สมาคมนัก กม.สิทธิฯ ออกแถลงค้าน พรบ.นิรโทษฯ เหมาเข่ง
สมาคมนัก กม.สิทธิมนุษยชน ออกแถลงค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ชี้แปรญัตติขัดหลักการ สร้างวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล วอน รบ.-สภาฯ พิจารณาอย่างรอบคอบ
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) แปรญัตติขยายความเกินกว่าร่างที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยนำเสนอ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาวาระสอง ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 31 ตุลาคม 2556 ใน 2 ประเด็น มีใจความสรุปว่า
1.กมธ.จะแก้ไขร่างกฎหมายเกินกว่ามติรับหลักการในวาระแรกไม่ได้ เพราะเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย มุ่งนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุม แต่การที่ กมธ.ได้แก้ไขให้ครอบคลุมถึงความผิดที่เกิดจากองค์กรหลังการรัฐประหาร ซึ่งจะรวมถึงความผิดในคดีทุจริตหลายคดี ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งสภาฯ ลงมติรับหลักการในวาระแรก ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 117 และขัดต่อหลักการในการร่างกฎหมายอันเป็นหลักการในระดับรัฐธรรมนูญ
2.การนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งการนิรโทษกรรมแบบไม่มีเงื่อนไขย่อมขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และสร้างวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดดังนั้นการนิรโทษกรรมนั้นจำเป็นกระทำอย่างมีเงื่อนไข ทั้ง
(1) เงื่อนเวลาที่มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม ควรจะยึดหลักเกณฑ์เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเป็นสำคัญในการกำหนดเวลาเริ่มต้น ซึ่งเดิมก็กำหนดไว้ว่ารัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยาน 2549 เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่ตั้งแต่ปี 2547
(2) ฐานความผิดที่ม่งประสงค์จะนิรโทษกรรม ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย มุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรมแก่การชุมนุมและสดงออกทางการเมือง แต่การขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมไปถึงความผิดอื่นๆ รวมถึงคดีทุจริตไม่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ของกฎหมาย
(3) กลุ่มบุคคลที่จะมุ่งประสงค์จะนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรมทุกกรณีย่อมไม่อาจยอมรับได้ เพราะนอกจากเป็นการสร้างวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน การนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย ยังเป็นการงดเว้นการเยียวยาต่อประชาชน และทำลายกระบวนการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แถลงการณ์ยังระบุว่า สนส.ขอแสดงความกังวลว่า หากรัฐบาลและสภาฯ ยังดำเนินการนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไขต่อไป จะก่อให้เกิดวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด และทำให้ประเทศไทยยังคงดำรงความขัดแย้งและไม่อาจออกจากวงเวียนความรุนแรงได้ในระยะยาว
“ดังนั้นแล้ว เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐบาลและสภาฯ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณากรอบการนิรโทษกรรมให้รอบคอบ เคารพถึงหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หลักการสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน” แถลงการณ์ของ สนส.ระบุ
ภาพประกอบ - จากเว็บไซต์ www.thairath.co.th