเทศที่เข้าร่วม MRC แล้ว ด้วยเห็นว่าการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงจะทำลายแม่น้ำโขงให้ย่อยยับจนไม่มีวันกลับมาเป็นเช่นเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศน์ วิถีชีวิตของคนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาการประมง ผลกระทบในระยะยาวที่จะเป็นการเพิ่มความร้าวฉานระหว่าประเทศเกี่ยวกับการขาดแคลนโดยเฉพาะแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่มีน้อยลงทุกวัน ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ ไม่เหลือความหวังใดๆ กับทางกรรมาธิการจัดการแม่น้ำโขงในการจัดการข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน และปฏิเสธคำกล่าวอ้างของ สปป.ลาว ในเรื่องที่ว่าดอนสะโฮงไม่ได้เป็นลำน้ำสายหลัก เพราะทางเครือข่ายฯ เชื่อว่าดอนสะโฮงอยู่ลำน้ำสายหลักแน่นอน
"บทเรียนจากไซยะบุรีน่าจะเพียงพอแล้วที่ผู้นำแต่ละประเทศควรนำมาพิจารณา และ สปป.ลาวไม่ความทำการรวบรัดในการสร้างเช่นเดียวกับไซยะบุรี ท้ายที่สุดถึงเวลาแล้วที่การพัฒนาในการสร้างเขื่อนที่อ้างว่าพัฒนาเพื่อประชาชน และควรหยุดรับฟังความเห็นจากประชาชน"
นางเปรมฤดี กล่าวด้วยว่า การรวมกลุ่มอาเซียนไม่ได้มีการกำหนดเสาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ แต่กลับนำเรื่องนี้ไปรวมอยู่ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม โดยภาคประชาชนได้มีการเรียกร้องให้มีเสาสิ่งแวดล้อม และขอเสนอว่าอาเซียนควรพูดถึง 3 ประเด็นหลักในเสาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการสร้างเขื่อน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งดอนสะโฮงครอบคลุมอยู่ในทุกประเด็นดังกล่าวนี้
"การลงทุนของบรรษัทข้ามชาติโดยบริษัทขนาดใหญ่ เราไม่อยากได้ยินว่าประเทศเล็กที่มีประชากรน้อยที่สุดกลับมีกำลังในการทำลายล้างภูมิประเทศของตนเองมากที่สุด โดยการเปิดประเทศให้มีการลงทุนโดยไม่มีการไตร่ตรอง"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลาวเล็งสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ดร.ชัยยุทธ ชี้กระทบหนักด้านประมงสูงกว่าไชยะบุรี